16 มิ.ย. 2020 เวลา 08:22
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
acta exteriora indicant interiora secreta
1
"กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฎหมาย ซึ่งตรงกับพุทธศาสนสุภาษิตว่า "เจตนาหํ กมฺมํ วทามิ" แปลว่า "เจตนานั่นแหละเป็นกรรม" อันมาจากพุทธพจน์ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ, เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรมิ กาเยน วาจาย มนสา" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมกระทำกรรมโดยทางกาย วาจา ใจ"
ภาษิตนี้เป็นหลักกฎหมายอาญา ไว้สำหรับพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยเพื่อกำหนดฐานความผิดของจำเลย โดยพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ และยังใช้แยกเจตนาฆ่าออกจากเจตนาทำร้าย เพราะเจตนาฆ่าย่อมมีโทษหนักกว่าเจตนาทำร้าย ทั้งนี้ เนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าหรือเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้นจึงต้องถือหลักว่า "การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" นั่นเอง
ในประเทศไทย ศาลมีการพิจารณาจำแนกเจตนาฆ่าและเจตนาทำร้ายออกจากกันโดยอาศัยพฤติการณ์ต่าง ๆ อาทิ พิจารณาอาวุธที่ผู้กระทำความผิดใช้ อวัยวะที่ผู้กระทำความผิดกระทำต่อ บาดแผลที่เกิดจากการกระทำนั้น เป็นต้น
ฎ. 1085/2510 ว่า ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธ ได้เข้าโรมรันซึ่งกันและกันโดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันแทงในที่สำคัญ ทั้งสองคนมีบาดแผลรวมเจ็ดแห่งด้วยกัน ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนโดยเจตนา
เกียรติก้อง กิจการเจริญดี. (ม.ป.ป.). กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา : Acta exteriora indicant interiora secreta.
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. (2540). คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. (พิมพ์ครั้งที่ 5, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ประยงค์ สุวรรณบุบผา. (2543). กรรม (12) : เอกสารนำอภิปรายปัญหาธรรมะในพระพุทธศาสนา. [ออนไลน์].
โฆษณา