19 มิ.ย. 2020 เวลา 11:30 • การศึกษา
🕡 77 ปี “สวัสดี” แบบไทยๆ
วันก่อนค่ะ ขณะขับรถอยู่...
มีโอกาสได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่ง พูดถึงการใช้ภาษาไทย และมีการเสนอคำ “สวัสดี” อ่านว่า “สะ-หวัด-ดี” โดยให้คำอธิบายโดยสังเขปว่า คำๆ นี้เกิดขึ้นในสมัย จอมพลป. พิบูลสงคราม และใช้เป็นคำทักทายครั้งแรกในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จับต้นชนปลายได้เพียงเท่านั้น ก็มีเหตุให้ต้องปิดวิทยุไป...
แต่ด้วยความที่มีเลือดสีชมพูอยู่ในกาย พอมีใครอ้างถึงสถานบันอันเป็นที่รัก จึงเกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความเป็นไปเป็นมาของคำ “สวัสดี กับ จุฬาลงกรณ์” อยู่ในใจ จนวันนี้ ถึงได้มีโอกาสไขข้อข้องใจค่ะ
.
.
.
“สวัสดี” หมายถึง ความดี ความงาม ความปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง การอวยชัยให้พร คำทักทาย หรือใช้พูดเมื่อพบหรือจากกัน
ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่าสวัสดี คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยท่านได้มอบคำนี้ให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายกัน เมื่อราว พ.ศ. 2477 – 2478 มาแล้ว
ที่ทราบว่าเป็นเช่นนั้น เพราะมีการค้นเจอจดหมายลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2478 ส่งถึงนิสิตอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า
.
.
.
“คำว่า ‘สวัสดี’ ที่ครูได้มอบไว้แต่ต้น โปรดจงโปรยคำอมฤตนี้ทุกครั้งเถิด จะใช้ ‘สวัสดี’ ห้วนๆ หรือ ‘สวัสดีขอรับ’ หรือ ‘สวัสดีขอรับคุณครู’ หรือจะเหยาะให้หวานว่า ‘สวัสดีขอรับคุณอาจารย์’ ครูเป็นปลื้มใจทั้งนั้น ถ้าสงเคราะห์ให้ได้รับความปิติยินดีแล้วเมื่อพบครูครั้งแรกไม่ว่าที่ไหนโปรดกล่าวคำนี้ ครูจะปลาบปลื้มเหลือเกิน ยิ่งเป็นที่อื่น เช่น ในกลางถนน บนรถราง ครูปลาบปลื้มเป็นทวีคูณ เพราะจะได้เป็นตัวอย่างแก่สาธารณชนชาวไทยทั่วไป
เป็นความจริงนิสิตชายหญิงที่พบครูในที่ต่างๆ และกล่าวคำ ‘สวัสดี’ ทำให้ครูปลาบปลื้มจนต้องไปตรวจดูบัญชีชื่อว่าเป็นใครเสมอ
มีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง เธอพบครูและกล่าวว่า ‘สวัสดีค่ะ’ แต่ครูไม่ได้ยิน เธอกล่าวอีกครั้งหนึ่งครูก็ไม่ได้ยิน แต่มีคนอื่นเขาเตือน ครูต้องวิ่งไปขอโทษ กว่าจะทันก็หอบ ครูจึงขอโทษไว้ก่อน คำอมฤตอันปลาบปลื้มที่สุดของครูนี้ ถ้าครูได้ยินก็จะตอบด้วยความยินดีเสมอ ที่ครูนิ่งไม่ตอบรับเป็นด้วยไม่ได้ยิน เพราะหูตาของครูเข้าเกณฑ์ชราภาพแล้วโปรดให้อภัยครู
ขอจงสอบได้ทุกคนเถิดนิสิตที่รักของครูทั้ง 2 ชั้น
(ลงนาม) พระยาอุปกิตศิลปะสาร
.
.
.
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2535
อ่านจดหมายจากคุณครูจบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์อยู่ในสมัยนั้น แต่เกิดความรู้สึกร่วม และอยากจะเอ่ยคำอมฤตที่คุณครูได้มอบไว้ ให้บ่อยขึ้นกว่าเดิม
“สวัสดีค่ะ” ชาว Blockdit
“สวัสดี” ทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะคะ
“สวัสดี” คนที่กด Like ค่ะ
“สวัสดี” คนที่มาทักทายด้วยค่ะ
“สวัสดีค่ะ” วันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ
#บันทึก(ไม่ลับ) ทิ้งท้าย - “สวัสดี” คำสั้นๆ ที่เราใช้ทักทายกันอยู่ทุกวัน ช่างมีความหมายลึกซึ้ง อย่างที่เราไม่เคยคิดลึกซึ้งมาก่อน
โฆษณา