16 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ใครเป็นต้นคิด? คำว่า 'Boycott' และ 'การคว่ำบาตร' เกิดขึ้นมาได้ยังไง
คำว่าบอยคอต (Boycott) หรือการคว่ำบาตรในภาษาไทย คือการตัดความสัมพันธ์ทุกกรณีเพื่อเป็นการลงโทษ ต่อรอง หรือตักเตือน เคยสงสัยหรือไม่ว่าที่มาของทั้งสองคำนี้มาจากไหน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ที่มาของคำว่าบอยคอตในภาษาอังกฤษต้องย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1880 ณ เวลาที่ไอร์แลนด์ยังมีปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินอยู่ กัปตันชาวอังกฤษนามว่าชาร์ลส์ บอยคอต(Charles Boycott) เป็นผู้จัดการของลอร์ดเอิร์นในธุรกิจที่ดินให้เช่าแก่เกษตรกรจำนวนมากในไอร์แลนด์ ในช่วงปีนั้นผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามที่ต้องการ ลอร์ดเอิร์นผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้เสนอปรับลดราคาค่าเช่าลงให้ 10% แต่เกษตรกรผู้เช่าที่ดินยืนยันว่ามันไม่เพียงพอ พวกเขาต้องการค่าเช่าลดลงที่ 25% ทางลอร์ดเอริ์นนั้นยืนกรานว่าอย่างไรก็ตามไม่สามารถลดราคาค่าเช่าให้ได้ ชาร์ลส์ บอยคอตที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการจึงขับไล่ผู้เช่าออกไปจากที่ดิน
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เช่าที่ดินเป็นอย่างมากจึงได้มีการประท้วงเกิดขึ้น แต่ชาร์ลส์ พาแนล (Charles Parnell) ผู้นำการประท้วงเรื่องการจัดการที่ดินของไอร์แลนด์มองว่าแทนที่จะประท้วงด้วยความรุนแรง เราควรใช้มาตรการอย่างอื่นจะดีกว่า จึงมีการเสนอให้ชุมชนร่วมกันเลิกติดต่อ ไม่ให้ความสนใจกับชาร์ลส์ บอยคอต ไม่คบค้าสมาคมด้วยในทุกช่องทางที่จะทำได้และเมื่อคนในชุมชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ชาร์ลส์ บอยคอตก็กลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ ไม่มีคนงานมาทำงานให้ นักธุรกิจท้องถิ่นก็ไม่ทำธุรกิจด้วย บุรุษไปรษณีย์ไม่ยอมส่งจดหมายให้เขา แม้แต่อาหารก็ยังหาซื้อได้ยาก
WIKIPEDIA PD
ด้วยพลังของความร่วมมือจากทุกคนทำให้ธุรกิจของเขาเกิดชะงักจนต้องไปจ้างคนงานจากต่างเมืองมาทำงานแทน และต้องจ้างตำรวจมารักษาความปลอดภัยในการเข้าไปยังที่ดินของตัวเอง ซึ่งค่าจ้างเหล่านี้มันมากกว่าที่เขาขายผลผลิตได้เสียอีก จนในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเองเขาจึงหนีไปยังที่ดับลินซึ่งก็ยังถูกต่อต้าน ธุรกิจของใครก็ตามที่มาทำร่วมกับเขาก็จะถูกรังเกียจและเจอการต่อต้านในรูปแบบเดียวกันด้วย
ต่อมาคำว่า Boycott ในความหมายถึงการเลิกคบหาสมาคมด้วยจึงถูกใช้กันไปทั่วในยุโรปและมันก็ได้กระจายไปสู่อเมริกาและทั่วโลก
MAYO COUNTY LIBRARY
บอยคอตในภาษาไทยนั้นคือคำว่า “คว่ำบาตร” มีที่มาจากการที่พระสงฆ์ลงโทษฆราวาสที่ไม่ปรารถนาดีต่อพระรัตนตรัย หากใครมีพฤติกรรมนี้พระสงฆ์จะประชุมแล้วประกาศไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่รับบิณฑบาต ไม่รับกิจนิมนต์ เครื่องใช้ อาหารที่นำมาถวาย แต่หากฆราวาสสำนึกผิดก็จะประกาศเลิกคว่ำบาตรกลับมาคบหาสมาคมดังเดิม หรือเรียกว่า “หงายบาตร” นั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
โฆษณา