19 มิ.ย. 2020 เวลา 03:54 • การศึกษา
“มือใหม่หัดเขียน”
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...
ผมเคยเขียนเรื่องสั้นส่งให้กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งพิจารณา แต่ผลปรากฏว่า เรื่องของผมไม่ผ่านการคัดเลือก ตอนนั้นผมก็ได้แต่เฝ้ารอคอยคำแนะนำตอบกลับมา ทว่าทางนั้นก็เงียบหายไปจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เรื่องสั้นดังกล่าว เป็นเรื่องราวของครูสาวสองคน ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักครูหลังหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่า และยิ่งไปกว่านั้นมันคือที่ที่มีคนตายมาก่อน ครูสาวทั้งสองต้องทนกับภาระงานที่หนักหน่วง จุกจิก วุ่นวาย และไม่เป็นตัวของตัวเอง
อีกทั้งพวกเธอยังต้องต่อสู้ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ของการเป็นเจ้าของบ้านกับผีผู้หญิงตนหนึ่ง ที่สิงสถิตอยู่ภายในบ้านพักหลังนี้เป็นเวลาช้านาน เรื่องราวดำเนินไปด้วยความคับแค้น และอดอั้นสุดขีด (ตอนเขียนผมรู้สึกแบบนั้น) ซึ่งผมตั้งใจที่จะเขียนเสียดสีระบบราชการไทย ทว่ากลับทำออกมาได้ไม่ค่อยดีนัก
ภายหลัง ผมได้รู้จักอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลท่านหนึ่ง ผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว ขออนุญาตเอ่ยนามท่านในที่นี้ (เลียนแบบ สส. ในสภาฯ เลยแฮะ!) ซึ่งอาจารย์ท่านนั้น ก็คือ อาจารย์ ดร.อิสระ ชูศรี ซึ่งผู้อ่านหลายคนอาจจะคงเคยรู้จัก
หลังจากที่ได้รับความรู้ เกี่ยวกับการเขียนมากมายจากท่าน ผมก็ได้ถือโอกาสขอให้อาจารย์ช่วยอ่านต้นฉบับเรื่องสั้นเดียวกันนี้ให้ พร้อมกับขอคำแนะนำ สำหรับปรับปรุงแก้ไข
ผ่านไปหลายวัน อาจารย์ท่านก็ตอบกลับมา:-
"อ่านจบแล้วนะครับ มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ แต่ในแง่รูปแบบของเรื่องสั้นแล้ว มันค่อนข้าง 'เกิน' คือมีหลาย 'ทางแยก' เกินไปจนทำให้ประสบการณ์ในการอ่านกระจัดกระจาย"
อาจารย์เริ่มบทสนทนาอย่างอบอุ่น ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า
"สำหรับส่วนที่น่าสนใจคือการใช้ความฝันของเจ้าสาว (ตัวละครหลัก) โยงกับความทรงจำของผีพี่หญิง ถ้าเป็นผม จะไม่ให้ผีพี่หญิงปรากฏต่อหน้าเจ้าสาวตอนที่เธอตื่น ถ้าอยู่ในฝันก็อยู่ในฝันตลอด หนึ่งฝันก็หนึ่งย่อหน้า"
หลังจากที่กล่าวเชิงแนะนำ ให้เล่าเรื่องโดยแบ่งลำดับขั้นที่ชัดเจนแล้ว อาจารย์ท่านก็ยังชี้ถึงจุดที่ควรปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนบางประการ อย่างเป็นกันเองอีกด้วยว่า
"สมมติว่าเรื่องสั้นนี้ คือการเล่าความคิดคำนึงของเจ้าสาวในเช้าวันหนึ่ง ความคิดคำนึงนี้ ควรจะเล่าว่าเธอมาอยู่บ้านนี้ได้ยังไง และเล่าถึงความฝันที่มีเรื่องเล่าของพี่หญิงอยู่ในนั่นอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็คลี่คลายไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างผีกับคน แต่โลกการทำงานในช่วงตื่นของเจ้าสาวยังคงน่าเหนื่อยอ่อนเหมือนเดิม"
"คุณเสียดายรายละเอียดเกินไป ควรเลือกส่วนที่เข้ากันที่สุดไว้ด้วยกัน Time & Space เป็นเรื่องสำคัญ จะซับซ้อนก็ได้แต่ต้องมีลำดับที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน ในอดีต - ปัจจุบัน ในโลกจริง - ในความคิด (ความคิดของใคร)"
"การเล่าเรื่องมันก็เหมือนนั่งร้านที่ทำให้คนอ่านปีนขึ้นไปถึงชั้นที่เราอยากพาเขาไป ตัวนั่งร้านมันต้องมีแบบที่ทำให้คนอ่านรู้ว่าต้องไปยังไง"
ก่อนจบบทสนทนา สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจในความเป็นครูของอาจารย์มากที่สุด ก็คือ ความไม่ถือเนื้อถือตัว เข้าถึงง่าย มีเมตตา และยินดีที่จะแบ่งปันสิ่งที่ตนรู้ และเขียนแก่ผม เพื่อนำไปศึกษาเทียบเคียง และพัฒนางานเขียนของตนเอง ให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป
"มี email ไหมครับ ผมจะส่งเรื่องของผมไป แลกเปลี่ยนกันผ่านงานที่ต่างกันอาจจะเข้าใจมากกว่า เพราะสิ่งที่ผมแนะนำเป็นแค่ประสบการณ์ส่วนตัว ส่วนสิ่งที่คุณอยากเขียนมันก็เป็นแบบที่อยู่ในความคิดของคุณเอง คนอื่นบอกให้ไม่ได้หรอก"
จากนั้น ท่านก็ส่งเรื่องสั้นสองเรื่อง ได้แก่ “มหรศพ “ กับ “ขุนศรีวังยศกระโดดขึ้นแคร่กระแช่หกหมด” มาให้ผมอ่าน
เมื่ออ่านจบ ผมก็พบว่า งานเขียนทั้งสองเรื่องของอาจารย์นั้น ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ใช้ภาษาสั้นกระชับ เนียนนุ่ม เรื่องเล่ามีความแข็งแรง และชัดเจน
ต่างจากงานของผม ที่ดำเนินเรื่องอย่างวกไปวนมา ใช้ภาษายืดยาด เนิบนาบ และสวิงสวาย อีกทั้งยังแสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพของโครงเรื่องโดยรวม การเรื่องเล่าก็อ่อนปวกเปียก แถมยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ กระจัดพลัดพราย เนื่องจากไม่มีประเด็นหลักที่แท้จริง
ซึ่งบทเรียนนี้ ทำให้ผมได้พยายามปรับปรุงแก้ไข กระทั่งรื้อถอนวิธีการเขียนของตัวเองแทบทั้งหมด จากที่แต่ก่อนเคยมุ่งเน้นแต่การพรรณนาโวหารโอ่อ่า ชอบใช้คำหรูหราฟุ่มเฟือย และหวงแหนถ้อยคำราวกับเป็นลูกในไส้
จนกระทั่งล้นเกิน เหมือนน้ำท่วมทุ่งที่ไม่เห็นต้นข้าวในนา ก็เปลี่ยนมาสนใจเรื่องความชัดเจนในการดำเนินเรื่อง ดูว่ามีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต่อเรื่องเล่า เมื่ออ่านพบก็จะตัดทิ้งทันทีอย่างไม่เสียดาย หรือหันมาเน้นเหตุการณ์นำภาษา มากกว่าให้ภาษาพาไป
หลังจากศึกษา วิธีการเขียนสั้น ๆ ทว่าส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนอ่าน ผมก็พบนักเขียนต้นแบบที่น่าสนใจหลายคน
คนแรก คือ พี่ตุ้ม-'หนุ่มเมืองจันท์' โดยกลวิธีการเล่าเรื่องของพี่แก เป็นสไตล์การเขียนของนักข่าว ที่เน้นใช้ภาษากระชับ ตรงเข้าถึงประเด็น และหลีกเลี่ยงการใช้การพรรณนาโวหาร เนื่องจากมีพื้นเพมาจากการเขียนข่าว ซึ่งมีพื้นที่จำกัด คนเขียนจึงถูกบีบด้วยปริมาณของพื้นที่
ผมได้รับอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายอย่าง จากงานของเขา ทั้งในแง่การเล่าเรื่อง ในแง่การตีกรอบประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ตลอดจนการจัดวางย่อหน้าที่ทำให้อ่านง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งของหนังสือ 'โลกที่เห็นเป็นอย่างที่คิด' ที่ว่า:-
