15 มิ.ย. 2020 เวลา 00:36 • การศึกษา
“ไม่ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไร อย่าสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง”
เชื่อหรือไม่ว่า คนเราหากได้ลงมือทำอะไรด้วยความไม่มั่นใจในตัวเอง เราจะทำมันแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ และผลลัพธ์ที่ได้ก็มักไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คิด โดยสาเหตุหลักของการขาดความมั่นใจนั้นเกิดมาจากความลังเล และความลังเลดังกล่าวนี้ ก็มาจากความหวาดกลัวภายในจิตใจของเรานั่นเอง
กล่าวสำหรับ การเตรียมตัวสอบครูผู้ช่วยก็เช่นกัน กว่าที่เราจะสอบติดจนได้ขึ้นบัญชีนั้น ช่างยากลำบากยิ่งนัก เราจะต้องมุ่งมั่นทุ่มเททั้งแรงกายและใจอย่างหนักหน่วงกว่าปกติหลายเท่าตัว และแลกมันมาด้วยความมานะอดทน มานะในฝึกฝน อดทนในการรอคอยโอกาสที่จะผ่านเข้ามาให้เราคว้ามัน
ว่าไปแล้วผมก็อดนึกถึงคำพูดของเจ้าหุ่นยนต์ที่ชื่อ TARS ในหนังเรื่อง “Interstellar” ไม่ได้ ตอนที่ “คูเปอร์” ตัวละครเอกของเรื่องที่กำลังพยายามนำยานอวกาศหลุดออกจากความโน้มถ่วงของหลุมดำ “Gargantua” ที่ว่า “การที่เราจะก้าวไปข้างหน้า เราต้องละทิ้งบางสิ่งบางอย่างไว้เบื้องหลัง” ซึ่งทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก เพราะคำพูดนี้สามารถนำมาใช้กับการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังตรงกับกฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของ เซอร์ ไอแซก นิวตัน อัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีสมการเป็นคู่ชีวิต ที่อธิบายว่า “ถ้าวัตถุสองชิ้นกระทำต่อกัน แรงที่วัตถุที่ 1 กระทำต่อวัตถุที่ 2 มีขนาดเท่ากับแรงที่วัตถุที่ 2 กระทำต่อวัตถุที่ 1 ในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ” อีกด้วย
คุณผู้อ่านลองหยิบหนังสือเตรียมครูผู้ช่วยขนาดแตกต่างกันมาซัก 2 เล่มสิครับ แล้ววางบนโต๊ะอ่านหนังสือ (หรือพื้นเรียบอื่น ๆ) จากนั้นใช้มือผลักให้หนังสือเคลื่อนที่ (หรือเปลี่ยนตำแหน่ง) ไปข้างหน้าทีละเล่มตามลำดับ
การกระทำเช่นนี้คุณจะพบว่า ขณะที่หนังสือเปลี่ยนตำแหน่ง ที่ผิวสัมผัสระหว่างพื้นโต๊ะกับปกของหนังสือจะมีแรงต้านทานเกิดขึ้น และนอกจากนี้คุณจะพบอีกว่า หนังสือเล่มเล็กจะออกแรงผลักน้อยกว่าหนังสือที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ใช่ครับ!
