14 มิ.ย. 2020 เวลา 00:40 • การศึกษา
“อย่ากินช้างทั้งตัวภายในคำเดียว”
ผมเคยสังเกตตัวเองหลายครั้งครา เวลาที่กินข้าวด้วยความรีบเร่งและคำใหญ่เกินใป มักจะรู้สึกว่าท้องมีอาการแน่นเฟ้อเหมือนอาหารไม่ย่อย
อีกทั้งไม่ค่อยได้ดื่มด่ำกับรสชาติความอร่อยของอาหารเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ เลยลองสืบค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู ก็ได้คำตอบว่า กระบวนการย่อยอาหารของคนเรานั้นมีการย่อยอาหารสองขั้นตอน ประกอบด้วย
การย่อยเชิงกล คือ การที่เราเคี้ยวอาหารในปากทำให้สิ่งที่เรากินเข้าไปมีขนาดเล็กลง ก่อนที่จะกลืนลงสู่ก้นกระเพาะอาหาร และส่งไม้ต่อให้กับการย่อยเชิงเคมี
ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเปลี่ยนแปลงขนาดของอาหารที่เราบดเคี้ยวจนละเอียดมาแล้ว โดยใช้เอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้อาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็กมากพอที่ร่างกายเราสามารถดูดซับไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้
ดังนั้น สาเหตุหลักที่ทำให้ผมมีอาการท้องอืด เกิดจากความรีบเร่งจนทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดนั่นเอง
การอ่านหนังสือเตรียมสอบครูผู้ช่วยก็เช่นครับ!
เราไม่สามารถกินช้างทั้งตัวภายในคำเดียวได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถจดจำเนื้อหาจำนวนมากภายในเร็ววันได้ฉันนั้น หรือไม่ว่าคุณจะเป็นที่คนเก่งกาจมากแค่ไหน และความจำดีเลิศเพียงใดก็ตาม ต้องเริ่มต้นอ่านหนังสือด้วยการแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วน ๆ ก่อนอยู่ดี
แต่หากสมองคุณมีระบบ Big Data Analytics สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วในคราวเดียว อันนี้ก็เป็นข้อยกเว้นครับ แต่สำหรับสมองระบบ Small Data อย่างผมหรือใครอีกหลายคน จำเป็นต้องหั่นข้อมูลออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และผมก็ขอแนะนำให้ลองทำตามที่บอกไว้ในบทความแรกดูนะครับ
โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก “รู้แล้ว” (ทำข้อสอบเก่าถูกต้อง 80% ขึ้นไป) ส่วนที่สอง “พอรู้แล้ว” (ทำได้ 70 - 79%) และ ส่วนสุดท้าย “ยังไม่รู้เลย” (ทำถูกต่ำกว่า 70%)
จากนั้นนำแต่ละส่วนมาหั่นให้เล็กลงไปอีก เหมือนอาหารที่มีขนาดพอดีคำ (ตามแบบที่เราชอบ) เวลากินจะได้เคี้ยวง่ายย่อยสะดวก
ตอนผมเตรียมตัวสอบก็ทำเช่นนี้ครับ
หลังจากที่ได้ศึกษาหลักเกณฑ์การสอบจนเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้แบ่งเนื้อหาออก 3 กลุ่ม ตามที่เขากำหนดไว้ แล้วค่อยมาแบ่งตามระดับความรู้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกทีหนึ่ง
กล่าวคือ การสอบครูผู้ช่วยในปี พ.ศ. 2561 รอบทั่วไปนั้น ทาง ก.ค.ศ. เขาได้กำหนดเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค 5 วิชา รวมทั้งหมด 350 คะแนน ซึ่งประกอบด้วย
1. ภาค ก. ที่จะวัดความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 วิชา คือ
1.1) วิชาความรอบรู้ ซึ่งวัดความรู้เกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีในแต่ละภูมิภาค เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบ 3 - 6 เดือน ก่อนสอบ (ผมเป็นรุ่นถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน)
นโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ (เช่น พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ การบริหารราชการกระทรงศึกษาธิการ ฯลฯ) รวมถึงความรู้ด้านภาษาอังกฤษสำหรับการปฏิงานด้วย (50 คะแนน
1.2) วิชาความสามารถทั่วไป ส่วนนี้จะวัดความรู้ด้านตัวเลข ภาษาไทย (ตอนผมสอบเยื่อเคยดังมาก) และการใช้เหตุผล (50 คะแนน)
1.3) วิชาคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ มาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (50 คะแนน)
2. ภาค ข. อันนี้จะวัดความสามารถเฉพาะตำแหน่งครับ เนื้อหามี 2 ส่วน คือ
2.1) วิชาการศึกษา ตรงนี้จะวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร จิตวิทยาและการพัฒนาผู้รู้ การวัดและประเมินผล และเทคโนโลยีทางการศึกษา (75 คะแนน)
2.2) วิชาเอก อันนี้จะความรู้วัด 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เขาจะวัความรู้เชิงทฤษฎี และส่วนที่สองวัดความสามารถการประยุกต์ใช้ความรู้ในการจัดการเรียนการสอน (75 คะแนน)และ
