19 มิ.ย. 2020 เวลา 06:33 • การศึกษา
ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด
nulla poena sine lege
"ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฎหมายและหลักกฎหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นหลักการสากลว่า จะมีโทษสำหรับผู้กระทำการอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมายมิได้ ภาษิตนี้มีฝาแฝดคือภาษิต "ไม่มีความผิดถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" ( nullum crimen sine lege)
ทั้งสองมาจากภาษิตเต็มว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน" (nullum crimen, nulla poena sine praevia lege poenali) อันเป็นหลักที่ถือปฏิบัติกันเคร่งครัดว่า ในทางอาญากฎหมายจะมีผลย้อนหลังไม่ได้ เว้นแต่ย้อนหลังไปเป็นคุณแก่ผู้ต้องโทษ
1
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รับรองหลักกฎหมาย "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" และ "ไม่มีความผิดถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" โดยมีบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยว่า “มาตรา 29 บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้"
ในขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า “มาตรา 2 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะ กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแต่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและถ้าได้มีคำพิพากษา ถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"
1
โฆษณา