การที่คนเราลงมือทำอะไรบางอย่าง เราต้องมีจุดเริ่มต้นและเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง อุปมาดั่งการเคลื่อนที่ของหนังสือ เราต้องเปลี่ยนตำแหน่งตัวเองจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง และการที่คุณจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้นั้น
คุณต้องออกแรงพยายาม ยิ่งออกแรงพยายามมากเราก็ไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้น แน่นอนว่า ระหว่างทางย่อมมีแรงต้านทานที่พยายามฉุดรั้งเราไว้เสมอ ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง ยิ่งเรามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แรงต้านทานดังกล่าว ก็จะยิ่งมีค่ามากตามไปด้วย
ในช่วงเตรียมสอบ ผมเองก็เคยท้อแท้และสิ้นหวังกับชีวิต ลุกลามไปถึงขั้นขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง มันเป็นตอนที่ผมตัดสินใจลาก่อนจากการทำงานเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการชีวิตในเมืองใหญ่
โดยไม่ได้บอกกับทางครอบครัว เพราะความกลัวว่าพวกเขาจะเป็นห่วง และอาจจะถูกรบเร้าให้กลับไปตั้งหลักที่บ้าน ซึ่งหากผมกลับไปก็คงต้องนั่งตอบคำถามที่ประเดประดังเข้ามาของบรรดาญาติพี่น้องและคนรอบข้าง เป็นต้นว่า
“ตอนทำงานที่ไหน”
“ได้เงินเดือนเท่าไร”
“แล้วเมื่อไหร่จะได้บรรจุเป็นครูสักที”
เช่นนี้อย่างไม่จบสิ้น
และที่สำคัญ ก็คือ ผมไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองกำลังพ่ายแพ้
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจย้ายออกจากกรุงเทพฯ ไปขออาศัยอยู่กับแฟนสาวที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่อนเร่พเนจรหารับจ้างสอนพิเศษตามบ้าน
โดยได้รับค่าแรงวันละ 500 บาท พอได้ประทังชีวิตไปวันต่อวัน ซึ่งยอมรับว่าจิตใจตอนนั้นย่ำแย่มาก อ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจ สมองตีบตัน ความคิดสับสน และเส้นทางชีวิตในอนาคตก็ดูเลือนลางลงทุกขณะ จนกระทั่งผมรู้สึกว่าไม่อยากตื่นมาผ่านพบกับความเป็นจริงอีกแล้ว
พออาการหนักขึ้น จนอ่านหนังสือต่อไม่ไหว ผมจึงหยุดแล้วปล่อยให้ตัวเองอยู่ว่าง ๆ เป็นเวลาหลายวัน แบบไม่ต้องมีอะไรมาคอยบีบคั้น ทำตัวสบาย ไม่ทะเยอทะยาน และละวางจากการอ่านหนังสือไปดูหนังและฟังเพลงแทน
จนวันหนึ่ง ผมก็ได้พบกับภาพยนตร์เรื่อง Eddie the Eagle (2016) กำกับโดย Dexter Fletcher นำแสดงโดย Taron Egerton รับบทเป็น Eddie the Eagle และ Hugh Jackman (คนเดียวกันกับพระเอกในหนัง อาทิ เรื่อง Van Helsing (2004), Real Steel (2011) และ The Wolverine (2013) เป็นต้น) รับบทเป็น Bronson Peary ครูฝึกสกีกระโดด
สร้างมาจากชีวิตจริงของ Michael Edwards นักกีฬาสกีกระโดดของประเทศอังกฤษ ที่เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1988 ที่เมือง Calgary ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว โดยการแข่งขันครั้งนี้ ผู้ชนะกระโดดได้สูงถึง 403 ฟุต
ขณะที่ Eddie the Eagle ในชุดสกีท่าทางเพี้ยน ๆ ที่ยืมของคนอื่นมาใส่พร้อมกับแว่นตาขาหักที่ใช้เทปเก่า ๆ พันไว้ ทำให้เขาดูเหมือนคนไม่ค่อยเต็มบาท และในวันนั้นผลปรากฏว่า เขากระโดดได้ระยะเพียง 238 ฟุต ส่งผลให้เขาได้ลำดับสุดท้ายจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 56 คน
เหตุการณ์นี้ครั้งนั้น ทำให้คนดูกล่าวหาว่า Eddie เป็นพวกปัญญาอ่อนที่หลงคิดว่าตัวเองฉลาด รวมทั้งบรรดานักข่าวที่มาทำข่าวในวันนั้นก็เช่นกัน พวกเขาพยายามทำให้ Eddie กลายเป็นคนบ้าในสายตาประชาชน
แต่ทว่า Eddie ไม่ยอมให้พวกเขาทำเช่นนั้น โดยเขากล่าวว่า “นี่เป็นวันที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตผม ผมกำลังเป็นตัวแทนสหราชอาณาจักรในโอลิมปิก” และ “ผมเพิ่งกระโดดสูงกว่า 72 เมตร นั่นเป็นเรื่องยากมาก ๆ เลยนะ”
หลังจากที่เขาพูดจบ ทุกคนก็นึกขึ้นได้ว่า Eddie เป็นนักสกีกระโดดทีมชาติคนแรกของสหราชอาณาจักรจริง ๆ นั่นก็หมายความว่า เขาเพิ่งจะทำสถิติสกีกระโดดครั้งใหม่ให้กับประเทศของตัวเอง
แม้ว่าท่าทางของเขาจะดูติ๊งต๊องบ้า ๆ บอ ๆ แต่เขากลับสามารถตอบคำถามกับนักข่าวได้มีไหวพริบและมีอารมณ์ขัน ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงเป็นขวัญใจประชาชน และโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน กระทั่งร่ำรวยจนกลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลาต่อมา
แม้ว่าในปี ค.ศ. 1992 เขาจะประสบอุบัติเหตุในการแข่งขันสกีกระโดดรายการหนึ่ง จนทำให้กระดูกไหปลาร้าหัก ไตฉีก และกะโหลกร้าวก็ตาม ทว่าด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้ในการเล่นสกีถึงขั้นที่ว่า ขณะที่พักฟื้นร่างกายอยู่ เขาก็ยังอุตส่าห์ฝึกกระโดดสกีด้วยเครื่องจำลองในห้องพักของ ตัวเอง
และในระหว่างพักฟื้นตัว เมื่อมีคนถามถึงการแข่งขันครั้งนั้น เขาก็มักจะตอบอย่างภาคภูมิใจว่า “Calgary น่ะเหรอ? โอ้ มันสุดยอดมากจริง ๆ มันเป็นความใฝ่ฝนของผมตั้งแต่แปดขวบ ชีวิตของผมหลังจากนั้นก็เยี่ยมยอดมาก ผมได้ไปเที่ยวรอบโลก ไปสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง ทำเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง ได้เจอคนที่น่าสนใจหลายคน ผมไม่ยอมแลกประสบการณ์นี้ด้วยอะไรทั้งนั้น”
จนกระทั่งในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2000 Marc Lewis อาจารย์สอนสาขาจิตวิทยาคลินิกแห่ง The University of Texas at Austin ได้นำวีรกรรมของ Eddie the Eagle ไปพูดในงานกล่าวสุนทรพจน์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าทั้งหมดสามเรื่องของเขา โดยหลังจากที่เล่ารายละเอียดทั้งหมดจบลง เขาก็ได้สรุปว่า
“สิ่งที่ผมอยากจะบอกพวกคุณในคืนนี้ คือสิ่งที่ Eddie the Eagle ดูเหมือนจะรู้ดีตลอดมา นั่นคือ คุณจะมีทั้งเวลาที่คุณทำได้ และเวลาที่คุณล้มเหลว แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำได้หรือการล้มเหลว ก็ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จทั้งนั้น
ตัววัดความสำเร็จที่แท้จริงคือสิ่งที่คุณคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำ ผมจะพูดอีกแบบก็ได้ว่า วิธีที่จะมีความสุขคือชอบตัวเอง และวิธีจะชอบตัวเองคือทำเฉพาะสิ่งที่คุณภูมิใจ”
ผมจำได้ว่าช่วงเตรียมสอบตัวเองดูหนังเรื่องซ้ำไปมาหลายรอบ จนคิดอะไรขึ้นมาได้ ผมตัดสินใจโทร.บอกเล่าความจริงกับครอบครัว และเดินทางกลับไปตั้งหลักอ่านหนังสือที่บ้านในเวลาต่อมา พร้อมกับเผชิญหน้ากับคำถาม ที่ว่า
“ตอนทำงานที่ไหน”
“ได้เงินเดือนเท่าไร”
“แล้วเมื่อไหร่จะได้บรรจุเป็นครูสักที” ตามคาด
แต่ทว่าผมกลับไม่รู้สึกรู้สาอะไรอีกเลย
และตั้งหน้าตั้งตาเตรียมตัวสอบด้วยความเชื่อมั่นว่าตัวเองต้องทำได้อย่างแน่นอน
ใช่หรือไม่ว่า ไม่ว่าคนเราจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวเพียงใด สุดท้ายคนที่จะอยู่กับเราตลอดไป จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต คือ
“ตัวเรา”
วิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความมีความสุข คือ
“ชอบตัวเอง”
และวิธีที่จะชอบตัวเอง ก็คือ
“การทำเฉพาะสิ่งที่คุณภูมิใจ”
"การจะมุ่งไปข้างหน้า ต้องทิ้งบางย่างไม่เบื้องหลัง" ละทิ้งตัวตนเก่าที่เรายึดติด ปล่อยตัวเองจากเสียงรบกวนรอบข้าง
...และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างนี้ จงอย่าหยุดเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอันขาด
อ้างอิง
[1] ภาพยนตร์เรื่อง Eddie the Eagle (2016) กำกับโดย Dexter Fletcher
[2] หนังสือ "วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน" แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล
โฆษณา