20 มิ.ย. 2020 เวลา 06:27 • ไลฟ์สไตล์
สุนัข สัตว์เลี้ยงประจำบ้านที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงธรรมดานะ
รู้หรือไม่ สุนัขมีเวทมนตร์ในการเยียวยาจิตใจที่ซึมเศร้าให้สดชื่น มีชีวิตชีวามากขึ้น
สถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ อาชญากรรม การเมือง ล้วนส่งเสริมให้มนุษย์จิตใจห่อเหี่ยว เข้าใกล้ความซึมเศร้าเข้าไปทุกวัน
วงการแพทย์มีการศึกษา “สุนัขบำบัด” มาอย่างยาวนาน เช่น
- การใช้สุนัขช่วยฟื้นฟูจิตใจและผ่อนคลาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่ต้องเผชิญกับความหลงลืมและซึมเศร้าในเวลาเดียวกัน
- เด็ก ๆ สมาธิสั้น ที่โดยปกติจะมีพลังงานล้นเหลือและไม่สนใจทำกิจกรรมใดได้นาน สุนัขบำบัดสามารถช่วยให้เด็กสมาธิสั้น สนใจที่ตัวสุนัขและเป็นเพื่อนเล่นกันได้
- เด็ก ๆ ที่เป็นออทิสติก บางครั้งมีพฤติกรรมทำอะไรบางอย่างซ้ำ ๆ และไม่ค่อยสนใจสภาพแวดล้อม น่าประหลาดที่สุนัขสามารถช่วยให้เด็ก ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น
แม้แต่การใช้สุนัขบำบัด เพื่อช่วยดูแลสภาพจิตใจของนักโทษในเรือนจำ ก็ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี มีความเชื่อว่า “สุนัขสามารถดึงด้านที่อ่อนโยนในจิตใจของพวกเขาออกมาได้”
สุนัขรับรู้อารมณ์และร่วมแชร์ความรู้สึกไปกับเจ้าของเสมอ
เพราะเหตุใด สุนัขจึงมีความสามารถพิเศษในการเยียวยาจิตใจ
เคยรู้สึกหรือไม่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสุนัขวนเวียนอยู่รอบตัว เรามักจะรู้สึกอบอุ่นและไม่โดดเดี่ยว คล้ายมีเพื่อนสนิทอยู่ใกล้ ๆ
เหตุผลของความรู้สึกเหล่านี้ คือ
- หน้าตา ท่าทาง ขนนุ่ม ๆ และความกระตือรือร้นของสุนัข ให้ความรู้สึกแบบเดียวกับที่เรามองเห็นเด็กทารก ร่างกายผลิตฮอร์โมนแห่งความรัก ที่เรียกว่า ออกซิโทซิน (Oxytocin) ออกมา ทำให้ร่างกายรับรู้ได้ถึงความสุข เหมือนตอนมีความรักนั่นเอง
- สุนัขจะพยายามอย่างมากที่จะเอาใจเจ้านาย ทั้งชวนเล่น เลีย ถูไถ หรือแม้แต่การนั่งเฝ้ามองเจ้าของเฉย ๆ ให้เรารับรู้ได้ว่า สุนัขคอยอยู่ใกล้เราเสมอ นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมสุนัขถึงทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น เพราะ “สุนัขทำให้รู้สึกว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยวและไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก”
- สุนัขรับรู้อารมณ์ของเจ้านายได้เสมอและยังร่วมเศร้าไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามสุนัขจะพยายามอย่างมากที่จะทำให้เจ้านายอารมณ์ดีขึ้น
กาโตโระนำเสนอ สายพันธุ์สุนัขที่คัดเลือกมาแล้ว ว่าสามารถเยียวยาจิตใจได้อย่างแน่นอน และคุณจะไม่ผิดหวังหากได้รู้จักและได้รักพวกเขา
Cavalier King Charles Spaniel
“สุนัขพันธุ์แควาเลียร์ คิงส์ ชาลส์ สแปเนียล” ที่สุดของสุนัขที่น่ารักน่ากอดเหมือนฟองน้ำนุ่ม ๆ ทำให้มีชื่อเล่นว่า “The Love Sponge” เหมาะสำหรับเป็นสุนัขบำบัด ด้วยรูปร่างหน้าตาที่น่ารักและนิสัยที่ชอบแสดงความรัก ชอบให้กอด
Labrador Retriever
“สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์” เป็นสุนัขตัวใหญ่ที่มีนิสัยขี้เล่น ใจดี และชอบออกกำลังกาย จะไม่เหงาอย่างแน่นอนเพราะลาบราดอร์ จะหากิจกรรมมาชวนเล่นอยู่เสมอ