3. ภาค ค. ส่วนนี้จะวัดความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีกพ เป็นการถามตอบ ซักประวัติ แนวคิด บุคลิกภาพ อุดมการณ์ และไหวพริบปฏิภาณ
ผมได้นำเนื้อหามาสรุปเป็นตาราง 4 คอลัมน์ โดยชอยเนื้อหาที่ละส่วนออกเป็นหัวข้อย่อย ให้คอลัมน์แรกเป็นเนื้อหาตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด คอลัมน์ถัดมา คือ ระดับความรู้ที่ “รู้แล้ว” (80% ขึ้นไป) คอลัมน์ที่สามคือ “พอรู้” (70 - 79%) และคอลัมน์สุดท้ายคือ “ยังไม่รู้” (ต่ำกว่า 70%)
จากนั้นทำการอ่านเนื้อตามที่เราไม่คุ้นเคยก่อน (อ่าน-สรุป-จดบันทึก-นั่งนึกให้เห็นภาพ) แล้วลงมือทำข้อสอบเก่า ก่อนจะตบท้ายด้วยการประเมินผลความรู้ทุกครั้ง โดยการทำเครื่องหมายไว้ว่าวันนี้ เนื้อหาส่วนนี้ เรามีความรู้ระดับใด ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายแบบ SMART ขั้น Measurable คือ ทุกอย่างที่เราทำต้องสามารถวัดผลได้ และขั้น Realistic คือ การอยู่กับความเป็นจริง ที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้
กล่าวสำหรับ การสอบรอบปี พ.ศ.2563 ที่จะถึงนี้ ได้มีการปรับเนื้อหาและสัดส่วนคะแนนจากเดิม 350 คะแนน เปลี่ยนเป็น 500 คะแนน มีทั้งหมด 3 ภาค ประกอบด้วย
ภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป (200 คะแนน) วัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (100 คะแนน) ทักษะภาษาอังกฤษ (50 คะแนน) และความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (50 คะแนน)
ภาค ข. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ (200 คะแนน) ส่วนนี้จะวัดความรู้มาตรฐานความรู้ทั่วไปในการจัดการเรียนการสอน (75 คะแนน) ซึ่งมีตัวชี้วัดคล้ายกับวิชาการศึกษาผสมกับความรอบรู้ครับ มาตรฐานความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน (100 คะแนน) สุดท้ายคือความรอบรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (25 คะแนน) และ
ภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา (100 คะแนน) ตรงนี้จะวัดความสามส่วน ได้แก่ ลักษณะส่วนบุคคล (25 คะแนน) เป็นการสัมภาษณ์ถามตอบ การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ (25 คะแนน) ตรงนี้จะดูแฟ้มสะสมผลงาน และความสามารถในด้านการสอน (50 คะแนน) อันนี้อารมณ์ประมาณนิเทศการสอนสมัยที่เราฝึกสอนเลยครับ
กล่าวคือ มีการสอนให้ดู มีการบันทึกภาพและเสียงในรูปวิดีโอขณะประเมิน มีแผนการจัดการเรียนรู้ ดูวิธีการสอน เทคนิคที่สอน การใช้สื่อ ตลอดจนการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้อีกด้วย โดยให้ตรงกับระดับการศึกษาและระดับชั้นที่เราระบุไว้ในใบสมัครสอบ การประเมินจะใช้เวลาไม่ 45 นาทีต่อคน สาธิตการสอนคนละไม่เกิน 20 - 25 นาที โดยภาค ก. และ ข. แต่ละภาคต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60% ถึงจะมีสิทธิสอบภาค ค. (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://circular62.otepc.go.th/files/v14-2563.pdf)
เห็นได้ว่าเนื้อการสอบมีรายละเอียดต่างจากเดิม มีการโยกย้ายเนื้อหาระหว่างภาค ก. และ ข. ปรับคะแนน วิชาเอกมากขึ้นจากเดิม 75 คะแนน เป็น 100 คะแนน (เน้นเตรียมให้หนัก ๆ เลยครับ เพราะสามารถนำไปให้ในภาค ค. ได้อีก) และมีการเพิ่มเติมในส่วนของ ภาค ค. อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเนื้อหาจะเปลี่ยนไป พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินแค่ไหน เราต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (ตรรกะเหมือนคำพูดที่ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” ประชด!) ซึ่งวิธีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ค่อย ๆ อ่านและทำความเข้าใจไปทีละเรื่อง
เก็บสะสมแบบเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ วัดและประเมินผลทุกวัน เพื่อให้เห็นความพัฒนาการ และวางแผนการหนังสือได้ตรงประเด็นที่สุด ในแง่จิตวิทยาการทำแบบนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเราเป็นอย่างมาก
สุดท้ายนี้ เหนือสิ่งอื่นใด จำไว้เสมอว่า “อย่ากินช้างทั้งตัวภายในคำเดียว”
...กินแต่พอดีคำ เคี้ยวให้ละเอียด สมองจะได้ไม่แน่นเฟ้อ
โฆษณา