15 มิ.ย. 2020 เวลา 14:55
โพสต์เดียวครบ...อัพเดตความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ
เส้นไหนจะได้ใช้ เส้นไหนพร้อมสร้าง ทั้งเฟส 1 และ เฟส 2
ถ้าช่วงนี้ผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟติดๆ กันหลายโพสต์ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันนะ เพราะว่าช่วงนี้มันมีอัพเดตโครงการต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นความคืบหน้าได้เป็นรูปธรรมที่สุดโครงการหนึ่ง และเหมือนข่าวช่วงนี้มันดูลงล็อคพอดีเป๊ะเลยสำหรับเรื่องของรถไฟ ที่วันก่อนผมเขียนเรื่องการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แล้ววันนี้ก็มีความคืบหน้าของบริษัทที่เป็นผู้รับเหมานำภาพการก่อสร้างตอม่อทางยกระดับของรถไฟเส้นนี้มาลง ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับที่ผมเคยยกตัวอย่างในโพสต์ก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นว่าการก่อสร้างกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
อีกเรื่องก็คือวันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ออกมาแจ้งความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (เฟส 2) ทั้งหมด 7 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,483 กม.วงเงินก่อสร้างกว่า 2.67 แสนล้านว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเร่งปรับปรุงแก้ไขรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทุกเส้นทาง ก่อนจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภายในสิ้นเดือนนี้ และส่งต่อให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติพิจารณาไม่เกินช่วงเดือนกันยายนนี้ เรียกว่าข่าวรถไฟมาแบบรัว ๆ กันในช่วงนี้เลยทีเดียว
🔴 รถไฟทางคู่เฟส 2 ทั้ง 7 เส้นทางที่จะก่อสร้างนั้นตอนนี้ผ่าน EIA แล้ว 2 เส้นทางคือ
🔹 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย : ระยะทาง 167 กม. วงเงินก่อสร้าง 2.58 หมื่นล้านบาท
🔹 ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ : ระยะทาง 45 กม. วงเงินก่อสร้าง 7.86 พันล้านบาท
🔴 เส้นทางที่เหลือที่รอการผ่าน EIA ได้แก่
🔹 ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย : ระยะทาง 285 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.93 หมื่นล้านบาท
🔹 ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี : ระยะทาง 308 กม. วงเงินก่อสร้าง 3.66 หมื่นล้านบาท
🔹 ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี : ระยะทาง 168 กม. วงเงินก่อสร้าง 2.3 หมื่นล้านบาท
🔹 ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา : ระยะทาง 321 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.61 หมื่นล้านบาท
🔹 ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ : ระยะทาง 189 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.79 หมื่นล้านบาท
🔴 เส้นทางรถไฟทางคู่อีก 2 เส้นทางใหม่ ที่หลายคนรอมานานก็มีความคืบหน้าการดำเนินโครงการแล้ว คือ
🔹 สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ : ระยะทาง 323 กม. วงเงินก่อสร้าง 7.29 หมื่นล้านบาท
🔹 สายบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม : ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.46 หมื่นล้านบาท
ระยะทางรวม 678 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1.27 แสนล้านบาท ขณะนี้ผ่านการอนุมัติโครงการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดย รฟท. อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา และที่ปรึกษาการเวนคืนที่ดิน ซึ่งสายเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ ได้ที่ปรึกษาฯ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียดการประกวดราคาหรือ TOR คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณเดือนตุลาคมนี้
🔴 ส่วนระบบรถไฟทางคู่เฟส 1 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและให้บริการไปแล้วมี 2 เส้นทาง คือ
🔹 ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า – แก่งคอย
🔹 ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น
🔴 ปี 2564 จะเปิดให้บริการสำหรับสายใต้
🔹 ช่วงนครปฐม – ชุมพร
🔴 ปี 2565 จะเปิดให้บริการสำหรับสายเหนือ
🔹 ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ
นี่คือข้อมูลความคืบหน้าล่าสุดสำหรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศทั้งเฟส 1 และ เฟส 2 ที่สรุปมาให้ได้อัพเดตข้อมูลกัน ส่วนโพสต์หน้าจะพาไปทำความรู้จักกับระบบรถไปแบบใหม่ที่จะนำมาให้บริการกับผู้โดยสาร ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะได้ใช้รถไฟใหม่ระบบนี้จำนวน 186 คัน และมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของรถไฟไทย ที่พลิกโฉมหน้าการเดินทางด้วยระบบรางทางไกลของประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารและคนไทยมองภาพลักษณ์ของรถไฟไทยเปลี่ยนไป (สำหรับคนที่ตามข่าว และเปิดใจไม่ยึดติดกับภาพเก่าๆ) รออ่านกันตอนต่อไป เพราะถ้าเขียนยัดไปในนี้คือยาวเกินแน่ๆ
โฆษณา