Poodle
“สุนัขพุดเดิ้ล” มีหน้าตาที่น่ารัก ชอบวนเวียนอยู่รอบตัวเจ้าของ สามารถเรียนรู้คำสั่งได้อย่างรวดเร็ว ติด 1 ใน 5 สุนัขที่ฉลาดที่สุดในโลก
Golden Retriever
“สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์” เป็นสายพันธุ์ยอดนิยม 1 ใน 3 ของโลก จากหน้าตาท่าทางที่ดูเหมือนเด็กซน ๆ มีความกระตือรือร้นและอยากรู้อยากเห็น ในขณะที่ความฉลาดของสุนัขพันธุ์นี้ก็ไม่เป็นรองใคร สามารถเรียนรู้คำสั่งได้อย่างรวดเร็ว มีความเป็นมิตรกับเด็ก
Yorkshire Terrier
“สุนัขพันธุ์ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย” หนึ่งในสุนัขสายพันธุ์ยอดนิยมมากที่สุดในโลก ด้วยหน้าตาน่ารัก ขนาดตัวเล็กจิ๋ว ความเฉลียวฉลาด ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีชีวิตชีวาเมื่อมีสุนัขยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย อยู่ใกล้ ๆ
ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย ชื่อ สโมกกี้ (Smoky) เป็นสุนัขบำบัดตัวแรกของโลกที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สโมกกี้ถูกเก็บมาจากป่าแถบนิว กินี โดยทหารอเมริกัน ซึ่งการเก็บลูกสุนัขใส่เป้ออกมาจากป่าคราวนั้น ได้ผลเกินคาด เพราะความน่ารักของสโมกกี้ ช่วยเยียวยาจิตใจที่หดหู่ของทหารในค่ายได้เป็นอย่างดี
Vizsla
“สุนัขพันรธุ์วิซสลา” เป็นสุดยอดสุนัขบำบัดที่มีความสามารถในการลดความเครียดและความซึมเศร้า เนื่องจากสุนัขมีความพยายามใกล้ชิดกับเจ้าของตลอดเวลาและไม่ชอบการอยู่คนเดียว ทำให้มีชื่อเล่นว่า “The Velcro Dog” เพราะสุนัขวิซสลาจะทำตัวติดหนึบกับเจ้าของเหมือนถูกแปะไว้ด้วยเทปตีนตุ๊กแก
Pug
“สุนัขพันธุ์ปั๊ก” มีรูปร่างหน้าตาที่น่ารัก นิสัยกระตือรือร้นและสามารถฝึกสอนง่าย ด้วยนิสัยที่ดูร่าเริงทำให้สุนัขพันธุ์นี้ให้ความรู้สึกถึงพลังบวก มีคำกล่าวว่า “ถ้าหากให้ความรักกับปั๊กแล้ว ปั๊กก็จะให้ความรักแก่คุณเช่นกัน”
7 สายพันธุ์สุดยอดสุนัขบำบัด คัดเลือกจากลักษณะนิสัยที่ชอบอยู่กับมนุษย์ ความกระตือรือร้น และความเป็นมิตร แต่อย่างไรก็ตามสุนัขทุกตัวบนโลกมีความสามารถเยียวยาจิตใจได้
ก่อนเลี้ยงสุนัขอย่าลืมพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัยด้วยนะ เช่น
- ขนาดตัวสุนัขเหมาะสมกับพื้นที่บ้านของเราหรือไม่
- สุนัขตัวโต ต้องการพื้นที่กว้าง ๆ ออกกำลังกายเสมอ ไม่สามารถขังสุนัขไว้ในกรงได้ตลอดเวลาเพราะสุนัขสามารถซึมเศร้าได้เช่นกัน
- สุนัขที่เรานำมาเลี้ยง สามารถเข้ากันได้ดีกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ที่บ้านหรือไม่
- นิสัยของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน บางสายพันธุ์ดุ ต้องการเจ้านายที่เข้าใจมากเป็นพิเศษ
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสุนัข ทั้งค่าอาหาร ค่าวัคซีน ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย
- อย่าลืม อีกอย่างที่สำคัญที่สุด ความเอาใจใส่และให้เวลากับสุนัขอย่างเต็มที่
กาโตโระขอให้ทุกท่านมีความสุขกับ “Dog Therapy” 😘
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่
โฆษณา