14 มิ.ย. 2020 เวลา 08:08 • ประวัติศาสตร์
ผ้าคลุมหน้าศพ แห่งพระเยซูคริสต์
วันนี้ย่อยประวัติขอเสนอ ตำนานผ้าคลุมหน้าพระศพแห่งพระเยซูคริสต์ที่มีอายุนับพันปี และการตามล่าหาความจริงอันสลับซับซ้อนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์
หลังจากพระเยซูเปล่งพระวาจาเป็นครั้งสุดท้ายบนไม้กางเขน และดวงพระวิญญาณปลิดปลิวออกจากร่างท่ามกลางเสียงร่ำไห้ของฝูงชน
ลูกศิษย์ของพระองค์สองคนคือ Joseph of Arimathea และ Nicodemus คือผู้ปลดร่างของพระเยซูลงจากไม้กางเขน ทั้งสองห่อพระศพไว้ด้วยผ้าลินินเนื้อดีสองผืน ซึ่งต่อมาผ้าผืนหนึ่งกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม The Shroud of Turin หรือ ผ้าห่อพระศพแห่งตูริน
ท่านผู้อ่านครับ ยังมีผ้าอีกผืนที่ไม่ถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วยเป็นผ้าที่ใช้คลุมส่วนพระเศียรอันเปื้อนไปด้วยพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์ และยังถูกเก็บรักษาไว้จนทุกวันนี้
2
ผ้าผืนนี้มีนามว่า The Sudarium of Oviedo
เชิญรับชมครับ.
.
.
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู พระศพได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยังหลุมฝังศพซึ่งเป็นอุโมงค์หินใหม่อยู่ไม่ไกลจากภูเขาโกลโกธา เมื่อไปถึง ลูกศิษย์วางร่างของท่านบนแท่นหินในบรรยากาศแสนโศก พวกเขาออกมาและเลื่อนหินก้อนใหญ่ปิดปากถ้ำไว้
เวลาผ่านไปสามวัน นาง Mary Magdalene (แมรี่ แม็กดาลีน) เดินทางมาเยี่ยมพระศพ หวังแค่เพียงร่ำไห้อยู่หน้าถ้ำก็ยังดี แต่เมื่อเธอไปถึงก็ต้องตะลึงงัน เพราะก้อนหินที่ปิดปากถ้ำไว้ ถูกเลื่อนเปิดออก
สิ่งแรกที่ Mary คิดก็คือ คงมีผู้ประสงค์ร้ายขโมยพระศพไปเป็นแน่ เธอจึงรีบวิ่งไปหาศิษย์ของพระเยซูอีกสองคนนาม Simon Peter กับศิษย์อีกคนหนึ่งที่ในบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวว่าชื่ออะไร พอทั้งสองได้ฟังความจาก Mary พวกเขาทั้งหมดก็รีบรุดไปที่ถ้ำทันที
ศิษย์ไร้นามวิ่งเร็วที่สุดจึงไปถึงถ้ำก่อนเป็นคนแรก เขาชะโงกหน้าเข้าไปดูภายในถ้ำแต่ไม่เข้าไป ไม่นาน Simon Peter ก็มาถึงและก้าวเข้าไปอย่างไม่ลังเล
ภายในถ้ำบัดนี้มีเพียงความว่างเปล่า แต่มีสองสิ่งที่ Simon Peter สังเกตเห็นคือ ผ้าห่อพระศพผืนใหญ่ที่ถูกใช้พันร่างของพระเยซู และผ้าผืนเล็กที่ถูกม้วนจนสามารถตั้งได้ วางแยกไว้ต่างหาก ไม่ได้อยู่รวมกับผ้าผืนใหญ่
ผ้าทั้งสองผืนต่อมารู้จักกันในนาม The Shroud of Turin และ The Sudarium of Oviedo ตามลำดับ
และนั่น คือครั้งแรกที่ The Sudarium of Oviedo ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์
.