ผมมี "คาถา" ประจำตัวอยู่ 2 บท
"โลกนี้มีหลายมุมให้มอง"
และ "ทัศนคติคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง"
เพราะผมเชื่อว่าโลกใบนี้จะเป็นอย่างไร
อยู่ที่ "มุมคิด" ของแต่ละคน
มองโลกแบบไหนก็เห็นโลกแบบนั้น
"มุมคิด" หรือ "ทัศคติ"
จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะชนะหรือพ่ายแพ้ในเกมนั้น
จะใช้ชีวิตอย่างมี "ความสุข"
หรือ "ทุกข์" จัง
จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การเขียนหนังสือให้ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องเน้นศัพท์แสงหรูหรามากมาย ก็สามารถทำให้ตัวบทลื่นไหล และทำคนอ่านรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน อยากอ่านต่อได้เช่นกัน ซึ่งงานเขียนแนวนี้ เข้าทำนอง "น้อยแต่ได้มาก" (minimalist) ที่ผมพยายามฝึกฝนอยู่ในขณะนี้
คนต่อมา คือ ลุงจำลอง ฝั่งชลจิตร ผมรู้สึกชอบงานเขียนของลุงแกตั้งแต่แรกอ่าน และอ่านต่อเนื่องกันมาหลายเล่มจนรู้สึกคุ้นเคย มีเล่มหนึ่งที่ติดหนึบวางไม่ลง ไปไหนมาไหนก็มักจะเอาติดกระเป๋าไปด้วย นั่นก็คือ รวมเรื่องสั้น ชีวิตประจำวัน (เรื่องสั้นธรรมดา)
สิ่งที่ผมชอบมาก น่าจะเป็นความธรรมดาที่ไม่ทำธรรมดาของแก ลุงจำลองสามารถนำเอาเรื่องข่าวสาร และการใช้ชีวิตประจำของผู้คนมาบอกเล่าใหม่ได้อย่างนุ่มนวลและน่ารัก ทั้งยังซ่อนประเด็นทางสังคมแบบทิ้งลายนักเขียนรุ่นเก๋าที่ยังคงพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง ให้คนอ่านได้คิดใคร่ครวญ
แม้ว่าดูจะแตะต้องเพียงน้อยนิด ทว่ากลับทำให้สมองผมได้ขบคิดและทำงานหนักยิ่งกว่าการได้อ่านงานที่พยายามกระแทกกระทั้นสังคมอย่างเปิดเผย วิธีการที่ชอบมาที่สุดของลุงแก ก็คือ การพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องสั้นทุกเรื่อง ล้วนแต่เป็นสิ่งของจำเป็นต่อการเล่าเรื่องแทบทั้งสิ้น หรือพูดอีกอย่าง ก็คือ งานของลุงแกมักใช้ทรัพยากรน้อย ทว่าเน้นประโยชน์ใช้สอยมาก
ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น 'เสียดาย' ที่ว่า:-
ผมตื่นเช้ามืด ล้างหน้า แปรงฟัน นุ่งกางเกงกีฬา สวมรองเท้ากีฬาเดินออกกำลังเล่น ๆ ไปตลาดเทศบาล ตอนเช้าช่องทางเดินพลุกพล่าน แม่บ้านออกมาซื้อเนื้อ ซื้อฝักปลา ไปปรุงอาหาร ใต้ครอบหลังคาเสียงอื้ออึงฟังไม่ได้ศัพท์
ผมตรงไปซื้อปลาโออย่างหนึ่งกิโลฯ กลับมาต่อคิวซื้อข้าวเหนียวดำเปล่า ๆ ไม่ใส่หน้าหนึ่งห่อ ข้างเหนียวกลอย เนื้อเหลืองนวลอีกห่อ ใส่ถุงกลับมากินกับกาแฟ
ขากลับเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างคิวหัวมุมหน้าตลาดตัวเขาใหญ่ ไหล่กว้างกว่าผม อายุน่าจะอ่อนกว่าผมสักสี่ห้าปี สวมเสื้อกางเกงสีตุ่น ๆ เสื้อคิวสีเขียวแก่ นั่งบนเก้าอี้ข้าง ๆ มอเตอร์ไซต์รับจ้างห้าหกคนตอนลุกเดินขาข้างขวาเหยียดแข็งราวท่อนไม้
นอกจากการบรรยายภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ภาษาเรียบง่าย ทว่าสร้างมโนทัศน์ชัดเจน ลุงจำลองยังเขียนบทสนทนาได้อย่างพอดีคำมากอีกด้วย
มอเตอร์ไซต์รับจ้างชวนคุย "บ้านพี่อยู่อยู่ไกลนะ พี่เดินถึงตลาดเลยหรือ"
