Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Daily Teacher
•
ติดตาม
18 มิ.ย. 2020 เวลา 07:38 • การศึกษา
การสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่เริ่มต้นจากชั้นหนังสือ (จบ)
กล่าวสำหรับการสร้างชั้นหนังสือหน้าห้องเรียนในโรงเรียนบางเสด็จวิทยาคมของพวกเรานั้น ในส่วนแรกผู้เขียนได้เริ่มจากการส่งเสริมการพัฒนาความรักในการอ่านให้กับนักเรียน โดยได้นำชั้นหนังสือไปตั้งไว้หน้าห้องเรียนตรงริมระเบียงทางเดิน
ซึ่งในตำแหน่งนี้นักเรียนที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นและหยิบขึ้นมาอ่านได้อย่างง่ายดาย กระทั่งในช่วงพักกลางวันนักเรียน ยังสามารถมาอ่านได้ตามสะดวก และหากต้องการยืมกลับไปอ่านที่บ้านทางผู้รับผิดชอบก็ได้จัดทำสมุดบันทึกการยืมหนังสือไว้ให้อีกด้วย
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้คัดสรรหนังสืออ่านนอกเวลาที่มีคุณภาพหลากหลายแนวไว้สำหรับให้นักเรียนได้เลือกอ่านตามความชอบ เช่น หนังสือวรรณกรรมเยาวชน นิยายวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศหนังสือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการค้นพบความรู้ใหม่ หนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของโลก
หนังสือการ์ตูนยอดนิยม และนิตยาสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทั่วไป เป็นต้น เนื่องจากผู้เขียนเชื่อว่าการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพจะช่วยเปิดโลกแห่งจินตนาการของนักเรียนให้กว้างไกลขึ้น เพราะหนังสือดีมีคุณภาพนั้นนอกจากจะช่วยยกระดับสติปัญญาและภาวะจิตใจ ให้ความรู้ สร้างความเพลิดเพลินและช่วยกล่อมเกลาความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนได้เป็นอย่างดี
ในส่วนที่สองนั้น ผู้เขียนได้ทำการรับสมัครนักเรียนที่สนใจทางด้านการเขียนมาร่วมกันจัดทำจุลสารเพื่อเผยแพร่ความรู้และข่าวสารต่าง ๆ ให้นักเรียนโรงเรียนบางเสด็จวิทยาคมได้อ่านกันเป็นรายปักษ์ (ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ คาดว่าจะตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ในต้นปีการศึกษา 2563 นี้) โดยผู้เขียนเห็นว่าการอ่านเพื่อนำมาเขียนหรืออ่านแล้วนำมาสรุปเพื่อเขียนขึ้นใหม่ให้น่าสนใจนั้น
เป็นวิธีการจะทำให้สมองของนักเรียนตื่นตัวและทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดการทำงานแบบเดียวกับการนั่งสมาธิ ซึ่งหากฝึกเขียน บ่อย ๆ จะช่วยทำให้การรับรู้ของนักเรียนดีขึ้น (ซึ่งมีงานวิจัยรับรอง และผู้เขียนก็ได้ทดลองทำตาม ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง)
และนอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาย่อยเกี่ยวกับหนังสือและแนะนำหนังสือ ที่นักเรียนประทับใจในทุก ๆ สัปดาห์โดยจะทำการเผยแพร่ทางช่อง YouTube ของผู้เขียนและนำเรื่องราวการอ่านของนักเรียนไปเขียนบอกเล่าลงใน Facebook ส่วนตัวเพื่อเป็นการให้กำลังใจนักเรียน ดังต่อไปนี้
เรื่องแปลกแต่จริง!