ตามตำราโบราณกล่าวว่า ผู้ที่ซื้อผ้าลินินเนื้อดีทั้งสองผืนมาจากตลาดเพื่อห่อหุ้มร่างของพระเยซูเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ก็คือ Joseph of Arimathea (โยเซฟ แห่งอริมาเธีย) หลังเหตุการณ์ที่อุโมงค์ฝังศพ Joseph จึงได้มอบทั้งผ้าคลุมพระศพ The Shroud of Turin และผ้าคลุมหน้าพระศพให้ Simon Peter ซึ่งต่อมาได่รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ St. Peter เก็บรักษาไว้
St. Peter มักใช้ผ้าคลุมหน้าพระศพเพื่อประกอบพิธีกรรมในการรักษาชาวบ้านทั่วไปเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย โดยนำผ้าออกมาวางแผ่พร้อมสวดมนต์อ้อนวอนต่อพระเจ้า กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอย่างรวดเร็ว
4
ท่านผู้อ่านครับ เรื่องราวหลังจากนี้ถูกรวบรวมมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ทางตอนใต้ของสเปน, ตอนเหนือของฝรั่งเศส, จากประเทศเบลเยี่ยม, และจากประเทศอังกฤษ
ต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลา แต่เขียนไว้ตรงกันในภาษาละตินว่า
ผ้า Sudarium ถูกเก็บรักษาไว้ภายในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งริมแม่น้ำจอร์แดนโดยกลุ่มแม่ชีที่อุทิศชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นดูแลมันมาหลายร้อยปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 614 ภัยคุกคามจากกษัตริย์เปอร์เซียที่เข้าโจมตีกรุงเยรูซาเลมก็ทำให้ผ้า Sudarium ต้องเริ่มลี้ภัย
ผ้าผืนน้อยถูกนำพาไปทางตะวันตกพร้อมกับวัตถุศักดิ์สิทธิ์ชิ้นอื่นๆ และหยุดพำนักอยู่ที่กรุง Alexandria ประเทศอียิปต์เป็นเวลาสองปี ก่อนที่จะต้องหลบหนีอีกครั้งหลังชาวเปอร์เซียเจ้าเก่าเข้ายึดเมืองได้สำเร็จในปี 616 ในขณะที่ผ้าคลุมพระศพถูกแยกไปอีกทาง ไปรักษาไว้ที่เมือง Edessa
ผ้าคลุมหน้าพระศพถูกใส่ไว้ในหีบสมบัติรอนแรมไปทางตะวันตกต่อไป ผ่านทวีปอัฟริกาตอนเหนือ และเข้าประเทศสเปนตอนใต้ทางเมือง Cartagena และอยู่ในความดูแลของพระสังฆราชที่นั่นหลายปี ก่อนที่จะถูกมอบให้พระสังฆราชแห่งเมือง Seville ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน
สงบอยู่ได้พักหนึ่ง เมื่อข่าวของผ้าคลุมหน้าพระศพแพร่ออกไปว่าอยู่ที่ Seville ตัวเมืองก็โดนแขกมัวร์รุกรานอีก หวังจะแย่งชิงวัตถุศักดิ์สิทธิ์นี้มาให้ได้ ทำให้ผ้าคลุมหน้าพระศพถูกย้ายขึ้นไปตอนเหนือสุดของประเทศสเปน ณ เมือง Oviedo
กาลต่อมากษัตริย์แห่งสเปน Alfonso ที่ 2 ได้สร้างมหาวิหาร San Salvador ขึ้น เพื่อเก็บรักษาผ้าคลุมหน้าพระศพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในปี 814 และประดิษฐานมาจนถึงทุกวันนี้ภายใต้ชื่อ The Sudarium of Oviedo
.
