16 มิ.ย. 2020 เวลา 11:04 • การศึกษา
“หมั่นฝึกฝนและอดทนรอคอยโอกาส”
ใช่หรือไม่ว่า การที่เราจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งนั้น อัตราเร็วของการพุ่งทะยาน อาจไม่สำคัญเท่ากับทิศทางที่เรากำลังจะมุ่งไป ซึ่งหากเราเอาแต่เร่งรุดไปให้ถึงจุดหมายถ่ายเดียว โดยไม่สนใจทิศทางเลย ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับเสีย
กล่าวสำหรับการเตรียมตัวสอบครูผู้ช่วยก็เช่นกันครับ อย่างที่ผมได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่า หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว วิธีการ และวินัยจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ จากนั้นหน้าที่ของเราก็เพียงแค่ควบคุมตนเองให้อยู่ในเส้นทางที่วางเอาไว้ ด้วยการหมั่นฝึกฝนและอดทนรอคอยโอกาสให้ได้
ในช่วงเตรียมตัวสอบ เมื่อใดก็ตามที่ผมพบว่าตนเองคร่ำเคร่งอยู่กับการอ่านหนังสือมากจนเกินไป ผมจะมีช่วงเวลาพักยกให้กับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะดูหนังแล้ว ผมก็มักจะเข้า YouTube เพื่อฟังลิสต์เพลงโปรดทั้งไทยและเทศ
เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียดสะสมยาวนาน ซึ่งเพลงโปรดของผม มีอยู่ด้วยกันหลากหลายแนวด้วยกัน อาทิ เพลง Lost Stars ของ Adam Levine, All My Days ของ Alexi Murdoch, ผู้ชนะ ของ เสกสรรค์ ศุขพิมาย (วง LOSO), เราไม่ต่างกัน ของวง 25 hours และมูซาชิ/Musashi ของ Boy Imagine เป็นต้น
ในบรรดาเพลงโปรดทั้งหลายแหล่ที่ว่ามานี้ ผมมักจะฟัง มูซาชิ/Musashi ของ Boy Imagine เป็นอันดับแรกอยู่เสมอ เหตุผลก็เพราะว่า เนื้อหาของเพลงพูดถึงการฝึกตนเองของนักดาบผู้มีนามว่า ‘มิยาโมโต้ มูซาชิ’ สุดยอดซามูไรไร้พ่ายแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ผู้ที่ผมรักและศรัทธาในวิถีชีวิตของเขา
“เพราะชีวิตนักรบอย่างข้า เกิดขึ้นในตอนเช้า แต่ไม่อาจล่วงชะตากรรมในยามเย็น ดวงดาวที่พราวพร่างบนฟ้า ประกายจันทราสาดแสงส่อง ในมือข้าจึงมีเพียงดาบเดี่ยว ใจข้ามีเพียงความเดียวดาย ยอมโดดเดี่ยว เพื่อดาบเดี่ยว อย่างเด็ดเดี่ยว แม้ต้องเดียวดาย”
เป็นวรรคทองที่ผมชอบมากที่สุด เพราะมันสะท้อนวิถี และจิตวิญญาณของการฝึกตนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งแง่เนื้อหาและด้านอารมณ์ความรู้สึก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทุกครั้งที่ฟังเพลงนี้ เนื้อหาและท่วงทำนองของมัน มักจะผลักดันห้วงอารมณ์ของผมให้เข้าสู่วิถีของการแสวงอย่างไม่รู้ตัว
กล่าวสำหรับ ‘มิยาโมโต้ มูซาชิ’ เขาผู้นี้ คือบุคคลที่มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เขาเป็นนักดาบที่กล่าวได้ว่า มีชื่อเสียงมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อีกทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์ตำราที่ว่าด้วยกลยุทธ์การต่อสู้ในชื่อ The Book of Five Rings หรือ ‘คัมภีร์ห้าห่วง’ ในภาคภาษาไทย
ว่ากันว่าในปี ค.ศ.1600 เมื่อครั้งที่เขามีอายุเพียง 17 ปี เขาได้ขออาสาเข้าร่วมทำสงครามระหว่าง ‘กลุ่มโตกูกาวา’กับ‘โอซาก้า’ ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของสองขั้วอำนาจที่กำลังแย่งชิงกัน เพื่อที่จะสถาปนากลุ่มของตนเองให้เป็นใหญ่ในแผ่นดินญี่ปุ่น ณ สมรภูมิรบทุ่งเซกิกาฮาราในฐานะทหารเลวคนหนึ่ง
ทว่าเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อฝ่ายที่เขาเข้าร่วมเป็นฝ่ายปราชัย บรรดาทหารที่เหลือรอดพากันหนีตายแตกสานซ่านเซ็นไปทั่วสารทิศ และต่างถูกตามล่าจากทหารของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ยอมลามือ โดยระหว่างทางนั้น เขาและสหายก็ต้องพานพบกับอุปสรรคและภยันตรายมากมายนานัปการ
