15 มิ.ย. 2020 เวลา 07:26 • ปรัชญา
ปรัชญาและการคิดเชิงวิพากษ์ : พลังในการเข้าถึงความจริง
ผู้เขียน: กานต์ ปุญสิริ
The Thinker โดย Auguste Rodin
“ความจริง” เป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตในฐานะเงื่อนไข
ในการพิจารณาว่าเราควรใช้ชีวิตแบบไหนอย่างไร สำหรับบริบทปัจจุบันนั้นความจริงหรือข้อเท็จจริงบนหน้าสื่อนั้นเป็นข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราในฐานะสิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นไปของสังคมที่เราอาศัยอยู่
Laura D’Olimpio (2019, online) อาจารย์ด้านปรัชญาการศึกษาจาก University of Birmingham กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายนั้น การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) จะเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการแยกแยะความจริงออกจากความลวง และนำไปสู่การส่งเสริมสิ่งที่ถูกต้องและความยุติธรรมในท้ายที่สุด
Joe Lau (2011, p.1-2) กล่าวว่าการคิดเชิงวิพากษ์คือทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเพื่อตรวจสอบความคิด ความเชื่อ จนนำไปสู่การตัดสินใจลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่าง การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยยกระดับจากการ “รับรู้” ไปเป็นการ “เข้าใจ” สิ่งต่างๆ โดยเชื่อมโยงได้ว่า เกิดอะไรขึ้น? ทำไมสิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น? ส่งผลกระทบอย่างไร? ฯลฯ การขบคิดไปกับคำถามเหล่านี้จะช่วยสลายภาพที่ถูกปรุงแต่งและนำเสนอเพื่อก้าวเข้าไปสู่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังหรือ “ความจริง” (truth) ได้
ความพยายามในการเข้าถึงความจริงเบื้องหลังสิ่งต่างๆ นี้เองก็เป็นท่าทีของการศึกษาเชิงปรัชญา (discipline of philosophy) เพราะปรัชญาเกิดขึ้นจากความพยายามในการแสวงหาว่าอะไรคือความจริงที่สามารถยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตได้ งานหนึ่งของนักปรัชญาจึงเป็นการตรวจสอบความคิดและความเชื่อในกระแสของสังคมโดยการนำเสนอแนวคิดและวิธีการใหม่ของตนเอง ในแง่นี้ การศึกษาปรัชญาจึงเป็นการเสริมสร้างพลังความสามารถในการคิดได้เป็นอย่างดีเนื่องจากการศึกษาปรัชญานั้นจะพาเราไปสำรวจประวัติศาสตร์ความคิดซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องมือและเทคนิควิธีการคิดเชิงวิพากษ์จากนักปรัชญาในแต่ละยุคสมัย (D’Olimpio, 2019, online)
ทั้งนี้ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าทักษะ (skill) นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนและใช้ซ้ำ เป็นความรับผิดชอบของตัวปัจเจกไม่สามารถหยิบยื่นส่งผ่านให้แก่กันได้ ดังนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญของการฝึกคิดเชิงวิพากษ์คือเราจะต้องรู้จักเริ่มคิดตั้งคำถามตัวเองเสียก่อน ในทำนองเดียวกันการศึกษาปรัชญาจึงไม่ใช่เพียงการท่องจำแนวคิดหรือวิธีการของบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย แต่จะต้องคิดตามเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาอย่างเป็นระบบด้วย บริบทดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนได้ค่อยๆฝึกฝนทักษะการคิดไปทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการอธิบายปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันและนำเสนอแนวคิดได้ผ่านกระบวนการคิดตัวเอง นำไปสู่การมีชีวิตที่มั่นคงไม่หลงไปตามกระแสความคิดและความเชื่อของสังคมซึ่งมักจะปิดบังเราจากความจริงและความผิดปกติอยู่เสมอ
โฆษณา