เป็นเวลานับพันปีที่ผู้คนถกเถียงกันเรื่องความจริงแท้ของผ้าทั้งสองผืน
1
มีทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ รวมถึงมีการนำผ้ามาตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หลายครั้ง ถึงแม้ว่าในตอนนี้เราจะยังไม่ได้ข้อสรุป และคงไม่มีวันได้ข้อสรุปแน่ชัด แต่เมื่อเรารวมวิทยาศาสตร์เข้ากับผ้าคลุมหน้าพระศพ ก็ทำให้เราได้รู้เรื่องราวในเวลานั้นหลายอย่าง
และถ้าหากผ้าคลุมหน้าพระศพคือของจริง ข้อมูลที่ผมเรียบเรียงมาให้เหล่านี้อาจพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล.
.
เริ่มมีการตรวจพิสูจน์ผ้าคลุมหน้าพระศพอย่างเป็นทางการในปี 1980 โดยใช้เทคโนโลยีพิสูจน์หลักฐานที่ดีที่สุดขณะนั้นของสเปน และในทศวรรษต่อมา มีผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษนาม Mark Guscin เดินทางมาร่วมกับคณะทำงานของรัฐบาลสเปนชื่อ The Investigation Team of the Centro Español de
Sindonología and the British Society for the Turin Shroud ในปี 1989
คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ใช้เวลาวิจัยผ้าคลุมหน้าพระศพถึง 10 ปีก่อนที่จะออกรายงานผลมาในปี 1999 มาดังนี้
.
ผ้าคลุมหน้าพระศพ คือผ้าลินินขนาด 84x53 ซ.ม. ที่เปื้อนไปด้วยคราบเลือดและของเหลวที่ไหลออกมาจากร่างกายคน โดยมีความเชื่อว่าเป็นเลือดของพระเยซู
ในสมัยก่อน ตามธรรมเนียมชาวยิวเชื่อว่าวิญญาณของคนตายจะสถิตย์อยู่ในเลือดที่ไหลออกมาหลังเสียชีวิตแล้ว ทำให้เกิดธรรมเนียมการนำผ้ามาคลุมศพเพื่อซับเลือดเก็บไว้
ด้วยเหตุนี้เอง Joseph แห่งอริมาเธียจึงไปซื้อผ้าลินินมาสองผืนจากตลาด เพื่อนำมาใช้คลุมร่างพระเยซูเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ ผ้าทั้งสองผืนมีขนาดไม่เท่ากัน ผืนหนึ่งใหญ่ ผืนหนึ่งเล็ก และผืนใหญ่เป็นผ้าลินินที่คุณภาพดีกว่า
เมื่อไปถึงภูเขาโกลโกธาอันเป็นที่ตั้งของการตรึงกางเขน หลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ Joseph ปีนขึ้นไปบนไม้กางเขน และใช้ผ้าผืนเล็กพันไปที่ศีรษะของท่าน โดยเริ่มพันจากท้ายทอยไปด้านหน้า นี่คือการพันครั้งแรก
2
จากการวิเคราะห์รอยเลือดของทีมผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานได้ว่า ในขณะที่พันนั้น พระเยซูอยู่ในลักษณะแขนกางออกจากกันจนสุด ศีรษะพับไปด้านหน้า 70 องศา และเอียงไปทางด้านขวา 20 องศา พระศพแข็งเกร็งจากอาการ Rigor mortis ทำให้ Joseph ไม่สามารถพันผ้ารอบศีรษะได้ เขาจึงนำผ้าไปเหน็บไว้ระหว่างแขนขวาและศีรษะของพระเยซู ก่อนพันกลับมาที่ท้ายทอย และ ทบไปมาแบบนั้นทั้งหมด 4 ทบ
ด้วยการพันนี้ ทำให้เกิดรอยเลือดขึ้นมาทั้งหมด 4 ชั้น ทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวาเหมือนกัน เป็นเลือดและของเหลวที่ไหลออกมาทางจมูกและปาก โดยรวมเรียกว่า Chroral Oedema อันเป็นของเหลวที่ไหลออกมาจากปอดหลังจากเสียชีวิตในกรณีที่ร่างของผู้ตายถูกกระทำด้วยแรงดันบางอย่างจนผนังเส้นเลือดไม่สามารถรักษาสมดุลได้ เกิดเป็นการรั่วซึมของ Chroral Oedema สู่ภายนอก
จากรอยเลือดนี้ พระเยซูน่าจะสิ้นพระชนม์จากการขาดอากาศหายใจในท่าตรึงกางเขน หาใช่บาดแผลจากการตอกตะปู แรงดันในร่างกายผิดปกติจากการเหยียดแขนออกจนสุดและถูกกดลงด้วยแรงโน้มถ่วง
เมื่อเรามองไปที่รอยเลือดบนผ้าคลุมหน้าพระศพ เราสามารถบอกได้ทันทีว่าทบใดของผ้าคือทบแรกที่สัมผัสใบหน้าของพระเยซูโดยตรงจากความเข้มของรอยเลือด ให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพเวลาที่เราเทกาแฟลงไปบนผ้าสีขาวจะเกิดรอยกาแฟ และหลังจากนั้นก็เททับลงไปอีกครั้งหนึ่ง รอยนั้นก็จะขยายใหญ่ขึ้น เราจะสามารถรู้ได้ว่ารอยไหนคือรอยแรก
ในบางส่วนของผ้าคลุมหน้าพระศพจะมีรูเล็กๆ จากการนำผ้านั้นไปคลุมศีรษะของผู้ที่มีกระจุกผมเรียวแหลมคล้ายหนาม เกิดจากการที่เลือดไปเกาะกับผมจนแห้งกรังแทงทะลุผ้า ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องราวของพระเยซู แต่มีอยู่จุดหนึ่งที่ในตอนแรกทีมวิจัยไม่สามารถหาคำตอบได้ คือรอยเลือดบนผ้าคลุมที่มาจากส่วนหน้าผาก
1
ในคริสต์ประวัติไม่เคยมีบอกไว้ว่าพระเยซูมีแผลที่หน้าผาก แล้วรอยเลือดนี้มาจากไหนกัน?
มันมาจากตอนที่ Joseph ปลดพระองค์ลงจากไม้กางเขน และหลังจากนั้นได้วางพระศพของพระองค์ในลักษณะคว่ำหน้าลงบนผืนผ้า แขนกางออก ศีรษะยังคงเบี่ยงไปทางขวา 20 องศา งุ้มลง 115 องศาในแนวตั้ง หน้าผากของพระองค์ถูกวางบนพื้นแข็ง โดยที่ขานั้นสูงกว่าศีรษะ และปล่อยให้พระศพอยู่ในท่านั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง
คราวนี้เขาสามารถพันผ้ารอบศีรษะพระองค์ได้โดยสมบูรณ์ และผูกเป็นปมไว้ด้านบนของศีรษะเพื่อให้สามารถดึงออกได้โดยง่าย พวกเขาห่อร่างของพระองค์ด้วยผ้า The Shroud of Turin หลังจากนั้นจึงดำเนินการเคลื่อนย้ายพระศพ
รอยเลือดบนผ้าในทบที่ 4 ยังบอกกับเราอีกว่า ขณะที่ลูกศิษย์เคลื่อนย้ายพระศพของพระเยซูจากภูเขาโกลโกธาไปยังอุโมงค์ พระองค์ถูกหามในลักษณะคว่ำหน้า โดยมีใครบางคนใช้มือซ้ายของตนบีบจมูกของพระองค์ตลอดเวลา อาจเพราะต้องการให้ของเหลวและเลือดไหลออกมาชโลมผ้ามากที่สุด
ท้ายที่สุด เมื่อคณะไปถึงอุโมงค์เก็บพระศพ ลูกศิษย์จัดการวางพระศพไว้บนแท่นหิน ก่อนจะดึงผ้าคลุมหน้าพระศพออกและวางตั้งไว้ข้างๆ พวกเขาโรยร่างของท่านด้วยเครื่องหอมต่างๆ และลาจากไป
.
