Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Daily Teacher
•
ติดตาม
17 มิ.ย. 2020 เวลา 22:53 • การศึกษา
การสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่เริ่มต้นจากชั้นหนังสือ (1)
“สภาพแวดล้อมคือเบ้าหลอมของพฤติกรรม”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนมักจะได้ยินถ้อยคำที่คอยบั่นทอนสติปัญญาของผู้คนในสังคม เป็นต้นว่า
“คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกินแปดบรรทัด”
“สมัยนี้คนเขาไม่อ่านหนังสือกระดาษกันหรอกเขาเปลี่ยนไปอ่านออนไลน์กันหมดแล้ว”
“เด็กยุคนี้ติดสื่อโซเซียล ไม่มีใครอยากจะอ่านหนังสือหรอก” หรืออะไรทำนองนี้
เวลาได้ยินผู้เขียนจะรู้สึกสงสัยและขัดแย้งอยู่ในที กล่าวคือ เหตุที่สงสัยก็เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงชอบพูดดูถูกคนอื่น กระทั่งสังคม ตลอดจนประเทศชาติ หรือแม้กระทั่งตัวเอง
ทำไมเราไม่รู้จักพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือให้กำลังใจตัวเอง เพื่อเสริมสร้างแรงผลักดันสู่การเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ?
และที่ผู้เขียนรู้สึกขัดแย้งนั้นก็เพราะว่าตนเองมีความเชื่ออยู่เสมอว่าสิ่งแวดล้อมคือเบ้าหลอมพฤติกรรมของมนุษย์ สมมติว่ามีเด็กเกิดใหม่อยู่สองคน คนแรกเติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ พ่อ แม่ พี่น้อง ตลอดจนคนรอบตัวเขาต่างก็รักการอ่านหนังสือ ขณะที่อีกคนมีชีวิตตรงกันข้าม คุณผู้อ่านลองคิดเล่น ๆ นะครับว่า เด็กสองคนจะมีพฤติกรรมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
เหตุผลที่ทำให้คิดเช่นนี้เนื่องมาจากผู้เขียนเองเกิดและเติบโตมาในหมู่บ้านที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน ซึ่งถ้าจะมีบ้างก็เป็นประเภทหนังสือแนวสวดมนต์ไหว้พระที่วัดและผู้ใจบุญจัดพิมพ์เพื่อแจกชาวบ้านใน ละแวกนั้น และยังมีหนังสือทำนองเดียวกันอีกสองสามเล่ม เช่น มนต์พิธี เจ็ดตำนาน และตำราพรหมชาติ เป็นต้น นอกเหนือจากหนังสือแนวนี้แล้วก็ไม่ปรากฏมีหนังสือแนวอื่น ๆ อีกเลย
กระทั่งในโรงเรียนเองก็ยังปรากฏมีแค่หนังสืออ่านนอกเวลาจำนวนน้อยนิดและหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเบียดอัดกันจนแน่นขนัดบนชั้นหนังสือเก่าคร่ำคร่าที่เริ่มผุพังตามกาลเวลา
เพียงแค่มองผ่าน ๆ ก็ทำให้รู้สึกง่วงนอนระคนเข็ดขยาดแล้ว ด้วยเหตุนี้ในช่วงวัยเยาว์ของผู้เขียนจึงไม่มีแรงปรารถนาที่จะหยิบจับหนังสือขึ้นอ่านให้ประเทืองปัญญาเลยสักครั้ง คุณผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่าผู้เขียนเพิ่งจะมาอ่านหนังสือออกอย่างจริงจังเอาเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายนี่เอง
แม้หลักสูตรการศึกษาสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนจะระบุไว้ว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาอันเป็นช่วงชั้นแรกของการศึกษาภาคบังคับนั้น ต้องมุ่งเน้นทักษะพื้นฐานการอ่าน การเขียนและการคำนวณก็ตาม
อย่าว่าแต่อ่านออกเขียนได้คำนวณเป็นเลยครับ แค่สะกดคำหรืออ่านประโยคง่าย ๆ ผู้เขียนยังทำไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ส่งผลทำให้ผู้เขียนในวัยเด็กเอาแต่กล่าวโทษตัวเองว่าเราเกิดมามีสติปัญญาไม่ดีเหมือนกับคนอื่น ๆ และกลายเป็นเด็กที่ขาดความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และขาดความมั่นใจในตัวเองไปโดยปริยาย
