13 มิ.ย. 2020 เวลา 16:10
“ต้มอึ่งไข่” อาหารแปลกรสชาติดีที่หนึ่งปีมีเพียงครั้ง...
ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องอาหารเช่นเดิมนะครับ ซึ่งถ้าช่วงต้นฤดูฝนแบบนี้ไม่พูดถึงอาหารพื้นบ้านแบบอีสานชนิดนี้คงไม่ได้เพราะการที่จะกินอาหารชนิดนี้ได้อย่างออกรสชาติเต็มประสิทธิภาพ คงต้องฤดูวางไข่นี้เท่านั้น
“อึ่งอ่าง” ชื่อที่ทุกคนคงรู้จักกันดี เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่ง ที่พบได้ทั่วไปในทุกภูมิภาค ในสมัยก่อนจะสามารถพบได้ในป่าชื้นที่มีแหล่งน้ำอยู่ด้วย ปัจจุบันด้วยการที่มีเมือง หมู่บ้าน ชุมชน กระจายอยู่ทั่วไป อึ่งอ่างจึงได้มีการปรับตัวเข้ามาอาศัยในแนวเขตพื้นที่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น
อึ่งอ่างมีหลายสายพันธุ์แต่ที่พบเห็นได้บ่อยคือ อึ่งอ่างบ้าน หรืออึ่งยาง อึ่งเพ้าหรืออึ่งปากขวด และอึ่งก้นขีด อึ่งยางจะสามารถพบได้โดยทั่วไปทั้งในป่าและเขตอาศัยของคน แต่อึ่งเพ้า กับอึ่งก้นขีด สามารถพบได้ในป่า หรือตามท้องทุ่งนาเท่านั้น
อึ่งอ่างบ้านหรืออึ่งยาง
โดยปกติแล้วอึ่งอ่างจะอาศัยอยู่ใต้ดิน โดยการจำศีล และจะออกมาหาอาหารเมื่อเริ่มมีฝนตกซึ่งจะเรียกว่าฤดูหาอาหารจนถึงฤดูสืบพันธุ์เท่านั้น โดยช่วงระหว่างนี้เราจะสามารถพบได้ตามซอกไม้ โพรงไม้ และตามแหล่งน้ำต่างๆ หรืออึ่งอ่างบางชนิดจะมีการขุดรูอาศัยชั่วคราวโดยจะพบได้ในดินประเภทดินทรายและอยู่แบบตื้นๆ โดยหลังจากฤดูวางไข่ ก็จะกลับไปจำศีลเหมือนเดิม ทำให้เราจะพบเจออึ่งอ่างในฤดูอื่นๆ ได้น้อยมาก
อึ่งเพ้าหรืออึ่งปากขวด
การจับอึ่งอ่างจะมีสองแบบหลักๆ นั่นคือการจับแบบเปียก และแบบแห้ง
การจับแบบเปียก ส่วนใหญ่มักจะจับในเวลากลางคืน หรือกลางวันในขณะที่มีฝนตก โดยการใช้ไฟส่องกบ ส่องตามเสียงที่อึ่งอ่างร้อง ซึ่งมักจะพบอึ่งอ่างอยู่หลายตัว ลอยคออยู่ในน้ำและส่งเสียงร้องเรียกคู่ จากนั้นใช้สวิงหรือข่ายดักอื่น ช้อนหรือตักเอาในน้ำที่อึ่งอ่างอยู่ หรือหากคนที่ค่อนข้างมีฝีมืออาจจะจับด้วยมือเปล่าก็ได้
อึ่งก้นขีด
การจับแบบแห้ง นั่นคือการจับอึ่งอ่างในช่วงที่ไม่มีฝน ^ ^ นั่นคือการขุดนั่นเอง โดยการใช้เสียมขุดตามรูที่อึ่งอ่างขุดลงไปเพื่อจำศีล ซึ่งวิธีนี้มักจะได้อึ่งอ่างที่ผอมแห้ง และไม่มีไข่ในท้อง อีกวิธีหนึ่งนั้นคือการออกไปส่องอึ่งอ่างในเวลากลางคืน ในวันที่มีฝนตกตอนกลางวัน แต่ไม่มีน้ำขัง และสังเกตว่าวันนั้นเราจะพบแมลงเม่าบินมาตอมไปตามบ้าน ส่วนใหญ่เราจะพบอึ่งอ่างที่จำศีลในทรายออกมาหากิน และเตรียมหาแหล่งเพื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์
อึ่งอ่างจะมีวิธีการป้องกันตนเองเมื่อโดนคุกคาม โดยจะมีการพองตัว และสร้างเมือกออกมาคลุมร่างกาย เพื่อให้ลื่นไหล ง่ายต่อการหนี และบางครั้งเมือกยังระคายเคืองต่อสัตว์นักล่าอีกด้วย การนำมาประกอบอาหารจึงจำเป็นต้องล้างอย่างดีหากทำอาหารประเภทต้มก็ต้องมีการตักฟองเมือกออกด้วย
อึ่งอ่างที่จับมาได้ส่วนใหญ่มักจะนำมาประกอบอาหารประเภทย่างแบบเสียบไม้ และที่นิยมที่สุดคือการนำไปต้ม โดยการต้มมักจะนำเอาอึ่งอ่างเฉพาะตัวที่มีไข่ (ตัวที่ไม่มีไข่ก็ใช้ได้แต่ส่วนที่กินได้จะค่อนข้างมีน้อย) เพราะส่วนใหญ่ที่นำมารับประทานคือไข่ของมัน
การต้มมักต้มทั้งตัว ไม่สับ ใส่เครื่องเทศที่หาได้ตามท้องถิ่น หรือผักต่างๆที่ให้กลิ่นหอม รสชาติ นิยมทำรสออกเปรี้ยวๆจึงมักมีการใส่ยอดมะขามอ่อนหรือมะขามเปียก หรือผักที่มีรสเปรี้ยวลงไปด้วย
เป็นยังไงบ้างครับกับ “ต้มอึ่ง” ส่วนตัวผมไม่กินครับ เพราะมองว่ากินตอนมันไข่ เดี๋ยวมันจะสูญพันธุ์ ถ้ากินตัวที่ไม่มีไข่ ส่วนที่กินได้ก็น้อยมากๆและรสชาติไม่เท่าไหร่ ^ ^ แต่ปัจจุบันนี้เริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอึ่งอ่างบางชนิดปรับตัวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ตัวที่ปรับตัวได้และไปอาศัยในเขตชุมชนก็ไม่นิยมนำมากินกันครับ อีกอย่างการซื้อขายอึ่งอ่างนั้น ราคาค่อนข้างแพงเอาเรื่องเลย ประกอบกับหนึ่งปีมีเพียงฤดูกาลเดียวที่เราจะหาได้ ทำให้การหามาทำกินในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...
ภาพจาก – เว็บไซต์ปศุสัตว์ (https://pasusat.com/) และเฟสบุคเพจ อีสานมักม่วน
“ขอบคุณทุกท่านที่รับชมและฝากกดติดตามด้วยนะครับ”
โฆษณา