มีเด็กนักเรียนชายคนหนึ่ง ชื่อ ประเสริฐ แซ่หว้า หรือเรียนเพื่อน ๆ เรียกเขาว่า “ดีโด้” เรียนอยู่ชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต ตัวเล็ก ผิวขาว ตาตี๋ จมูกโด่ง ตามแบบฉบับของคนม้งทุกประการ
เขาเพิ่งอ่านหนังสือของ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เกี่ยวกับการค้า และแนวคิดทางธุรกิจ จบไปใหม่หมาดช่วงบ่ายของวันนี้เอง เขาดุ่มเดินมาจากหนไหนมิทราบได้ มาหยุดตรงชั้นหนังสือหน้าห้องเรียน
ขณะที่ผมนั่งหมกตัวทำงานอยู่ข้างใน ผมสังเกต พลางละมือ จากแป้นพิมพ์ สายตาเหลือบไปมองตามอาการเคลื่อนไหวของเขา
"อาจารย์ครับ หนังสือเล่มนี้ ผมอ่านจบแล้วนะครับ" เขาเอ่ยขึ้นด้วยสำเนียงไทยกลางไม่ค่อยชัด ขณะเดินเข้ามา ปลดกระเป๋าหนักอึ้ง แล้วทรุดนั่งลงเบื้องหน้า
"เยี่ยมไปเลย คนนี้เก่งเศรษฐศาสตร์มากเลยนะ ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อยสิ" ผมโพล่งขึ้น ด้วยอาการอารามตื่นเต้น มันเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ที่ได้ยินเรื่องอะไรทำนองนี้
ผมนั่งฟังเขาเล่าด้วยภาษากะท่อนกะแท่น แต่เนื้อความแจ่มชัดมากบ่งบอกว่าหมอนี่อ่านมาจริง เมื่อพูดจบ เขาก็ปรารภกับผมว่า อยากมีความรู้ด้านการเงิน เพื่อนำไปลงทุน อาจารย์ช่วยนะนำผมหน่อย
เฮ้ย! ไอ้หมอนี่ เอาจริงดิ ผมนึกครันครามในใจ อืม... หยุดคิดครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกเขาไปว่า ก็มีอยู่เล่มหนึ่ง ครูอ่านแล้ว รู้สึกเลยว่ามันปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อเงินของเราไปตลอดกาลเลยล่ะ
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า "พ่อรวยสอนลูก" ครูมีอยู่สองเล่มสองเวอร์ชั่น อ่านสนุก เล่าเป็นบทสนทนา ระหว่างโรเบิร์ต กับ พ่อรวย (พ่อของไมค์เพื่อนของเขา)
มีคำคมกินใจเยอะมาก ครูทำให้ไฮไลท์ไว้ทุกหน้าเลย พออ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนโดนไม้หน้าสามหวดเข้าที่หน้า กระทั่งลืมแนวคิดเกี่ยวกับการเงิน เดิม ๆ ไปเลย
"ผมชักอยากอ่านขึ้นมาแล้วครับ!" ดีโด้ทำท่าจริงจัง
"ได้สิ เดี๋ยวพรุ่งนี้เอามาให้" ผมพูด พลางฉีกยิ้มกว้าง
เขาเดินจากไปนานแล้ว
ปล่อยให้ผมครุ่นคิดเงียบๆ คนเดียว ขณะนั้นรู้สึกว่าชักเริ่มฮึกเหิมตะหงิด ๆ ขึ้นมาชอบกล
อืม...ไอ้ดีโด้ เห็นอย่างนี้ มันเอาจริงแฮะ!
(เขียนไว้ ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2562)
คนนี้ของจริง!
ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เธอชื่ออะไร เรียนอยู่ชั้นไหน เป็นม้ง กะเหรี่ยง หรือว่า อาข่า เพราะตลอดระยะเวลาร่วมสองเดือนของการเป็นครูบรรจุใหม่
เธอไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของผมเลยเนื่องจากเด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะไปกินข้าวที่วัด ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนราวสองร้อยเมตร ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น หน้าที่หนึ่งของครูเวรประจำวัน ก็คือ คอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยตอนเด็กไปกินข้าว
วันนี้ผมได้รับหน้าที่นั้น จึงควบม้าเหล็กสีน้ำเงินยี่ห้อฮอนด้าคู่ใจ ออกติดตามไป หลังจากที่เด็ก ๆ ทยอยเดินกันไปได้สักพัก เมื่อถึงก็เดินเข้าไปในโรงอาหาร ผมก็พบนักเรียนเหล่านี้ยืนต่อแถวยาวเยียดร่วมกับโรงเรียนอื่น
เพื่อรอรับอาหารจากทีมงานของบริษัทอะไร ชื่อออกฝรั่ง ๆ สักอย่าง นี่แหละ ผมจำไม่ได้แล้วหลังจากรับอาหารเสร็จ ทุกคนก็เดินกลับไปยังที่นั่งของตัวเอง ผมจึงเดินไปทักทายพวกเด็ก ๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากัน ไปตามโถงทางเดินที่ขนาบด้วยโต๊ะกินข้าวไล่จากด้านหน้าจรดถึงด้านหลัง ซึ่งแต่ละคนใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มบ่งบอกถึงความสุข จากความเอร็ดอร่อยของอาหารมื้อเที่ยง ขนมเค้ก และน้ำหวาน
ก่อนถึงโต๊ะสุดท้าย พลันสายตาของผมก็สะดุดเข้ากับสาวน้อยคนหนึ่ง เธอกำลังนั่งอ่านหนังสือ แรกเห็นผมจำได้ทันทีว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นหนึ่งในหนังสือหลายเล่มที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจัดส่งมาให้ ซึ่งผมให้เด็กนักเรียนทีมงานอ่านเพื่อชีวิต นำไปวางเรียงกันไว้บนโต๊ะหน้าห้องเรียนที่ผมสอน เพื่อให้คนที่เดินผ่านมาผ่านไปได้หยิบยืมไปอ่าน
ท่ามกลางเสียงเคี้ยวข้าว เสียงช้อนกระทบถาด และเสียงคุยกันเอะอะโวยวาย แต่ทว่าภาพที่ผมเห็นอยู่เบื้องหน้านั้น เธอกำลังหลุดเข้าไปในโลกอีกใบ
มันเป็นโลกที่มีเพียงเธอกับตัวหนังสือ ตัวละครและเรื่องราวในนั้นร่ายมนต์สะกดเธอได้อย่างอยู่มัด แม้ว่าหูจะได้ยินเสียง แต่ใจกลับนิ่งสงบเกินกว่าจะไขว้เขว
ผมเคยอยู่ในหยุดนั้นมาก่อน จึงเข้าใจดีว่า
สาวน้อยคนนี้ กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะของการเป็นนักอ่านอย่างเต็มตัว หากได้ลองลิ้มรสของการอ่านอย่างติดหนึบแบบเงยหัวไม่ขึ้นสักครั้งแล้วละก็ คุณจะพบว่า การบังคับให้ตัวเองให้ชอบอ่านหนังสือว่ายากแล้ว การบังคับตัวเองไม่ให้ชอบอ่านยากยิ่งกว่า
ดูสิครับ! ดูเธอสิ ท่วงท่าการอ่านของเธอนั้น ช่างหนักแน่น และงดงามเสียนี่กระไร
หมายเหตุ: ภายหลังผู้เขียนถึงได้ทราบว่าเธอคนนี้มีชื่อว่าอาชู เชอหมื่อ เป็นสาวน้อยอาข่า ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
(เขียนไว้ ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2562)
สาวน้อยคนนี้ เธอชื่อ มณี แซ่ซ้ง ตัวเล็ก เสียงเบา ไม่ค่อยพูดค่อยจาทว่าฟังมาก และอ่านเยอะ ผมสังเกตเห็น มาหนึ่งเทอมเต็ม ๆ แล้ว ที่เธอชอบเดินเลียบเคียง แถวชั้นหนังสือหน้าห้องฟิสิกส์ อยู่เป็นประจำ
พอผมไปเปิดดูสมุดบันทึกการยืมก็มักจะปรากฏชื่อของเธอ ยืมหนังสือไปอ่าน คราวละหลายเล่ม เช้าวันหนึ่ง ในชั่วโมงเรียน ผมนึกครื้มใจ อยากให้เธอได้ลองอ่าน หลังสือรวมเรื่องสั้น "อสรพิษ" ของ แดนอรัญ แสงทอง ดูสักครั้ง
เธอรับไป และนั่งอ่านมันอย่างเงียบเชียบ ดำดิ่ง จมหาย แหวกว่าย ในทะเลอักษร ราวกับห้องนั้นไม่มีเธอนั่งอยู่ตั้งแต่แรก ตกบ่ายเธอก็เดินเข้ามาหาผม ขณะกำลังยืนอยู่ใต้ซุ้มไม้เถาเลื้อยการเวก พร้อมกับใบหน้าน้อย ๆ ที่เปื้อนยิ้ม
"ครู...หนูอ่านจบแล้ว มันสนุกมากเลย" มณีพูดพลางยิ้มพราย
"ว้าว!...เยี่ยมไปเลย ไหนลองเล่าให้ครูฟังหน่อยสิ" ผมพูดด้วยท่าทีโผงผางตามความเคยชิน
"มันเป็นเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อจะมีชีวิตรอดต่อไป ระหว่างเด็กชายเลี้ยงวัวคนหนึ่ง กับงูจงอางยักษ์ตัวนั้น มันขึ้นมาจากรู มันตกใจ พุ่งเข้าใส่ ม้วนตัวและรัด ตรึงร่างเขาไว้ เขาเองก็ตกใจใช้มือข้างที่ไม่พิการบีบคอมันไว้แน่นเช่นกัน
ทุกคนต่างพากันวิ่งหนี เขาสู้กับมันอยู่นานมาก เดินไปขอความช่วยเหลือจากใคร ทุกคนก็วิ่งหนีหมด ไม่เว้นแม้แต่พ่อกับแม่ของเขา น่าสงสารมาก" มณีหยุดพูดเหมือนจะพักเพื่อหายใจ
ครู่ประเดี๋ยวเธอก็พูดต่อไปอีก
"ตอนจบหนูรู้สึกเศร้ามาก งูตัวนั้นตายก็จริง แต่เขาก็ต้องกลายเป็นคนเสียสติตลอดไป" ถ้อยคำสำเนียงไทยกลางไม่ชัดปนเศร้าสร้อย
"แล้วภาษาคนเขียนเป็นไงบ้าง" ผมเปลี่ยนประเด็นเพื่อไม่ให้เธอดิ่งเศร้าไปมากกว่านี้
"ภาษาอ่านลื่นมาก อ่านแล้วนึกภาพตามได้เลย หนูใช้เวลาอ่านไม่นานก็จบเรื่อง" น้ำเสียงของเธอกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ใช่หรือไม่ว่า วรรณกรรมที่ชั้นเยี่ยมจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางอารมณ์แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เรื่องราว ถ้อยคำ และภาษาในนั้น สามารถสั่นกระดิ่งหัวใจเราให้ระรัวได้มิหยุดหย่อน บางครั้งกินเวลานานหลายวัน บางครั้งกินเวลายาวนานหลายสิบปี และบางทีอาจทั้งชีวิต
"ถ้าหนูชอบเรื่องแนวนี้ ครูมีอีกเรื่องอยากแนะนำให้อ่าน" ผมพูดพลางลดสายตาลงจับดวงหน้าของเธอ
"เรื่องไหนหรือคะครู?" มณีทำหน้าตาอยากรู้
"The Old Man and the Sea" ผมเผยยิ้ม จ้องตา
สาวน้อยมณียืนกอดหนังสือ ใต้ซุ้มการเวก ด้วยแววตาเปล่งประกายวะวิบวาว ความสงสัยใคร่รู้ คลับคล้ายแสงแห่งดาวฤกษ์กำลังเกิดใหม่ในจักรวาล…
(เขียนไว้ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2562)
ผู้เขียนเชื่อว่ากิจกรรมการส่งเสริมการอ่านนี้จะช่วยสร้างทักษะการอ่านที่แข็งแกร่งให้กับนักเรียนและทำให้พวกเขาเข้าถึงความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างสรรค์ทรัพยากรอื่น ๆ ในอนาคตต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ผู้เขียนยังหวังว่ากิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาการขาดทักษะอ่านหนังสือของเยาวชนไทย และเป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่กว้างขวางและเข้าถึงง่ายให้เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน กระทั่งขยายวงกว้างออกไปสู่สังคมภายนอก และที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ กิจกรรมนี้จะมีส่วนช่วยการปฏิรูปการศึกษาใน “เชิงคุณภาพ” โดยเปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาให้กลายเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเหล่าเยาวชนนักอ่านที่เป็นอนาคตของชาติ
สุดท้ายนี้คุณผู้อ่านคงพอจะเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนเพียงต้องการจะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เล็ก ๆ อันจำกัดจำเขี่ยที่ผู้เขียน และเหล่านักเรียนเพียรสร้างสำหรับเป็น พื้นที่แห่งการเรียนรู้ในแบบที่เข้าถึงง่าย โดยการลดช่องว่างระหว่างผู้อ่านกับหนังสือที่เป็นเสมือนตัวแทนของแหล่งความรู้อื่น ๆ ด้วยความตระหนักดีว่าต้นทุนและบริบทการเข้าถึงความรู้ของพวกเรามีน้อยเกินกว่าจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการอื่นได้ อีกทั้งผู้เขียนยังมองว่าการอ่านหนังสือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำเราสู่การแสวงหาในรูปแบบอื่น ๆ และมีสำคัญมากต่อการใช้ชีวิต
ซึ่งผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า ตนเองเพียงต้องการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนที่เข้าถึงได้ง่าย และเปิดมุมมองโดยการจุดประกายไฟแห่งความใฝ่รู้ในตัวของนักเรียนของผู้เขียนด้วยพลังของหนังสือ และให้หนังสือนำพาเขาไปสู่สถานที่ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนนี่แหละครับ การวิธีการสร้างวัฒนธรรมในแบบของผู้เขียน ซึ่งอาจจะดูเป็นความพยายามที่จะจุดไฟในสายลม เพื่อก่อฟืนท่ามกลางฤดูหนาวเหน็บ
มาเถิดครับ! มาร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมการอ่านในโรงเรียนพวกของเราข้ามพ้นวาทกรรม
“คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกินแปดบรรทัด”
“สมัยนี้คนเขาไม่อ่านหนังสือกระดาษกันหรอกเขาเปลี่ยนไปอ่านออนไลน์กันหมดแล้ว”
“เด็กยุคนี้ติดสื่อโซเซียล ไม่มีใครอยากจะอ่านหนังสือหรอก”
แล้วลงมือทำ ช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่ามัวแต่ลังเลใจรอคอยให้รู้ 100% แล้วค่อยทำ แต่จงทำเท่าที่รู้ให้ได้ 100% จะทำน้อยทำมากเราไม่ว่ากัน
...เพราะเพียงแค่คุณผู้อ่านลงมือ “ทำ” มันก็ดีกว่าการ “ไม่ทำ” มากโขแล้วครับ
1 บันทึก
5
6
1
1
5
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย