15 มิ.ย. 2020 เวลา 04:57 • การศึกษา
แบบนี้ของเพื่อนบ้าน หรือ ของเรา??
-การปลูกต้นไม้ก็นำมาสู่ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายได้ เช่น การที่ผลไม้ร่วงหล่นในที่ดินข้างเคียง ใครจะเป็นเจ้าของผลไม้นั้น ต้นไม้ขึ้นในที่แนวเขต รากไม้รุกเข้าล้ำ เป็นต้น ผมขอแยกอธิบายออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ครับ
 
1.กรณีที่เกี่ยวด้วยกิ่งไม้ และรากไม้
ป.พ.พ.มาตรา 1347 บัญญัติว่า เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้
***กล่าวคือ กรณีตามมาตรานี้ไม่ใช่การที่ต้นไม้ขึ้นอยู่ตรงแนวเขตที่ดิน (มาตรา 1346) แต่เป็นกรณีต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่ดินของบุคคลอื่น แต่มีรากหรือกิ่งไม้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินเรา ซึ่งแยกเป็น 2 กรณี
**กรณีแรก หากรากไม้รุกล้ำ เจ้าของที่ดินตัดได้เอง โดยไม่ต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของต้นไม้
**กรณีที่สอง หากกิ่งไม้รุกล้ำ เจ้าของที่ดินต้องกำหนดเวลาให้เจ้าของต้นไม้ตัดเสียก่อนต่อเมื่อไม่ตัด เจ้าของที่ดินจึงจะตัดได้
เหตุผลที่ทั้งสองกรณีกำหนดไว้แตกต่างกัน ก็เพราะถือว่ารากไม้ที่รุกเข้ามาติดต่อเป็นส่วนควบกับที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงตัดได้เลย ส่วนกิ่งไม้เป็นแต่รุกแดนกรรมสิทธิ์เท่านั้น ไม่เป็นส่วนควบ เมื่อจะตัดจึงต้องมีการบอกกล่าวเสียก่อน
ตามมาตรา 1347 มิได้ห้ามเจ้าของที่ดินติดต่อใช้สิทธิทางศาล หากเป็นเพียงอนุญาตไว้ในบางกรณีอาจฉุกเฉินรีบด่วน และเจ้าของที่ดินอีกฝ่ายหนึ่งได้ละเลยเพิกเฉยต่อคำบอกกล่าวและถ้าจะไปใช้สิทธิทางศาลอาจไม่รวดเร็วทันกับความจำเป็น ก็ให้เจ้าของที่ดินได้รับความเดือนร้อนนั้นจัดการเอาเองได้โดยกฎหมายไม่ถือเป็นการละเมิด ดังนี้ หากเจ้าของที่ดินไม่บอกกล่าวให้เขาตัดกิ่งไม้ที่รุกล้ำ เจ้าของที่ดินสามารถใช้สิทธิฟ้องให้เจ้าของต้นไม้ตัดก็ได้
1
***แต่อย่างไรก็ตาม กรณีตามมาตรา 1347 ต้องเป็นเรื่องการตัดรากไม้หรือกิ่งไม้ หากเป็นการตัดต้นไม้ของผู้อื่นซึ่งเอนเข้ามาในที่ของตนโดยพลการแล้ว มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
2.กรณีเกี่ยวกับดอกผล
*ป.พ.พ.มาตรา 1348 บัญญัติว่า ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น
***กล่าวคือ กฎหมายป้องกันข้อพิพาทจึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของ เจ้าของที่ดินแปลงที่ผลไม้นั้นหล่นลง ใช้ในกรณีดอกผลหล่นตามธรรมดาเท่านั้น ถ้ามีคนเขย่าต้นไม้หรือเก็บผลไม้แล้วหล่น ไม่ต้องด้วยมาตรา 1348 นี้
- สรุป
ต้นไม้เมื่อรุกล้ำเขตแดนกรรมสิทธิ์ของเรา เราสามารถสั่งให้เจ้าของต้นไม้ตัดให้ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดถ้าเจ้าของไม่ยอมตัดเราจึงสามารถดำเนินการตัดได้เอง แต่หากส่วนของรากรุกล้ำเข้ามา เราได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิตัดได้เลย
และดอกผลที่ยื่นเข้ามาแดนกรรมสิทธิของเรา ที่ยังไม่ร่วงหล่นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าต้นไม้ ถ้าตัดหรือเก็บมามีความผิดอาญา เราจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของต้นไม้เสียก่อน หรือรอจนดอกผลนั้นหล่นมาเองเราเก็บไปได้เลยไม่มีความผิด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา