19 มิ.ย. 2020 เวลา 12:43 • ประวัติศาสตร์
สวัสดีที่แห่งนี้คือ " เมืองพระประธม นครปฐม "
เมืองแห่งเรื่องราวที่เกิดจากแรงงานมนุษย์พวง !
เมืองนครปฐม : ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมืองเมื่อสมัยปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ (ร.ศ.๑๑๔)
แต่เดิมนั้นเป็นอำเภอหนึ่งเรียก "อำเภอพระปฐมเจดีย์ " ขึ้นอยู่กับเมืองนครชัยศรีในขณะนั้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖. ได้ทรงโปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เปลี่ยนชื่อ " อำเภอพระปฐมเจดีย์" เป็น "อำเภอเมืองนครปฐม" ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา..
เมืองนครปฐมจัดเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของดินแดนแถบนี้ก่อนที่จะเรียกสยาม หรือ ประเทศไทย เนื่องจากพบโบราณสถานเป็นจำนวนมาก เช่น เจดีย์จุลปะโทน, วัดพระเมรุ, พระปฐมเจดีย์ โดยเฉพาะเจดีย์จุลปะโทน และวัดพระเมรุ นั้น นักปราชญ์ทางโบราณคดีลงความเห็นว่าเป็นศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) ซึ่งรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ นอกจากนั้นยังพบศิลาธรรมจักรจำนวนมาก ประมาณ ๓๐ กว่าวง บางวงมีศิลารูปกวางหมอบประกอบอยู่ ได้พบพระพุทธรูปตลอดจนพระพิมพ์จำนวนมากอีกด้วย
หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖๓ เป็นต้นไป
เมืองนครปฐมแห่งนี้เคยถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างเป็นเวลานานเนื่องจากไม่ปรากฏเป็นชื่อเมือง แต่ต่อมาในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีว่าเป็นเมืองร้างซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยในครั้งนั้น สาเหตุที่เป็นเมืองร้างนั้นคงเป็นเพราะแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนซึ่งไหลผ่านเมืองนครปฐมแต่เดิมนั้นเปลี่ยนทางเดินใหม่และไหลห่างจากตัวเมืองออกไปมาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าพระเจ้าอนิรุธ (กษัตริย์พม่าแห่งเมืองพุกาม) ได้เสด็จยกทัพมาตีเมืองนครปฐมแทนเมืองสะเทิมราว พ.ศ.๑๖๐๐ และกวาดต้อนผู้คนไป ทำให้เมืองนี้ร้างไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากชาวเมืองที่เหลือซึ่งคงจะเป็นชาวทวารวดีคงจะย้ายไปตั้งที่เมืองอู่ทอง และร้อยปีต่อมาราว พ.ศ.๑๗๓๑ พระเจ้าไชยศิริต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองสู้มอญไม่ได้ก็อพยพพม่าที่เมืองนครปฐม อีกครั้งหนึ่ง โดยมีหลักฐานยืนยันว่าพระนามพระเจ้าไชยศิริ ก็ตรงกับชื่อเก่าของเมืองนครปฐม คือ ไชยศิริ หรือ ศิริไชย.
ต่อมาเมืองนครปฐมกลับร้างไปอีก เพราะแม่น้ำตื้นเขินและกลับมาตั้งขึ้นอีกในสมัยอยุธยา คือ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรียกว่าเมืองนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์หลังจากเสร็จศึกษาหงสาวดีครั้งแรกแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๔ ได้มีการจัดเตรียมการป้องกันประเทศครั้งใหญ่โดยโปรดให้ข้าหลวงออกเที่ยว สำรวจบัญชีสำมโนครัว และคัดคนเข้าทะเบียนเพิ่มกำลังทหารทุกหัวเมืองชั้นใน ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดให้ตั้งเมืองนครชัยศรี ขึ้นเพื่อรวบรวมบรรดาชายฉกรรจ์ที่หลบหนีเข้าป่าเข้าดงไป ดังข้อความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดาร ๔ ว่า
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไพร่บ้านพลเมืองจัตวาปากใต้เข้าพระนคร ครั้งนี้น้อยหนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสาคารบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรีให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี"
.. แต่เมืองนครไชยศรีครั้งนั้นมิได้อยู่บริเวณที่เป็นอำเภอเมืองนครปฐมปัจจุบัน หากแต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครไชยศรี ซึ่งเรียกกันว่าในปัจจุบันว่า ตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี เมื่อตั้งเมืองนครไชยศรีขึ้นแล้ว ประชาชนก็พากันอพยพไปอยู่ที่นั่นมากขึ้น
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังไม่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ขณะยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปพบซากสถูปเจดีย์เก่า (พระปฐมเจดีย์) เข้า จึงนำความเข้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๓ พระเชษฐา จะขอบูรณะซากเจดีย์นั้น แต่พระเชษฐาไม่ทรงโปรด ตรัสว่าเป็นของอยู่ในป่ารก ไม่ทรงเห็นว่าสมควรบูรณะปฏิสังขรณ์ใดๆ .
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงเสวยราชย์แล้วจึงทรงมีพระดำริว่าพระปฐมเจดีย์เป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างแต่แรกก่อนพระศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ แต่ก่อนพระสถูปเจดีย์องค์อื่นๆ ทั้งหมด แม้มหานครเดิมอันตั้งอยู่ที่ประดิษฐาน พระเจดีย์นั้นร้างจึงกลับกลายเป็นป่าเปลี่ยว มหาชนต่างก็เคยเลื่อมใสไปบูชาพระปฐมเจดีย์ (ชาวบ้านเรียกว่าพระปทุม) มิได้ขาดจึงทรงพระราชศรัทธาโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วทั้งบริเวณ โดยให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ (โดยการทำสร้างพระเจดีย์ครอบถึง สามหนจึงสำเร็จ / ครั้งก่อนๆ พังทลายลง) อีกทั้งยังทรงบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆรอบๆ บริเวณพระปฐมเจดีย์ให้งดงามยิ่งขึ้นอีกด้วย
โดยทรงโปรดให้ลงมือทำการก่อสร้างโดยเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นต้นมา และโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่กอง แต่สมเด็จพระยาองค์นี้ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ อำนวยการจัดทำต่อมา โปรดให้สร้างพระราชวังที่ประทับไว้คู่กับวัด เรียกว่า พระราชวังปฐมนคร
(พระราชวังปฐมนครนี้เป็นที่ประทับของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ในการเสด็จควบคุมดูแลการบูรณะองค์เจดีย์ตลอดรัชกาล ปัจจุบันไม่มีแล้ว ... ?)
จากนั้นล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ก็ทรงโปรดให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมระหว่างเมืองนครปฐมกับเมืองบางกอก สะดวกขึ้นกว่าเดิมซึ่งคลองนี้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของผู้คนในอดีต.
อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีราษฎรอพยพมาอยู่บริเวณพระปฐมเจดีย์มากนัก ยังคงตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำนครไชยศรีเสียเป็นส่วนใหญ่ ..
จนกระทั่งรัชสมัยพระปิยมหาราช พระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ บริเวณพระปฐมเจดีย์ก็ยังคงสภาพเป็นป่ารกอยู่บางส่วนยังมิได้เจริญซะเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนมีจำนวนน้อยและยังไม่เจริญนัก
จวบจนเมื่อมีการเริ่มทำทางรถไฟสายใต้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ นั้น พวกรับเหมาทำทางรถไฟได้ไปรื้อเอาก้อนอิฐเก่าบริเวณใกล้ไกล ซื้ออิฐที่ชาวบ้านไปรื้อตามซากเจดีย์เก่ามาบ้างนำมาถมเป็นอับเฉากลางรางรถไฟ ได้อิฐพอถมตั้งแต่สถานีบางกอกน้อยไปตลอดทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร ทำให้มีเจดีย์โบราณอยู่จำนวนมากมายที่มีอยู่เก่าได้ถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดายจำนวนหนึ่ง.
(เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนทราบมากนักนะ.)
และเมื่อทางรถไฟแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงทรงโปรดให้มีการบูรณะเมืองขึ้นใหม่โดยมีการย้ายที่ว่าการมณฑลจากบริเวณริมแม่น้ำเดิมให้ไปตั้งใหม่ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๔๐
ในการนี้เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน) ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาล เห็นว่าเป็นการใหญ่เกินกว่าที่จะขอเงินหลวงมาจ่ายให้พอในการสร้างเมืองใหม่ขึ้น และเกินแก่การทำการได้ .. (อ่านต่อนะ) ..
