16 มิ.ย. 2020 เวลา 01:45 • ธุรกิจ
สูตรลับ! 15 วิธี สร้างแฟรนไชส์ ใน 30 วัน
หลายธุรกิจที่อยากจะเติบโตอย่างรวดเร็ว มักหยิบเอาโมเดลแฟรนไชส์มาเป็นตัวเร่งการเติบโต แต่ก็ไม่ใช่ว่าคิดอยากจะทำก็จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะแฟรนไชส์ที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งนั้น ต้องผ่านการวางรากฐานที่แข็งแรงด้วย ตั้งแต่วิธีคิด กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ร้านต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงรู้จักการบริหารความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง
 
วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com มีสูตรลับ! สำหรับการสร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ หรือทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ภายใน 30 วัน เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกิจการขนาดเล็ก หรือเจ้าของธุรกิจที่กำลังอยากขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์
 
1.ประเมินความเป็นได้ของธุรกิจ
อย่าคิดว่าทุกธุรกิจสามารถทำเป็นแฟรนไชส์ได้ คิดจะขายแฟรนไชส์ก็ขายได้ทันที ธุรกิจที่จะทำเป็นแฟรนไชส์และขายสิทธิให้กับคนอื่นได้นั้น ต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้า
 
เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นกิจการที่มีผลกำไรมาแล้ว มีร้านสาขาอยู่บ้าง มีอายุธุรกิจนานพอที่จะสามารถนำเอาเทคนิคและรูปแบบบริหารมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ และมีการสร้างทีมงานที่มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์
 
ดังนั้น ก่อนที่คุณคิดจะนำธุรกิจไปขายแฟรนไชส์ ต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจ ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อยู่ในระดับไหนแล้ว เพราะการขายแฟรนไชส์ต้องมีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย อาจต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เรียกได้ว่าต้องวางรูปแบบของธุรกิจ กำหนด Concept ของธุรกิจให้คนรู้จัก ดึงดูดลูกค้าได้
2.สร้างธุรกิจให้โดนใจลูกค้า
ธุรกิจของเราต้องครองใจลูกค้าให้ได้เสียก่อน ถ้าธุรกิจเรายังไม่ใช่สำหรับลูกค้า มันก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะดึงลูกค้าเข้ามาในร้าน การที่จะขยายสาขาแฟรนไชส์ต่อไปได้นั้นเราต้องได้ใจของลูกค้าด้วย การสร้างธุรกิจที่ได้ใจลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำได้ถูกต้องเราก็ไม่ต้องกลัวว่าต่อไปจะพลาด อย่าให้เราต้องเสียเวลาต้องกลับมาแก้ไขปัญหาภายหลัง คงไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไหร่
 
3.หาความรู้ระบบแฟรนไชส์
การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ก่อนอื่นคุณต้องมีความรู้และมีทีมงานที่มีความอดทน และมีความเข้าใจระบบงานแฟรนไชส์ในระดับดีพอสมควร เพราะการทำแฟรนไชส์เกี่ยวข้องกับการเงิน การตลาด ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ ค่าสิทธิต่อเนื่อง การสนับสนุนแฟรนไชส์ สัญญาแฟรนไชส์ คู่มือปฏิบัติการแฟรนไชส์ ฯลฯ หากไม่รู้เรื่องเหล่านี้ก็ทำแฟรนไชส์ไม่ได้
 
สำหรับใครที่อยากหาความรู้ในเรื่องแฟรนไชส์ สมัครคอร์สเรียนแฟรนไชส์สตาร์ทอัพ https://bit.ly/2AXHJjd
4.การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ก็คือ การจดสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้า (ตราสินค้า) เมื่อให้สัญญาแฟรนไชส์แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์แล้ว สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้า ก็จะถูกผู้ซื้อแฟรนไชส์นำไปใช้ดำเนินธุรกิจด้วย พร้อมกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี หรือมาตรฐานที่ดีของการให้บริการที่จะต้องควบคู่ไปพร้อมกับ การดำเนินธุรกิจดังกล่าวนั้นด้วย
 
5.การสร้างร้านต้นแบบแฟรนไชส์
การสร้างร้านต้นแบบขึ้นมา ก็เพื่อนำมาศึกษาหาข้อดีข้อเสียของธุรกิจที่คุณกำลังทำ ว่ามีความสามารถเพียงใด ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งเท่าใด ระบบการขายอย่างไร ระบบเก็บเงินอย่างไร หลายๆ อย่างจะได้จากร้านต้นแบบ แต่ถ้าคุณมีร้านอยู่แล้ว ก็ต้องสร้างระบบควบคุมให้รัดกุม และ เป็นระบบที่สามารถกระจายการทำได้อย่างมีหลักมีเกณฑ์
 
6.สร้างระบบการจัดการ และการอบรม
 
เจ้าของธุรกิจที่จะทำแฟรนไชส์ จะต้องสร้างระบบการปฏิบัติงาน และการฝึกอบรม หรือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดร้านจะต้องปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ทั้งการผลิต การขาย การจัดการ เป็น ดังนั้น การอบรม จึงเป็นวิธีการพื้นๆ แต่ได้ผลในการทำให้ระบบงานทั้งระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
7.การเขียนสัญญาแฟรนไชส์
ภาพจาก pixabay.com/
เจ้าของธูรกิจที่จะทำแฟรนไชส์ จะต้องมีการเขียนสัญญาแฟรนไชส์ เพื่อเป็นแนวทางให้แฟรนไชส์นำไปปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นกฎปฏิบัติของแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และห้ามทำอะไรบ้าง ใครไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็สามารรฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย เจ้าของธุรกิจอาจจะต้องจ้างทนาย หรือผู้เชี่ยวชาญในการร่างสัญญานี้ขึ้นมา
 
8.การจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบ
 
เมื่อขายแฟรนไชส์ได้แล้ว เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องทำหน้าที่จัดส่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะขายแฟรนไชส์ เจ้าของธุรกิจจะต้องหาแหล่งผลิตวัตถุดิบ หรือซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่มีคุณภาพ ที่สำคัญการจัดซื้อวัตถุดิบจากแหล่งใดก็ต้องหา Supplier ที่สามารถควบคุมคุณภาพให้เราได้ด้วยเช่นกัน
 
9.การจัดการเรื่องการรับ-ส่งวัตถุดิบ
คุณต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่การรับสินค้าจาก Supplier การเก็บเข้าคลัง และการกระจายสินค้าออกไปสู่ แฟรนไชส์ซี การจัดทำ Packaging ที่ทำจากเครื่องเลย ก็มีส่วนช่วยให้ลดแรงงานลงไปได้เช่น น้ำจิ้ม หรือ สูตรสำเร็จที่จะใส่ในน้ำซุปเป็นต้น
 
10.ตั้งราคาขายวัตถุดิบให้แฟรนไชส์ซี
 
ราคาวัตถุดิบที่จะขายนั้น ควรจะเป็นราคาที่ไม่สูง หรือ ต่ำจนเกินไป ต้องรับรู้ว่าจริงๆ แล้ว เราต้องการสิ่งเหล่านี้ไปโดยตลอด เป็นรายได้หลักของเราที่จะเข้ามาทุกวัน หากคุณภาพและราคาไม่เหมาะกันแล้ว คุณอาจจะเสียลูกข่ายไปได้ง่ายๆ หรือ แฟรนไชส์ซี อาจจะไปซื้อของอย่างอื่นที่คุณภาพใกล้เคียงมาใช้แทน คุณก็จะเสียรายได้หลักไปโดยปริยาย
11.การวางแผนด้านการตลาด
การวางแผนการตลาดที่จะสนับสนุนการยอมรับตราสินค้าได้อย่างดี ทั้งด้านการสร้างตราธุรกิจ การสร้างลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค รองรับการขยายของธุรกิจที่มีสาขามากขึ้น การตลาดที่ว่านี้ จะต้องรวมถึงการนำเสนอธุรกิจให้กับนักลงทุนได้อย่างดี น่าสนใจมากพอ ผู้ที่เป็นลูกค้าประจำของเราเองก็อาจจะ มีโอกาสที่จะกลายมาเป็นแฟรนไชส์ซีของเราต่อมาก็ได้
 
12.วิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน
 
ร้านต้นแบบจะเป็นตัวช่วยในการวางโครงสร้างทางการเงิน เช่น ถ้าการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี
 
และคุ้มไหมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะมีความสำคัญต่อการกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) ด้วย
 
13.สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก
หากคุณคิดจะทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องลองสำรวจตลาดก่อนว่า แบรนด์สินค้าและบริการธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าคนไม่รู้จัก ธุรกิจคุณก็ไม่สามารถขายแฟรนไชส์ได้
 
แบรนด์จะเป็นหน้าตาของธุรกิจคุณ เมื่อขายให้แฟรนไชส์ซีไปแล้วแบรนด์นั้นก็จะติดไปด้วย ถ้าลูกค้ารู้จักแบรนด์คุณมาก่อน ก็จะทำให้แฟรนไชส์ซีขายสินค้าได้เหมือนกับคุณ ไม่ว่าจะไปตั้งร้านอยู่ที่ไหนก็ตาม นั่นก็จะสร้างความมั่งคงกลับมาให้กับธุรกิจคุณด้วย ดังนั้น การสร้างแบรนด์อาจจำเป็นต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ หรือออกงานแสดงสินค้าร่วมด้วย
 
#ลงโฆษณาประชาสัมพันธ์แฟรนไชส์ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
 
14.จัดทำคู่มือปฏิบัติการแฟรนไชส์
ระบบแฟรนไชส์จำเป็นต้องมีคู่มือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับร้านต้นแบบ คู่มือดังกล่าวจะเป็นไกด์หรือรูปแบบการบริหารธุรกิจ ที่คุณจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมานานให้แก่ผู้อื่น ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง
 
คู่มือนี้จะสามารถควบคุมให้การบริหารงานในระบบแฟรนไชส์ได้ง่ายและราบรื่นขึ้น ไม่ว่าคุณจะขายแฟรนไชส์กี่สาขา ทุกสาขาก็จะยึดแนวทางการบริหารธุรกิจและบริการในรูปแบบเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
ถ้าคุณต้องการที่จะทำแฟรนไชส์ ต้องอย่าลืมจัดทำคู่มือการดำเนินงานธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การตกแต่งร้าน การทำตลาดและประชาสัมพันธ์ โปรโมชั่นต่างๆ การบริหารจัดการด้านการเงิน บริหารสต็อก เป็นต้น
 
15.สร้างระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี
เจ้าของกิจการที่จะสร้างแฟรนไชส์ ต้องมีการสร้างระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ ทั้งการสนับสนุนก่อนเปิดร้าน และหลังเปิดร้าน โดยก่อนเปิดร้านจะเป็นการออกแบบตกแต่งร้าน การฝึกอบรมพนักงานทั้งในบริษัท และช่วงก่อนเปิดร้าน 4-5 วัน ส่วนการสนับสนุนหลังเปิดร้าน ก็จะเป็นการตรวจเยี่ยมเยี่ยมสาขาแฟรนไชส์ ว่าเดือนหนึ่งๆ จะออกไปตรวจกี่ครั้ง
 
รวมถึงการจัดส่งวัตถุดิบให้แฟรนไชส์จะต้องจัดส่งอย่างไร เพื่อไม่ให้ของขากมในร้านแฟรนไชส์ซี รวมถึงให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาการดำเนินธุรกิให้แฟรนไชส์ซีตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ ระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
ทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการสร้างธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ซึ่งจริงๆ แล้วหลักการสร้างระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่อยู่ๆ จะลุกขึ้นมาเปิดขายแฟรนไชส์กันเลย คุณต้องทำการศึกษาระบบและกระบวนการแฟรนไชส์ให้เข้าใจถ่องแท้
 
นอกจากจะสร้างธุรกิจให้มีชื่อเสียงในตลาดแล้ว ลูกค้าชื่นชอบ คุณอาจจะต้องเข้าคอร์สและผ่านอบรมการทำธุรกิจแฟรนไชส์จากสถาบันที่เกี่ยวข้อง หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างมาตรฐานแฟรนไชส์ด้วยเช่นกัน
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
Franchise Tips
1.ประเมินความเป็นได้ของธุรกิจ
2.สร้างธุรกิจให้โดนใจลูกค้า
3.หาความรู้ระบบแฟรนไชส์
4.การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
5.การสร้างร้านต้นแบบแฟรนไชส์
6.สร้างระบบการจัดการ และการอบรม
7.การเขียนสัญญาแฟรนไชส์
8.การจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบ
9.การจัดการเรื่องการรับ-ส่งวัตถุดิบ
10.ตั้งราคาขายวัตถุดิบให้แฟรนไชส์ซี
11.การวางแผนด้านการตลาด
12.วิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน
13.สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก
14.จัดทำคู่มือปฏิบัติการแฟรนไชส์
15.สร้างระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี
โฆษณา