14 มิ.ย. 2020 เวลา 12:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
งูกัดครับพี่น้องครับ!!!
👨⚕️หน้าฝนมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานต่างๆก็มีกจะเข้ามาในบ้านคนมากขึ้น ทั้งงู ตะขาบ กิ้งกือ
น้องหมาน้องแมวของเราบางตัวไม่เคยพบเห็นสัตว์เหล่านี้ ก็อยากเล่นด้วย บางตัวเคยพบเห็นหรือรู้ตามสัญชาตญาณก็ไม่ทราบ ก็พยายามจะต่อสู้ขับไล่เจ้าสัตว์เหล่านี้ออกจากบ้านของเรา หลายครั้งพลาดพลั้งโดนกัด โดนฉก ที่หน้าบ้าง ขาบ้าง อันตรายถึงชีวิตกันเลยทีเดียวครับ
วันนี้หมอจึงขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิษงูชนิดต่างๆ และความรุนแรง รวมถึงการสังเกตอาการให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ทราบกันนะครับ
ก่อนอื่นเรามารู้จักประเภทของงูพิษ (Poisonous snakes) กันก่อนนะครับ
สำหรับงูพิษที่สำคัญในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1) Viperidae เป็นงูที่มีพิษต่อระบบเลือด (hemotoxin)
1.1 Typical viper เช่น งูแมวเซา (Russell’s viper)
1.2 Pit viper เช่น งูกะปะ (Malayan pit viper) และ งูเขียวหางไหม้ (Green pit viper)
งูแมวเซา
งูกะปะ
งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง
โดยในกลุ่มของ Viperidae นี้ พบว่าอุบัติการณ์ของสัตว์ที่ถูกกัดเกิดจากงูเขียวหางไหม้บ่อยที่สุด
**โดยงูเขียวหางไหม้มีลำตัวสีเขียวปลายหางสีน้ำตาล พบได้ทั่วไป
2) Elapidae งูที่มีพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) ได้แก่ งูเห่า (Cobra) งูจงอาง (King cobra) งูสามเหลี่ยม (Banded krait) งูทับสมิงคลา (Malayan krait)
งูจงอาง
งูเห่า
งูสามเหลี่ยม
งูทับสมิงคลา
ในกลุ่มของ Elapidae นี้ พบว่ามีอุบัติการณ์ของสัตว์ที่ถูกกัดเกิดจากงูเห่าบ่อยที่สุด
**โดยงูเห่ามีลักษณะหัวแหลม ผิวเรียบ มีเกล็ดเล็กน้อยที่หัว มีรูปดอกจันที่คอ
**ส่วนงูจงอางมีลักษณะหัวทู่ มีเกล็ดที่หัวจำนวนมาก และพบได้น้อยกว่างูเห่า
🎯ทั้งงูเห่าและงูจงอางสามารถพบได้ในบริเวณที่มีต้นไม้รกทึบหรือสวนขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้หนาแน่น
1
เพิ่มเติม : บางตำรายังจัดแบ่งงูพิษเพิ่มเติมไว้อีก 2 กลุ่ม คือ งูที่มีพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ (myotoxin) เช่น งูทะเลที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง พบปัสสาวะสีดำซึ่งเกิดจากสารที่เรียกว่า myoglobin ( เกิดจากกล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย ) และอีกกลุ่มหนึ่งคือ งูพิษอ่อน เช่น งูปล้องทอง งูลายสาบ เป็นต้น ซึ่งมักทำให้มีอาการเพียงปวด บวม แดง บริเวณที่ถูกกัด
1
📌กลไกการเกิดพิษ
 
🎯งูที่มีพิษต่อระบบเลือด น้ำพิษประกอบด้วยสารหลายชนิด รวมทั้งเอนไซม์ที่รบกวนการทำงานของระบบการแข็งตัวของเลือด พบว่าพิษของงูแมวเซา ทำให้เกิด microthrombi ( ลิ่มเลือดขนาดเล็กมาก ) อุดตันในหลอดเลือดและทำให้เม็ดเลือดแดงแตก นอกจากนี้ยังมีพิษต่อไตโดยตรง คือ ทำให้เกิดไตวาย
ส่วนพิษของงูกะปะและงูเขียวหางไหม้มีฤทธิ์เพิ่มการสลายไฟบริน (fibrinolytic activity) ให้เร็วกว่าปกติ 6 - 10 เท่าและทำให้เกล็ดเลือดต่ำ
🎯งูที่มีพิษต่อระบบประสาท น้ำพิษมีผลบริเวณจุดเชื่อมต่อของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการบล็อกการส่งต่อกระแสประสาทของระบบประสาทที่ใช้สั่งงานกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการทางคลินิกคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเกิดภาวะหายใจล้มเหลว
📌การวินิจฉัย
หลักๆขึ้นอยู่กับประวัติที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีงูอาศัยอยู่ หรือเข้าไปเล่น เข้าไปเที่ยวในป่าหรือสวน เจ้าของสัตว์อาจจะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดีที่สุด ว่าสัตว์เลี้ยงได้ไปเล่นกับงูหรือต่อสู้กันหรือไม่ และงูเป็นชนิดใด ถ้าสามารถหาซากงูและถ่ายภาพมาได้จะดีมาก
สำหรับร่องรอยบาดแผลที่ตัว จำเป็นต้องหารอยกัดของงูตามร่างกายของสัตว์ที่ถูกงูกัด เพื่อยืนยันว่าถูกกัดจริงๆ หากถูกงูพิษกัดจะพบรอยเขี้ยวเป็นรูขนาดเล็กคล้ายถูกเข็มตำ ปกติจะพบ 2 รูคู่กันแต่ก็อาจพบเพียง 1 รูหรือมากกว่า 2 รูก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะการกัดของงูตัวนั้น
***ในกรณีที่ไม่เห็นเหตุการณ์ว่าถูกงูกัด อาจทำให้ตัดสินใจในการรักษายาก เนื่องจากไม่ทราบชนิดของงูจะยากในการเลือกเซรุ่ม และถ้าสัตว์ไม่ได้ถูกงูกัดจริงๆ ก็เสี่ยงในการเซรุ่มที่ทำมาจากเลือดม้าซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ได้ครับ
📌อาการทางคลินิกที่พบได้
🎯อาการเฉพาะที่
1 ) งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา หรืองูที่มีพิษอ่อนกัด : ปวดบวมเล็กน้อย
2 ) งูแมวเซา หรือระยะแรกของงูเห่าและงูจงอางกัด : ปวด บวม แดงร้อนไม่มาก
3) งูเห่าและงูจงอางกัด : ปวด บวม แดงร้อนมาก และมีเนื้อตาย
4) งูเขียวหางไหม้และงูกะปะกัด : ปวด บวม แดง ร้อน และผิวหนังพองมีจุดหรือจ้ำเลือด
🎯อาการตามระบบ
- พิษต่อระบบเลือด เช่น พิษจากงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้เลือดออกมาก เช่น เลือดออกจากรอยกัด เลือดกำเดาไหล เลือดออกในลูกตา ปัสสาวะปนเลือด อุจจาระปนเลือด อาเจียนปนเลือด อ่อนแรง และความดันโลหิตลดลง
-พิษต่อระบบประสาท เช่น พิษจากงูเห่าและงูจงอาง อาการเริ่มจากซึม อ่อนแรง หนังตาตก ขาอ่อนแรง หายใจลำบาก น้ำลายไหลมาก ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นเร็ว เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้ตายได้!!!
📌การปฐมพยาบาล
- แนะนำให้ล้างบาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด หรือ povidone iodine ( เบตาดีน )
-พยายามให้สัตว์ที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกกัดโดยอาจทำเฝือกดามไว้
-ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะเพราะอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์มากกว่าผลดี เช่น ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและเกิดเนื้อตายมากขึ้น หรือเนื้อเยื่อบวมน้ำมากขึ้น
-รีบส่งสัตว์ไปที่สถานพยาบาลสัตว์โยเร็วที่สุด พร้อมแจ้งข้อมูลทุกอย่างเท่าที่เจ้าของทราบ
reference : นิตยสารสำหรับสัตวแพทย์ vpn ฉบับที่ 150
โฆษณา