"ครับ ผมเดินเล่นพอมีกำลัง"
เขายิ้มเจื่อน ๆ "ผมอยากเดินอย่างพี่มั่ง ถ้ายังเดินได้"
"ทำไมล่ะ" ผมถาม
เขาตอบเศร้า ๆ "สะบ้าเข่าหลุดครับ...ถูกรถชนยกย่างเดินสองสามเมตรเจ็บร้าวไปทั้งขา นึก ๆ ก็เสียดายเหมือนกัน"
"เสียดายลูกสะบ้า" ผมถาม
"ใช่...ของติดมากับตัว ใคร ๆ ก็เสียดาย ชีวิตนี้ผมเดินเหมือนคนอื่น ๆ ไม่ได้อีกแล้ว"
"ทำไมถึงถูกรถชน"
"จะทำไมล่ะครับ ก็ไอ้มอเตอร์ไซต์นี่แหละ" เขาตอบ
"เมามั้ย" ผมซัก
"ไม่ได้เมา ย้อนศรนิดหน่อย...ไม่ถึงห้าสิบเมตร แค่ครั้งเดียวเอง"
จุดเด่นของลุงจำลอง อยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังของสังคม ผ่านเรื่องราวแสนธรรมดาที่ใคร ๆ ต่างสามารถสัมผัส และรับรู้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเทคนิคนี้ผมลองนำมาใช้กับเรื่องสั้น 'เรื่องประจำทาง' ดูแล้ว ก็พบว่าเป็นที่น่าพอใจ
คนต่อไป คือ คุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2549) ผมคิดว่านอกจากภาษาที่ใช้ต้องสั้นกระชับแล้ว คำที่ใช้ต้องหนักแน่นและมีพลังดึงดูดคนอ่านด้วย ซึ่งงานของคุณกนกพงศ์ ตอบโจทย์เรื่องนี้ของผมเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้จากในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น 'สะพานขาด' ที่ว่า:-
ลมแล้งพัดผ่านมาอีกหน ทันทีที่เม็ดฝนสุดท้ายสั่งลาฤดู ทันทีที่เดือนกุมภาพันธ์เริ่มต้น กระแสลมเหมือนหยุดหมุนอยู่ชั่วเวลาสามวัน ครั้นแล้ว ลมจากทิศตะวันออกนั่นเองที่เริ่มพัดมารวยริน หอบเอากระอายเย็นยามเช้ามาถึง หมอกเริ่มปรากฏตัวห่มคลุมพื้นดิน กระแสลมแห่งเดือนกุมภาพันธ์เจือกลิ่นความแห้งผากจนบางขณะก่อให้เกิดอารมณ์หดหู่
ภาษาของคุณกนกพงศ์ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งขรึม หนักแน่น และทรงพลัง จะเห็นได้จากบทบรรยายบรรยากาศฉากหลังของเรื่อง ซึ่งทำให้คนอ่าน อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่ง เกิดอาการติดหนึบ อยากอ่านต่อไป
คนสุดท้าย คือ คุณวินทร์ เลียววาริณ ผมพบว่าตัวเองอ่านหนังสือ 'สามก๊ก ฉบับ วินทร์ฯ' ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหตุผลมีอยู่สองประการ คือ หนึ่ง-เพราะว่ามันอ่านสนุก และผู้เล่า เล่าเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้น เร้าใจ และชาญฉลาด สอง-เพราะอยากจะเขียนให้ได้แบบนั้น จึงอ่านซ้ำและพยายามเลียนแบบวิธีเขียน
ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งของหนังสือ 'สามก๊ก ฉบับ วินทร์ฯ' ที่ว่า:-
เด็กเลี้ยงควายมีความสุขทุกครั้งที่เป่าขลุ่ย
มันเป็นเพียงขลุ่ยไม่ธรรมดา สำหรับเด็กเลี้ยงควายธรรมดา บรรพบุรุษของเขาตั้งรกรากอยู่ที่นี่มาหลายชั่วคน โลกของเขาคือท้องทุ่งแห่งนี้
พวกเขาทำไร่นา พวกเขาเลี้ยงควาย หน้าที่เลี้ยงควายเป็นของเด็ก ยามว่างเขาเป่าขลุ่ย มองดูควายเคี้ยวเอื้อง แช่น้ำ มองดูทิวทัศน์เบื้องหน้า ภูเขาสูง ธารไหลเรียบ แม่น้ำเรียบ ยอดไม้สูง ๆ ต่ำ ๆ หุบเหวลึกลง บางครั้งเขาคิดว่าเส้นขอบฟ้าสูงฟ้าต่ำคล้ายจังหวะดนตรี
ประกอบเป็นบทเพลงที่งดงามดั่งเสียงจากสวรรค์ เด็กเลี้ยงควายมองเส้นขอบฟ้าอย่างเหม่อลอย เขาชอบมองภาพเบื้องหน้า มันมีมนต์สะกดใจเขาเสมอ นี่คือแผ่นดินดนตรีที่เทพประทาน
เขามิรู้ว่ามีสิ่งใดอยู้ข้างหลังเทือกเขาและแม่น้ำ เขาไม่เคยคิดข้ามภูเขาและแม่น้ำ เขามีความสุขในโลกของเขาแล้ว เด็กเลี้ยงควายเริ่มเป่าขลุ่ย เสียงขลุ่ยสะดุดวูบ เมื่อโสตแว่วเสียงหนึ่งแทรกเข้ามา
เป็นเสียงกลองกังวานหนักแน่นตามด้วยเสียงย่ำเท้าของคนและม้า มิใช่คนคนเดียว ม้าตัวเดียว หากเป็นกองทัพ
เสียงกลองดังหนักแน่นขึ้น มันคือกลองศึก ดังจนหัวใจสะท้านหวั่นไหว เขารู้ว่าท้องทุ่งนี้กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิ และโลกของเขากำลังเปลี่ยน
งานของคุณวินทร์ชิ้นนี้ ผมยกให้เป็นเพชรน้ำเอกของวรรณกรรมร่วมสมัยในใจตลอดกาล การเล่าเรื่องแบบโพล่งขึ้นฉับพลัน
แล้วตามด้วยการบรรยายเพิ่มเติม อย่างมีจังหวะก้าว และท่วงทำนองเหมือนกับนิยายจีนกำลังภายใน ได้สร้างความรู้สึกเพลิดเพลิน อิ่มเอมใจ และจินตนาการโลดแล่นไป แก่ผมเป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายนี้ ผมรู้สึกว่าการเขียนหนังสือ เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง อดทน และเรียนรู้อย่างไม่หยุดหยั่ง นอกจากนี้ ผมยังมองอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสร้างสรรค์ผลงานเขียน ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ
กล่าวคือ หากเราใช้ภาษาได้ไม่ดี มีภาษาที่ไม่สวย งาม อย่าได้ท้อแท้ครับ ทางออกสำหรับผม ก็คือ ใช้คำให้น้อยเท่าที่จะทำได้ ใช้คำทั่วไปที่คนเข้าใจ ยิงตรงไปที่ประเด็นหลัก เล่าแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ จัดวางคำให้พอดี (อ่านออกเสียงไม่สะดุด) ย่อหน้าให้บ่อย เพื่อขยายพื้นที่ว่างให้กับตัวบท เท่านี้ผมก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับงานเขียนที่พอไม่วัดไปวาได้
ก่อนหน้านี้ ผมเคยมีอาการ Writer's block มันเป็นอาการอยากเขียน แต่เขียนอะไรไม่ออก ติดแหง็ก ตีบตัน ไร้ซึ่งไอเดียใหม่ ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร ต่อยังไง และจะจบแบบไหน ซึ่งผมคิดว่านักอยากเขียน กระทั่งนักเขียนมือใหม่ หลายคนคงเคยเผชิญหรืออาจจะกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ถึงกระนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า ทุกอย่างมีทางแก้เสมอ ในเรื่องนี้ สำหรับผมแล้ว แก้ไขโดยการเริ่มต้นเขียนในสิ่งที่ใกล้ตัว และคิดว่าตนเองรู้มากที่สุดก่อน โดนทิ้งพล็อตเรื่องบ้า ๆ ในหัวไปซะ ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน เริ่มต้นจากสิ่งสามัญ จากความเรียบง่าย มองหาเหตุการณ์รอบตัว หยิบมันมาเขียนสักหนึ่งเรื่อง
บอกเล่าให้แบบของเราเอง เขียนแบบไหนก็ได้เชิญตามสบาย แต่ขอคนอ่าน อ่านแล้วเชื่อว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนั้น คือ "ความจริง" มีที่มาที่ไปไม่ได้นั่งเทียนเขียนขึ้นมาลอย ๆ และขอให้อยู่บนพื้นฐานของ "Short but impact story writer" ที่งานเขียนที่ดีควรมี
...กระชับ มีประเด็น อ่านแล้วเพลิดเพลินและลื่นไหล
โฆษณา