แต่ทว่าอยู่มาวันหนึ่งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยสารพัดช่างอุลราชธานีซึ่งตั้งอยู่ในตัวจังหวัดที่มีห้องสมุดใหญ่โตมากพอที่จะบรรจุหนังสือหลากหลายประเภทจำนวนมากให้เลือกอ่านตามใจชอบ รวมทั้งยังมีคุณครูหลายท่าน รุ่นพี่ และเพื่อน ๆ หลายคนที่หลงรักการอ่าน
ในตอนแรกผู้เขียนก็เดินเข้าออกไปห้องสมุดดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งเพื่อเข้าไปนั่งตากแอร์และฆ่าเวลา ทว่านานวันเข้าผู้เขียนกลับเริ่มเกิดความรู้สึกอยากอ่านหนังสือขึ้นมาอย่างรุนแรง ความรู้สึกนั้นผลักดันให้ผู้เขียนรีบตรงดิ่งไปยังชั้นหนังสือเพื่อค้นหาหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน
และแล้วผู้เขียนก็ได้พบกับหนังสือพลิกชีวิตอย่างหนังสือ ‘เดินสู่อิสรภาพ’ เขียนโดย อาจารย์ ดอกเตอร์ ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งหนังสือที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของผู้เขียนที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันคล้ายวันเกิดของตนเอง เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดยังเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี
และค้นหาอิสรภาพในการใช้ชีวิตทั้งในมิติทางกายภาพและมิติทางจิตวิญญาณอันแท้จริง ซึ่งนับวันจะยิ่งเลือนหายไปในกระแสธารของสังคมยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความสับสนและวุ่นวายทางความคิด
โดยเลือกใช้วิธีการที่คนทั่วไปไม่นิยมทำกัน นั่นก็คือ การเดินทางด้วยเท้าและไม่พกเงินติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว กระทั่งไม่ร้องขอที่พักอาศัยหรือเรียกร้องอาหารจากใคร โดยมีข้อแม้อยู่ว่าหากคนผู้นั้นมีความประสงค์จะหยิบยื่นให้ด้วยจิตเมตตาจริง อาจารย์ประมวลจึงจะยอมรับการช่วยเหลือนั้น
กล่าวสำหรับหนังสือเล่มนี้ในขณะที่อ่านอยู่นั้นผู้เขียนรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างเข้าไปกระทำกับจิตใจ ซึ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นตามจำนวนหน้าที่มากขึ้น และยังพบอีกว่าสิ่งที่อาจารย์กำลังสื่อสารกับผู้อ่านนั้นตรงกับใจที่ผู้เขียนปรารถนา
ตัวอย่างเช่นถ้อยคำที่ว่า “การมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ สิ่งมีค่าและงดงามที่สุด คือ ความรัก ความรัก ไม่ใช่ ความปรารถนาที่จะครอบครอง และได้จากผู้อื่น แต่ความรัก คือ ความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำให้คนที่เรารักมีความสุข”
เมื่ออ่านแล้วทำให้มองเห็นมิติความรักที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และหลังจากที่หนังสืออ่านจบ ผู้เขียนก็เริ่มสังเกตเห็นว่าความรู้สึกนึกคิดของตนเองเปลี่ยนไป ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีภาวะจิตใจภายในนุ่มนวลอ่อนโยนมากขึ้น กระทั่งความรู้สึกแปลกแยกต่อโลกและสังคมก็ลดน้อยถอยลงอย่างน่าประหลาดใจ
ประจวบเหมาะกับในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ผู้เขียนได้พบกับร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนริมถนนสายหลักก่อนจะถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยร้านหนังสือแห่งนี้มีชื่อว่าร้านหนังสือฟีลาเดลเฟีย
และต่อมาได้กลายเป็นสถานที่จุดประกายการอ่านอย่างเอาจริงเอาจังของผู้เขียนโดยมีพี่เจี๊ยบ – วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านและนักเขียนเจ้าของรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2552 เป็นคนคอยแนะนำและเลือกสรรหนังสือดี ๆ ให้อ่านอยู่เสมอ
จึงกล่าวได้ว่า วิทยาลัยสารพัดช่างและร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ได้มีส่วนช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมจนทำให้ผู้เขียนกลายเป็นบุคคลที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนภายในให้กับผู้เขียนมาจวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และครั้นเมื่อหวนรำลึกถึงอดีตอีกครั้ง ผู้เขียนคิดว่าหากวันนั้นตนเองไม่ตัดสินใจออกจากหมู่บ้านที่ไม่หนังสือให้อ่านและทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ต่อไป ผู้เขียนก็คงไม่ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่มีพลังงานเปลี่ยนความคิดอย่างหนังสือเดินสู่อิสรภาพและคงไม่ได้พบกับร้านหนังสือดี ๆ อย่างฟิลาเดลเฟีย
ผู้เขียนก็คงยังเป็นคนเดิมที่คอยเอาแต่พร่ำบ่นก่นสาปและแช่งตัวเองว่าโง่เง่าอยู่แน่เทียว จากประสบการณ์ส่วนตัวดังกล่าวทำให้ผู้เขียนได้ฉุกคิดและหวนกลับมาตั้งคำถามกับสภาวะที่เป็นอยู่
กล่าวคือ สิ่งที่เราพร่ำบอกกันว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อย มีนิสัยไม่ชอบการแสวงหาความรู้ แท้จริงแล้วเห็นเพราะเราขี้เกียจ หรือเป็นเพราะว่าเราไม่มีหนังสือใกล้มือให้อ่านกันแน่ ?
กล่าวสำหรับโรงเรียนบางเสด็จวิทยาคมของเรา เป็นโรงเรียนประจำตำบลขนาดเล็กที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย หลายคนเป็นชาวม้ง หลายคนเป็นชาวกะเหรี่ยง และอีกหลายคนเป็นอาข่าที่บางส่วนมาพักอาศัยอยู่ภายในวัดสระแก้ว
บางส่วนอาศัยอยู่ในหอพัก ห้องสมุด และตามอาคารเรียนของโรงเรียน นอกจากนี้ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า เด็กเหล่านี้หลายคนรักในการแสวงหาความรู้ อีกทั้งพวกเขาและเธอยังมีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ทว่าขาดแคลนความโอกาสและความพร้อมในด้านต่าง ๆ
ในฐานะครูคนหนึ่งที่ปรารถนาอยากจะให้ผู้เรียนของตนเองมีทักษะฝีมือและวิธีคิดที่ดีในการใช้ชีวิตมากไปกว่าเพียงแค่มุ่งเน้นผลคะแนนสอบที่วัดคุณภาพผู้เรียนเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ผู้เขียนจึงมีความคิดริเริ่มที่อยากจะช่วยส่งเสริม และวางรากฐานชีวิตให้กับพวกเขา
เนื่องจากตนเองก็เติบโต มากับการอ่านหนังสือเป็นหลัก และมันก็ให้อะไรต่อมิอะไรแก่ผู้เขียนอย่างมากมาย ทั้งในด้านความคิด ตัวตนการงาน และการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงตัดสินใจลงมือเขียนขอรับบริจาคหนังสือจากทางมูลนิธิกระจกเงา
...เพื่อให้นักเรียนของผู้เขียนได้มีหนังสือที่หลากหลาย รุ่มรวยด้วยจิตนาการ และอุดมด้วยสาระความรู้ได้อ่านกัน
5 บันทึก
5
4
2
5
5
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย