14 มิ.ย. 2020 เวลา 15:12 • การศึกษา
อาหารหลัก 5 หมู่? เรื่องง่ายๆ ที่เด็กไทยตอบไม่ถูก!!
เรื่องพื้นฐานที่หลายคนเห็นชื่อเรื่องแล้ว เกิดความรู้สึกว่า จะเอามาเล่าอีกทำไม
อาหารหลัก 5 หมู่ (The 5 food groups) ใครๆ ก็ทราบ!!
รูปภาพจาก https://bit.ly/2Y2NmFT
จริงค่ะ ใครๆ ก็ทราบ แต่เป็นการรับทราบแบบผิดๆ น่ะสิคะ
จากประสบการณ์ตรงในฐานะที่เป็นครูวิทยาศาสตร์ และสอนในสาขาวิชาชีววิทยา
พบว่าเมื่อถามคำถามนี้กับนักเรียน “อาหารหลัก 5 หมู่ มีอะไรบ้างคะนักเรียน”
ย้ำนะคะว่า ถามว่า “อาหาร” (food)
เชื่อไหมคะว่าร้อยทั้งร้อย นักเรียนตั้งแต่มัธยมต้น ไม่เว้นแม้กระทั่งมัธยมปลาย ตอบว่า
“หมู่ที่ 1 โปรตีน หมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต ... ”
อ้าว!! แล้วผิดตรงไหน นักเรียนตอบถูกแล้วหนิ!?
เหมือนจะถูกค่ะ แต่มันเป็นมโนทัศน์ (concept) ที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ
มโนทัศน์ที่ผิดนี้ถูกปลูกฝังมานานมากแล้วค่ะ จนแก้ได้ยากในปัจจุบัน
สิ่งที่เราพูดถึงกันตอนนี้คือ “อาหาร” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “food”
แต่สิ่งที่นักเรียนตอบ “โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ ไขมัน”
เหล่านี้มันไม่ใช่ อาหาร (food) ค่ะ แต่มันคือ สารอาหาร ต่างหาก!! ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Nutrient”
พออ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ ว่าสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคืออะไร
ในหนังสือวิทยาศาสตร์ของไทยหลายๆ เล่ม ได้ปลูกฝังมโนทัศน์ผิดๆ นี้ให้กับเด็กไทยมาหลายยุคหลายสมัยแล้วค่ะ ต่างกับหนังสือของฝั่งตะวันตกที่เขียนระบุชัดเจน ว่าอะไรคือ อาหาร อะไรคือ สารอาหาร อาหารหลัก 5 หมู่คืออะไร
เกริ่นมายืดยาวเลยค่ะ เหมือนเป็นความอัดอั้นตันใจของผู้เขียน ที่ถามคำถามนี้เมื่อไหร่ ก็ไม่เคยได้คำตอบที่ถูกต้องสักที 😣
เข้าเรื่องเลยนะคะ สาเหตุที่นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เช่นเคยค่ะ ผู้เขียนไปเจอข้อสอบชีววิทยา ในข้อสอบวิทยาศาสตร์ ONET ปี 2562 ของเด็กๆ ชั้น ม.3 ข้อที่ 8 ที่ถามเกี่ยวกับการทดสอบสารอาหาร ดังนั้นเนื้อหาต่อจากนี้ จะขอเล่าเรื่องการทดสอบสารอาหารให้ได้อ่านกันนะคะ
ข้อสอบวิทยาศาสตร์ ONET’62 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จาก สทศ.
ซี่งคำถามข้อนี้ให้ข้อมูลการทดสอบสารอาหารในอาหารทั้งหมด 4 ชนิด
และใช้วิธีการทดสอบ 4 วิธี โดยแต่ละวิธีนั้นจะให้ผลการทดสอบออกมาว่า ในอาหารที่นำมาทดสอบนั้น ประกอบด้วยสารอาหารชนิดใด เรามาไล่เรียงทีละวิธีตามตารางเลยนะคะ
1. ทดสอบโดยใช้สารละลายเบเนดิกต์ (Benedict's solution) และให้ความร้อน
วิธีนี้ใช้ทดสอบอาหารในกลุ่มน้ำตาล (sugar) เป็นอาหารหมู่ที่ 2 โดยจะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) เมื่อหยดสารละลายเบเนดิกต์ที่มีสีฟ้าลงไป และให้ความร้อน อาหารที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเกิดตะกอนสีแดงอิฐ สีคล้ายสีส้มเกิดขึ้น แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะเกิดกับน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น กลูโคส (glucose) ฟรุกโทส (fructose) กาแลกโทส (galactose) และน้ำตาลโมเลกุลคู่ เช่น มอลโทส (moltose) แลกโทส (lactose) แต่จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับน้ำตาลซูโครส (sucrose) เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลอ้อย เป็นต้น
ผลการทดสอบจากสารละลายเบเนดิกต์ https://bit.ly/3e1Qebz
ในห้องปฏิบัติการในโรงเรียน เมื่อสั่งให้นักเรียนเตรียมน้ำตาลมาทำการทดสอบ แน่นอนว่าเด็กๆ จะนำน้ำตาลทรายที่มีอยู่ในทุกครัวเรือนมา ผลที่ได้คือ ไม่เกิดตะกอนสีแดงอิฐขึ้นตามที่กล่าว ดังนั้นเด็กๆ ควรจะนำน้ำตาลจากผลไม้มาทดสอบแทน เช่น คั้นน้ำส้มมาทดสอบ เป็นต้น
2. สารละลายไอโอดีน (Iodine solution)
วิธีนี้ใช้ทดสอบอาหารในกลุ่มแป้ง (starch) เป็นอาหารหมู่ที่ 2 โดยจะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ซึ่งเมื่อหยดสารละลายไอโอดีนที่มีสีน้ำตาลอมเหลืองลงไปในอาหารที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสีของสารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม หรือน้ำเงินอมม่วง หรือถ้าอาหารนั้นมีปริมาณแป้งมาก สีที่เกิดขึ้นอาจจะได้สีดำเลยก็ได้ค่ะ
ผลการทดสอบจากสารละลายไอโอดีน https://bit.ly/30HS914
3. สารละลาย CuSO4 (เลข 4 ต้องเป็นตัวห้อยนะคะ) และสารละลาย NaOH หรือเรียกว่า ปฏิกิริยาไบยูเรต (Biuret reaction)
วิธีนี้ใช้ทดสอบอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหมู่ที่ 1 โดยจะให้สารอาหารประเภทโปรตีน (protein) ซึ่งเมื่อหยดสารละลาย CuSO4 และสารละลาย NaOH ที่มีสีฟ้าลงไปในอาหารที่มีเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ เป็นองค์ประกอบหลัก จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสีของสารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมม่วง
ผลการทดสอบจากปฏิกิริยาไบยูเรต https://bit.ly/3cW7g9v
4. ถูหรือหยดอาหารลงบนกระดาษ
วิธีนี้ใช้ทดสอบอาหารในกลุ่มน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ เนย ซึ่งเป็นอาหารหมู่ที่ 5 โดยจะให้สารอาหารประเภทไขมัน (lipid) ทำง่ายๆ โดยนำอาหารชนิดนั้นถูลงไปบนกระดาษ เช่น กระดาษ A4 ถ้าอาหารมีน้ำมันเป็นองค์ประกอบ จะทำให้กระดาษโปร่งแสง (translucent) สังเกตได้จากการยกกระดาษขึ้นส่องกับแสงไฟ บริเวณที่กระดาษโปร่งแสงจากน้ำมัน แสงจะสามารถลอดผ่านมาได้บางส่วน เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า โปร่งแสง
กระดาษเกิดการโปร่งแสงจากการนำอาหารที่มีน้ำมันถูลงไป https://bit.ly/3e2wAfB
เรียบร้อยแล้วนะคะกับวิธีการทดสอบสารอาหาร 4 วิธี ที่เด็กๆ ในโรงเรียนทำการทดลองกัน ซึ่งเป็นการทดลองง่ายๆ ที่ทุกโรงเรียนจะต้องได้ทำอย่างแน่นอน ท่านผู้อ่านลองนึกย้อนไปถึงวัยเรียนตอนนั้นดูไหมคะ ว่าเคยได้ทดสอบสารอาหารตามวิธีดังกล่าวหรือเปล่า?
คราวนี้มาพิจารณาอาหารทั้ง 4 ชนิดกันค่ะว่า มีสารอาหารชนิดใดอยู่บ้าง
อาหาร A
เมื่อทดสอบด้วยสารละลายเบเนดิกต์ เกิดตะกอนสีแดงอิฐขึ้น ส่วนอีก 3 วิธีไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นสามารถฟันธงได้เลยค่ะว่า อาหาร A มีเฉพาะน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง
อาหาร B
เมื่อนำไปถูกับกระดาษ ไม่เกิดการโปร่งแสง แต่อีก 3 วิธีที่เหลือเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นในอาหาร B ประกอบด้วยสารอาหาร 2 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรตจากน้ำตาล กับแป้ง และโปรตีน นั่นเองค่ะ
อาหาร C
เมื่อทดสอบด้วยสารละลายไอโอดีน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่อีก 3 วิธีที่เหลือเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นในอาหาร C ประกอบด้วยสารอาหาร 3 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรตจากน้ำตาล โปรตีน และไขมัน
สุดท้ายค่ะ อาหาร D
เมื่อทดสอบด้วยสารละลายไอโอดีน เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และเมื่อทดสอบด้วยปฏิกิริยาไบยูเรต ได้สีม่วง ดังนั้นในอาหาร D ประกอบด้วยสารอาหาร 2 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรตจากแป้ง และโปรตีนค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทความในวันนี้
อาจจะวิชาการมากไปหน่อย และแอบบ่นความอัดอั้นในตอนต้น แต่ก็น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ และผ่านวัยเรียน วัยมัธยมมาสักพักแล้ว ได้หวนคิดถึงวันวาน ในวัยใสได้บ้าง ส่วนถ้าท่านผู้อ่านท่านใดยังอยู่ในวัยมัธยม ก็น่าจะพอได้ทบทวนความรู้เก่าๆ อยู่บ้าง คิดซะว่าเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมในต้นเดือนหน้านะคะ
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่าน และติดตามนะคะ
เรื่องราวเหล่านี้อยู่รอบตัวเรา และในตัวเราทั้งสิ้น
👉เพราะชีวะ คือชีวิต👈
ฝาก YouTube channel ด้วยนะคะ
👇👇🏼👇🏻
TongRerd
สวัสดีค่ะ
ต้อง 😊
โฆษณา