จึงมีแนวคิดว่าการต้องสร้างเมืองนครปฐมขึ้นนั้นจำเป็นไปได้โดยใช้แรงนักโทษ จึงให้พระพุทธเกษตรานุรักษ์ พะทำมะรง มณฑลนครชัยศรี ผู้ควบคุมนักโทษมาเป็นนายงานคุมนักโทษสร้างจวนที่พักข้าราชการ สร้างตลาด ขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างโรงเรียนขึ้นโรงเรียนหนึ่งชื่อ "โรงเรียนวิชาชำนะโฉด"
จะขอเล่าความเป็นมาโรงเรียนวิชาชำนะโฉดนี้สักหน่อยนะ โรงเรียนแห่งนี้เป็นหนึ่งในผลงานสร้างเมืองใหม่ของแรงงาน "นักโทษ" แรกสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีหลวงวิศาลดรุณการ (อั้น สารีบุตร) เป็นครูใหญ่คนแรก
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชนามโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนวิชาชำนะโฉด" เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๒
โรงเรียนวิชาขำนะโฉด คำว่า "วิชา" แปลว่า วิชา คำว่า "ชำนะ" แปลว่า ชนะ คำว่า "โฉด" แปลว่า โง่เขลา จึงรวมกันได้ว่า "โรงเรียนวิชาชนะความโง่เขลา" พระพุทธเกษตรานุรักษ์ได้ทำป้ายชื่อตามนามพระราชทานว่า "โรงเรียนวิชาชำนะโฉด" อยู่ใต้พระลัญจกรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ารัชกาลที่ ๖) ในตู้ไม้บานกระจกติดตั้งที่หน้าจั่วอาคารโรงเรียนและใช่ตราพระเกี้ยวเป็นตราของโรงเรียนแห่งนี้
กาลต่อมา "โรงเรียนวิชาชำนะโฉด" นี้ก็คือ "โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย" ในปัจจุบัน
นอกจากสร้างโรงเรียนวิชาชำนะโฉด แล้วยังตลอดจนมีการปรับปรุงพระราชวังปฐมนคร พระราชวังสำหรับเป็นที่เสด็จมานครปฐมของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ (ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว) อีกทั้งมีการ ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ และสร้างถนนหนทางต่างๆ
และยังคิดจะสร้างเป็นอนุสาวรีย์ "นักโทษผู้สร้างเมือง"
ขึ้นที่เมืองนครปฐมนี้อีกด้วย. (แต่มิได้ทันสร้าง)
แนวคิดนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าเป็นเกร็ดบันทึกไว้ตอนนี้ไว้หนึ่งย่อหน้าว่า ..
“เนื่องในเรื่องสร้างนครปฐม ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าออกไปพักอยู่ที่เมืองนครปฐม เมื่อทำถนนรอบองค์พระปฐมสำเร็จแล้วทั้ง ๔ ด้าน ท่านเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ได้มาหารือข้าพเจ้าว่าตรงกลางวงเวียนที่ถนนหน้าพระ ต่อกับถนนเทศานั้น จะทำเสาโคมหรืออะไรเป็นเครื่องประดับดี ข้าพเจ้าเคยพูดเล่นกับเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่าถ้าเป็นเมืองฝรั่ง กลางวงเวียนเช่นนี้เขามักทำอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึก ถ้าจะทำอนุสาวรีย์ในการสร้างเมืองนครปฐม
ข้าพเจ้ามีความเห็นควรจะทำเป็นรูปนักโทษ เพราะสร้างเมืองนครปฐมสำเร็จด้วยแรงนักโทษ ในเวลานั้นข้าพเจ้าเล่นถ่ายรูปอยู่แล้ว เผอิญมีนักโทษที่เขาจ่ายให้มารักษาพื้นที่บังกะโลที่ข้าพเจ้าอยู่ จึงเรียกนักโทษคนหนึ่งให้มายืนทำท่าอนุสาวรีย์ แล้วถ่ายรูปไว้ดูเล่น”
(นครปฐมจึงได้ชื่อว่าเมืองที่สร้างโดยแรงงานมนุษย์พวง หรือนักโทษ คำว่ามนุษย์พวงนี้มาจากการร้อยโซ่ตรวนเป็นพวงหรือพลวนนั้นเอง)
จากนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมิได้บันทึกต่อเรื่องราวดังกล่าวนี้อีก
(สรุปความจากคอลัมน์ “ภาพเก่าเล่าตำนาน” โดย อเนก นาวิกมูล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ หน้า ๑๐๙ - ๑๑๐ )
(ต่อ) .. การย้ายเมืองนครไชยศรีจากตำบลท่านามาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และได้มีการวางผังเมืองใหม่ โดยสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ขึ้นหลายแห่ง ตลอดจนตัดถนนขึ้นใหม่อีกหลายสาย ประชาชนจึงอพยพมาอยู่ที่เมืองใหม่มากขึ้นตามลำดับแต่ยังคงเรียกว่าเมืองนครไชยศรีและเป็นเมืองตั้งที่ว่าการมณฑลอยู่เรื่อยมาจวบจนตลอดรัชกาลที่ ๕.
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันทร์และเสด็จแปรพระราชฐานมา ประทับ ณ พระราชวังสนามจันทร์นี้เสมอ เมืองนี้จึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครไชยศรีเป็นเมืองนครปฐม แต่ตัวมณฑลยังคงเรียกว่ามณฑลนครชัยศรีอยู่ตามเดิม จนกระทั่งยุบเลิกมณฑลไปในสมัยรัชกาลที่ ๗.
ปัจจุบันนี้จังหวัดนครปฐมแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๖ อำเภอ และ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี อำเภอกำแพงแสน อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม และกิ่งอำเภอพุทธมณฑล.
มีตำนานหลายฉบับกล่าวถึงเรื่องเมืองนครปฐมโบราณและเจดีย์สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ และพระประโทนเจดีย์ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ๘ ได้รวบรวมไว้ ฉบับพระยามหาอรรคนิกรและฉบับนายทองกล่าวถึง เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครปฐมโบราณไว้ว่า เดิมเมืองนครปฐมโบราณมีชื่อว่า "เมืองนครไชยศรี หรือ ศรีวิชัย" ก่อนการตั้งเมืองนครไชยศรีนั้น มีตำบลบ้านพราหมณ์อยู่ เรียกว่า บ้านโทณะพราหมณ์ ซึ่งเอาโทณะ คือ ทะนานทองที่ตวงพระบรมธาตุพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในเรือนหิน (เจดีย์)
เมื่อพุทธศักราช ๑๑๓๓ ต่อมาท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพผู้ครองเมืองมโนหัน (ติดกับเมืองยศโสธร) ได้มาสร้างเมืองนครไชยศรีขึ้นเป็นเมืองใหญ่ ข่าวเกี่ยวกับโทณะที่ตวงพระบรมธาตุล่วงรู้ไปถึงลังกาทวีป เจ้าเมืองลังกาใคร่ได้หน่วยโทณะไปไว้ในลังกาเพื่อให้ชาวเมืองได้นมัสการ จึงอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่แห่งสังกาในขณะนั้น คือ พระกัลยาดิศเถระเจ้าให้เป็นทูตมารทูลขอจากพระยาศรีสิทธิชัยพระยาศรีสิทธิชัย ไม่ขัดข้อง แต่ขอแลกกับพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งทะนานจากลังกา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างพระยาศรีสิทธิชัยและพระกัลยาดิศ เถระเท่านั้น
แต่พวกพราหมณ์แห่งเมืองนครชัยศรีไม่ยินยอม พระยาศรีสิทธิชัยจึงยกรี้พลออกไปตั้งเมืองใหม่ (คงเป็นบริเวณพระปฐมเจดีย์ปัจจุบัน) ให้ชื่อว่าเมืองปาวันแล้วสร้างพระปฐมไสยาสน์องค์หนึ่ง (น่าจะเป็นพระปฐมเจดีย์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วช่วงชิงเอาโทณะจากหมู่พราหมณ์ให้พระกัลยา ดิศเถระไปประดิษฐานไว้ในสุวรรณเจดีย์ที่ลังกา
ล่วงถึงพุทธศักราช ๑๑๙๙ กษัตริย์เมืองละโว้ ทรงพระนามว่า พระเจ้ากากะวรรณดิศราช ได้มาก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนหินที่บรรจุพระทะนานทอง คือ โทณะ สำหรับตวงพระบรมธาตุแล้วจึงให้นามว่า "พระประโทณเจดีย์"
นอกนั้นยังมีหลักฐานในหนังสือไตรภูมิว่า พระประโทณเจดีย์ สร้างเมื่อพุทธศักราช ๑๑๙๙ อีกตำนานหนึ่ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้มาจากพระยาราชสัมภารากร และพระวิเชียรปรีชา เป็นบันทึกของตาปะขาวรอดมีใจความว่า มีพระยาองค์หนึ่ง ชื่อ ท้าวสิการาชได้ครองราชสมบัติเมืองศรีวิชัย คือ เมืองนครไชยศรี (นครชัยศรี) มีราชบุตรนามว่าพระยากง เมื่อพระยาสิการาชสวรรคตแล้ว พระยากงได้ครองราชย์สืบต่อพระยากงมีพระมเหสีประสูติพระราชกุมารออกมาองค์ หนึ่งซึ่งโหราจารย์ทำนายว่ามีบุญญาธิการมากแต่จะกระทำปิตุฆาต พระยากงจึงรับสั่งให้เอาพระราชกุมารไปทิ้งเสีย ราชบุรุษจึงเอาราชกุมารไปทิ้งไว้ในป่าไผ่ริมบ้านยายพรหม ยายพรหมจึงเอาไปให้ยายหอมซึ่งไม่มีบุตรเลี้ยงไว้
ครั้งเมื่อราชกุมารนี้โตขึ้นได้ไปแสวงโชคเมืองเหนือ และได้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัย ต่อมาได้ยกรี้พลมาท้าชนช้างกับพระยากง และฆ่าพระยากงสำเร็จ จึงยกรี้พลเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองพระยากง และคิดจะเอาพระมเหสีพระยากงซึ่งเป็นพระมารดานั้นมาเป็นภรรยา
เหล่าเทพยดาจึงเนรมิตเป็นสัตว์นานาประเภท
มาบอกเป็นนัยแก่พระกุมาร และเมื่อสอบถามความจริงจากพระมเหสีของพระยากงและจึงทราบว่าพระยากงนั้นเป็นพระราชบิดา ก็โกรธยายหอมที่ปิดบังความจริง ทำให้พระองค์ต้องทำปิตุฆาต จึงไปฆ่ายายหอมตาย คนทั้งหลายจึงเรียกว่า พระยาพาน (พาล) เพราะฆ่าบิดาและยายหอมผู้มีคุณ เมื่อพระยาพานได้ครองราชสมบัติในเมืองศรีวิชัยและก็ปริวิตกว่าฆ่าบิดากับยาย หอมผู้มีคุณแล้ว เพื่อจะไถ่บาปจึงประชุมพระอรหันต์และพระสงฆ์ทั้งปวง .
ในราวปีพุทธศักราช ๕๖๙ เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายจึงเข้าทูลแนะนำว่าให้สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่และสูงชั่วนกเขาเหิน ขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป ปลดเปลื้องให้น้อยลงไป พระยาพานจึงก่อพระมหาเจดีย์นี้ขึ้นเป็นลอมฟางให้สูงชั่วนกเขาเหิน แล้วบรรจุพระทันตธาตุ คือพระเขี้ยวแก้วไว้ในองค์พระเจดีย์นี้ด้วย .
ภาพเมืองปฐมเจดีย์ เมืองที่สร้างด้วยแรงงาน
มนุษย์พวง ("ผู้ต้องโทษ") ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕.
(จัดทำภาพขึ้นใหม่).
" นั่งพิมพ์เล่าให้คนรุ่นหลังๆ ได้รับรู้เรื่องราว "
Phra Pathom Chedi Nakhon Pathom .
เพจ เรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีต ®.
#เงินตราโบราณ #เงินพดด้วง #สตางค์รู
#เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก #เหรีญกษาปณ์หมุนเวียน #เหรียญเก่า #เหรียญหายาก #ธนบัตรเก่า #แบงค์เก่า #เงินหมุนเวียน
#นักสะสม_เงินตราโบราณ
#นครปฐม_เงินตราโบราณ
โฆษณา