จนกระทั่งเขาได้ระเห็จหนีตาย มาพบเข้ากับพระเซ็นรูปหนึ่ง ผู้ซึ่งมองเห็นถึงศักยภาพอันแท้จริงในตัวของนักดาบหนุ่ม “มูซาชิ” คนนี้ จึงได้ชี้แนะแนวทางให้เขาเลิกเสียจากความนิสัยใจร้อนมุทะลุดุดันมุ่งแต่การจะเอาชนะอย่างเดียว โดยหันเปลี่ยนมาเป็นการแสวงหาหนทางแห่งนักรบที่แท้จริง
จากนั้น พระเซ็นรูปดังกล่าวก็ให้เขาขังตัวเองเป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี บนยอดปราสาทที่มีชื่อว่า “กระเรียนขาว” กับกองหนังสือกองใหญ่ เพื่อฝึกฝนตนเองให้รู้จักกับสงบนิ่ง และเรียนรู้ความคิดของบรรดานักปราชญ์โบราณผ่านตัวอักษร
นับตั้งแต่ตำราประวัติศาสตร์ ปรัชญา ยันตำราพิชัยสงคราม จนกระทั่ง “มูชาซิ” บรรลุถึงวิถีการจัดการตนเอง เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสองประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการแรก เขาเรียนรู้ที่จะไม่นำพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงชีวิต หรือออกแรงไปกับเรื่องไร้ประโยชน์ ทว่าจะเก็บออมทะนุถนอมชีวิต เพื่อทุ่มเทให้กับเป้าหมายอันสูงสุด และ
ประการที่สอง เขาเรียนรู้ที่จะข้ามพ้นเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญทั้งหลายทั้งปวง อันนำมาซึ่งการหลีกเลี่ยงการสู้รบในสมรภูมิที่ไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้เอง จึงส่งผลทำให้การประลองฝีมือมากกว่า 60 ครั้ง เขาจึงเป็นฝ่ายมีชัยชนะเหนือคู่ศัตรู
ในช่วงฝึกสอน ผมได้มีโอกาสอ่าน ‘มูซาชิ’ ฉบับท่าพระจันทร์ ของ สุวินัย ภรณวลัย ที่พูดถึงเรื่องราวการต่อสู้ กลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ การแสวงหาจิตวิญญาณ และค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศแห่งวิถีดาบในคราวเดียวกันของจอมดาบพเนจรผู้นี้ไปหนหนึ่ง
และในช่วงลาออกจากงาน เพื่อมาทุ่มเทพลังกาย และใจให้กับการอ่านหนังสือเตรียมสอบครูผู้ช่วย อีกหนึ่งคำรบ ทว่าหนหลังนี้เอง ผมก็ได้คำตอบบางอย่างให้กับตัวเอง
ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านบันทึกการอ่านสั้น ๆ ของผม ความว่า “แว่วเสียง ‘มูซาชิ’ กระซิบบอก ว่า เจ้าอย่าต่อสู้พร่ำเพรื่ออย่างผู้มากเป้าหมาย แต่จงเก็บออมเรี่ยวแรงไว้ต่อสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายเพียงหนึ่งเดียว และหากถึงคราวที่เจ้าต้องสู้ จงสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ”
เป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมผมถึงตัดสินใจลาออกจากงานสอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านสาธุประดิษฐ์ เพื่อออกมาทำตามเป้าหมายที่วางไว้กับตัวเอง
นั่นก็คือการสอบบรรจุครูผู้ช่วยให้ติดได้ขึ้นบัญชีภายในครั้งเดียว ซึ่งผลปรากฏว่าผมก็ทำได้จริง ๆ และเมื่อครั้งกลับจากการสอบสัมภาษณ์ ภาค ค. ผมก็ได้เขียนบันทึกเอาไว้อย่างสั้น ๆ อีกครั้ง ความว่า
“ครั้นเมื่อสอบสัมภาษณ์เสร็จ ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางนั้นบทเพลง มูซาชิ/Musashi ของ Boy Imagine พลันผุดพรายขึ้นมาในหัว ทั้งคำร้องและท่วงทำนอง น้ำตาลูกผู้ชายเอ่อปริ่ม โอ…มูซาชิ ข้าช่างศรัทธาในวิถีของท่านเหลือเกิน”
กล่าวโดยกระชับ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ผมเพียงแค่ต้องการจะบอกว่ากับคุณผู้อ่านว่า คนเราจะบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้นั้น ความเก่งกาจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
กล่าวคือเราต้องมีทั้งความอดทน ความรัก และศรัทธาในวิถีทางของตนเอง พร้อมทั้งทุ่มกายเทใจให้กับการฝึกฝนเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ สำหรับให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ และความเป็นเลิศในด้านนั้น ๆ
...แม้ว่าบางครั้ง เราจะต้อง “ยอมโดดเดี่ยว เพื่อดาบเดี่ยว อย่างเด็ดเดี่ยว แม้ต้องเดียวดาย” ก็ตาม
โฆษณา