16 มิ.ย. 2020 เวลา 11:14 • การเมือง
สภาวะถดถอยของประชาธิปไตย
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะการถดถอยของความเป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะไม่เสรีลงไปทุกที กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่าสภาวะเช่นนี้เป็นกระแสของโลกหรือปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่หายกันแน่
การถดถอยของประชาธิปไตยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและอาจจบลงได้ในหลายรูปแบบเช่นกัน หากเป็นการถดถอยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะส่งผลให้เกิดการพังทลายของระบอบประชาธิปไตย แต่หากการถดถอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะทำให้ระบอบนั้นอยู่ในสถานะของความครึ่งๆ กลางๆ ในลักษณะของระบอบการเมืองลูกผสม (hybrid regime)
หลังการเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 Duncan McCargo นักวิชาการชื่อดังผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยอย่างจริงจังมานับสิบปี ได้เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งชื่อ “Democratic Demolition in Thailand”
ในบทความนี้ McCargo ได้บอกเล่าถึงการเลือกตั้งของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาที่ได้แสดงให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่เกิดขึ้นแบบผสมผสานกัน ทั้งการเกาะติดการเลือกตั้งของประชาชนและภาคประชาสังคมที่ตื่นตัว และการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ ส่งผลให้พลวัตทางการเมืองของไทยเป็นไปอย่างขาดเสถียรภาพ
ประชาธิปไตยของไทยถดถอยอย่างหนักนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในยุคสีเสื้อ โดยเฉพาะยิ่งหลังจากการรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้ประเทศไทยหยุดชะงักไปถึง 5 ปีจนกระทั่งการเลือกตั้งถูกจัดขึ้น ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนั้น รัฐบาลทหารใช้มาตรา 44 ควบคุมตัวผู้เห็นต่างทางการเมือง เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง และตั้งพรรคตัวแทนของรัฐบาลลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้ง 2562 มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ผู้เล่นสำคัญอย่างพรรคการเมืองเองก็เผชิญกับความไม่แน่นอน การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่า และเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ต้องติดตามทิศทางความเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองกันต่อไปว่าจะสามารถสร้างระเบียบทางการเมือง (political order) ที่มีเสถียรภาพและมีความสามารถในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในสังคมได้หรือไม่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของไทยนับว่ามีความสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่นำไปสู่สภาวะถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่แข็งแรงก้าวหน้าเท่าใดนักที่การจัดการการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ (strategically manipulating elections) กลายเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ การเลือกตั้งนั้นถูกวางกลยุทธ์อย่างมีชั้นเชิงเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้มีอำนาจให้ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ การขัดขวางคู่แข่งทางการเมือง การสร้างกฎกติกาขึ้นมาใหม่ หรือแม้แต่การใช้เงินของรัฐเพื่อมาสนับสนุนการหาเสียงของพรรคตัวเอง
คำถามก็คือเรายังมีความหวังแค่ไหนในโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถดถอยเช่นนี้!
อ้างอิง
McCargo, Duncan. 2019. “Democratic Demolition in Thailand.” Journal of Democracy 30(4): 119-133.
บทความโดย: ทีมวิชาการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
โฆษณา