15 มิ.ย. 2020 เวลา 16:23 • ปรัชญา
ทำไมอายุปูนนี้ ยังเอาตัวไม่รอดอีก?
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปฟัง
หลวงพ่อองค์หนึ่ง ท่านเทศนาธรรม
หลวงพ่อท่านตั้งคำถามว่า
คนเราอายุเท่าไรถึงจะสามารถทำมาหากิน
เลี้ยงดูตัวเอง เอาตัวรอด พึ่งพาตัวเองได้
ญาติโยมบางท่าน ตอบ ๒๐-๓๐ ปี
หลวงพ่อจึงเฉลยว่า
เอาจริงๆ มันก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับ
เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ของบุคคลเหล่านั้น
โดยทั่วไปตามความเหมาะสมของช่วงอายุ
ประมาณ ๒๕-๓๐ ปีน่าจะเหมาะสม
และหลวงพ่อได้ตั้งข้อสังเกตว่า
ทำไม คนบางคน อายุ ๔๐-๕๐ หรือ ๖๐ปี
ก็ยังทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้
พึ่งพาตัวเองก็ไม่ได้ ขาดความมั่นคง
ก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะอะไร?
รู้หรือไม่ว่า เหตุปัจจัยสำคัญ อะไร?
ที่ทำให้คนเรา ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้
พึ่งพาตัวเองได้ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่
ที่สุขสบาย มีความมั่นคง ปลอดภัยได้
ผมและญาติโยมท่านอื่น.......(เงียบ)
ต่างก็ไม่มีสัญญาณตอบรับ
ซึ่งในความเป็นจริงของชีวิตนั้น
มันมี เหตุปัจจัย ประกอบมากมาย
ที่เชื่อมโยง ส่งผลต่อกัน
แต่วันนี้จะขอหยิบยกเอาเฉพาะ
เหตุปัจจัย ที่สำคัญที่สุด
ที่ส่งผลต่อชีวิต มากที่สุด และ
อยู่ในวิสัยที่เราสามารถ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ลงมือทำได้ด้วยตัวเอง มากที่สุด
วันนี้หลวงพ่อขอมุ่งเป้าไปที่
การฝึกฝนพัฒนาตนเอง อยู่ตลอดเวลา
ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
ที่เราจำเป็นต้องทำ อย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเราไม่ทำ นั่นหมายถึง เราได้ทำผิด
ต่อ ธรรมชาติของตัวเอง
ส่งผลร้าย เสียหาย ทำให้พึ่งพาตัวเองไม่ได้
ชีวิตขาดความมั่นคง ปลอดภัย หาความสุขไม่ได้
นอกจากนี้ การฝึกฝนพัฒนาตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ
ยังเป็น สาเหตุ ที่ทำให้คนเรา มีชีวิตความเป็นอยู่
ที่แตกต่าง รวย จน สุข ทุกข์ เก่งกาจ ไม่เท่ากัน
ตามธรรมชาติแล้ว
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนตัวเองได้
และ จำเป็นต้องได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าไม่ฝึกจะแย่ยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย
เพราะสัตว์หากินเองได้ โดยไม่ง้อเงินเดือน
ไม่กลัวตกงาน สัตว์ไม่เคยกลัวความจน
เพราะสัตว์ไม่ต้องส่งเสียลูกเรียนหนังสือ
มนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี
ฝึกตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องตลอดเวลา
จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต
จะฝึกให้เลิศประเสริฐ มากยิ่งขึ้นเพียงใดก็ได้
ความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรม
และ เทคโนโลยี ที่ล้ำยุค
คือเครื่องพิสูจน์ การเรียนรู้ฝึกฝนของมนุษย์
การฝึกฝนพัฒนาตัวเอง คือ
การเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนา ทักษะความรู้
ทักษะความสามารถ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินชีวิต
ทักษะการดำเนินชีวิต แยกออกเป็นด้านต่างๆได้แก่
๑. การแก้ไขปัญหา ฝึกทักษะให้แก้ปัญหาเป็น
ฝึกฝนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ แยกแยะปัญหา
สืบสาวหาเหตุปัจจัย ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อกัน
สืบค้นหาต้นตอ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
๒. การลงมือทำ ฝึกทักษะให้ ทำเป็น พูดเป็น คิดเป็น
ฝึกฝน พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ใจ(คิด)
ฝึกการพูด ฝึกสื่อสาร ให้ดีงามเป็นประโยชน์
ฝึกทักษะการลงมือทำสิ่งต่างๆ ให้หลากหลาย
เช่น เขียนหนังสือ ตัดผม ขับรถ ขับเรือ ทำอาหาร
ทำขนม ซ่อมแซม ฝึกทักษะวิชาชีพต่างๆ
ฝึกการใช้ความคิด ฝึกคิดให้เป็นระบบ ระเบียบ
คิดให้เป็นวิธี คิดให้หลากหลายแง่มุม
คิดสืบค้นหาความจริง คิดหาประโยชน์ที่ไม่มีโทษ
๓. การรับรู้ ฝึกทักษะ การรับรู้ เพื่อ การเรียนรู้
ฝึกฝนการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
โดยมุ่งฝึกให้ การรับรู้ เป็นไปเพื่อ การเรียนรู้
รับรู้เพื่อเป็นข้อมูล เป็นความรู้ เป็นประโยชน์
ต่อชีวิตจิตใจ
ไม่รับรู้ในทางมุ่ง สนองกิเลส ตัณหา อารมณ์
ไม่รับรู้ตามความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ
๔. การเสพบริโภค ฝึกทักษะ กินเป็น อยู่เป็น ใช้เป็น
ฝึกฝน การกิน การเสพ การบริโภค
อาหาร วัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ เทคโนโลยี
สิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ
ให้เป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เป็นประโยชน์ ต่อชีวิต
ไม่ใช่เสพ บริโภค เพื่อสนองความโก้เก๋ แข่งขัน
สนองค่านิยม อวดรวย หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ
สนองกิเลส ตัณหา
ซึ่งการฝึกทักษะ ทั้ง ๔ ด้านนี้
แก้ปัญหาเป็น / คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น/
รับรู้เป็น / กินอยู่เสพใช้สอยเป็น
ที่รวมกันเป็น ทักษะการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
นี่คือทักษะสำคัญของตัวเรา
ที่เราจะต้อง ฝึกฝนพัฒนามันตลอดเวลา
หากเราต้องการ ประสบความสำเร็จในชีวิต
เป็นอยู่อย่างสุขสบาย มั่นคง ปลอดภัย จาก"ทุกข์"
"การรู้จักคิด/คิดเป็น" จะเป็นแกนสำคัญ ของ
การฝึกฝนพัฒนาตัวเอง
ถึงบรรทัดนี้ คงจะตอบคำถามของหลวงพ่อได้แล้ว
ว่าทำไมคนที่อายุ ๔๐-๕๐ หรือ ๖๐ ปี จำนวนมาก
ถึง ไม่สามารถหากินเลี้ยงดูตัวเองได้ เอาตัวไม่รอด
ไม่มีความมั่นคงในชีวิต พึ่งพาตัวเองไม่ได้
เพราะ เขาหยุดการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง
เขาทำผิดต่อธรรมชาติ ของตัวเอง
โฆษณา