ข้อมูลสำคัญที่จะช่วยยืนยันความแท้จริงของผ้าคลุมหน้าพระศพ The Sudarium of Oviedo คือความสัมพันธ์กับผ้าคลุมพระศพ The Shroud of Turin ครับ
อย่างที่ตำนานบอกไว้ ผ้าทั้งสองผืนมีความใกล้ชิดกันดุจพี่น้อง และถูกใช้ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือการพันร่างพระเยซู หากสามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงกันของผ้าทั้งสองได้ ก็เท่ากับมนุษยชาติขยับเข้าใกล้ความจริงขึ้นอีก
ปี 2015
Research Team of Spanish Center of Sindonology (EDICES) ได้แถลงเอกสารยืนยันว่าผ้าทั้งสองผืน ถูกใช้กับบุคคลคนเดียวกัน โดยให้เหตุผลหลักสามประการ
1. กรุ๊ปเลือดเดียวกัน
รอยเลือดที่ปรากฎอยู่บนผ้าทั้งสองผืนคือเลือดกรุ๊ป AB ซึ่งมีเพียง 3% ของประชากรโลกในขณะนั้น
2. ประเภทของเลือดแบบเดียวกัน อยู่ในจุดเดียวกัน
บนผืนผ้ามีเลือดสองประเภท คือเลือดที่ไหลออกมาในขณะยังมีชีวิต และเลือดที่ไหลออกมาหลังเสียชีวิต ซึ่งเมื่อนำผ้าทั้งสองมาเทียบรอยแล้ว จะเห็นว่าเลือดประเภทเดียวกัน ปรากฎอยู่ในรอยเดียวกัน มากกว่า 95%
3. จุดเล็กๆ 3-4 จุดตรงด้านซ้ายของผ้าคลุมหน้าพระศพ
ท่านผู้อ่านยังจำตอนที่ Joseph ปีนขึ้นไปพันผ้าบนไม้กางเขนโดยเริ่มจากท้ายทอยได้ไหมครับ ณ จุดนั้นเองเกิดเป็นรอยหยดเลือดเล็กๆ 3-4 หยด ซึ่งรอยนี้ เมื่อนำไปทาบกับรอยตรงกลางผ้าคลุมพระศพ The Shroud of Turin มีรูปร่างสอดคล้องกันถึง 99%
.
.
สำหรับผู้เขียนบทความนี้น่าสนใจตรงที่ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ถูกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาท้าทายอย่างเต็มรูปแบบ กระนั้นก็ยังได้ผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์
และการเดินทางอันน่าเหลือเชื่อของผ้าคลุมหน้าพระศพ The Sudarium of Oviedo ผ่านร้อนผ่านหนาวจากวันนั้น วันที่มันถูกใช้เป็นครั้งแรก มาจนวันนี้ ที่นอนสงบนิ่งอยู่ในมหาวิหาร San Salvador
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ผ้าคลุมหน้าพระศพแห่งพระเยซูคริสต์จะเป็นเรื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงความกล้าหาญของพระองค์ และความรักที่พระองค์มีต่อเพื่อนมนุษย์
ขอให้ความรักจงบังเกิดครับ
.
เกร็ดเล็ก: บนผ้าคลุมหน้าพระศพจะมีรอยลิปสติคสมัยใหม่อยู่รอยหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1939 โดยนาง Carmen Polo ภรรยาของนายพลสเปนจอมเผด็จการ Franco
เธอใช้อำนาจของสามี บังคัมให้ทางการเปิดหีบออก และนางก็จัดการจุมพิตลงไปบนตัวผ้า!
เกร็ดน้อย: ตามตำนานเล่ากันว่า หากใครเจ็บไข้ไม่ว่าร้ายแรงขนาดไหน ให้ใช้ผ้าคลุมนี้คลุมลงไปบนหน้าแล้วอธิษฐาน ด้วยพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์แห่งพระคริสต์ โรคร้ายนั้นจะมลายหายไปในทันที
- Xyclopz
ด้วยจิตคารวะ
1
โฆษณา