20 มิ.ย. 2020 เวลา 15:09 • ประวัติศาสตร์
เปาบุ้นจิ้น ตอน คดีประหารราชบุตรเขย
[ The Execution of Chen Shimei : 鍘美案 ]
คงไม่มีใครไม่รู้จักละครจีนที่ตัวเอกเป็นชายสูงใหญ่ หน้าดำทะมึน และที่สำคัญมี “ดวงจันทร์เสี้ยว” ตรงหน้าผาก
คนไทยเรารู้จักกันในนามของ ใต้เท้า “เปาบุ้นจิ้น” ขุนนางผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม’
ละครเปาบุ้นจิ้นได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีครั้งหนึ่ง บริษัทผงซักฟอกยังต้องเอาชื่อไปตั้งเป็นชื่อยี่ห้อเพื่อเป็นจุดขายให้ตรงสโลแกนที่ว่า “ขาวสะอาดบริสุทธิ์ ไร้มลทิน” นอกจากนั้นยังมีเพลงที่ร้องกันในหมู่เด็กๆ ช่วงยุค 80-90 ที่ร้องว่า
‘เปาบุ้นจิ้นชอบกินไข่เต่า จั่นเจาชอบกินโอเล่ เซเลอร์มูนตาเหล่...ตกส้วมตาย’
เปาบุ้นจิ้น หรือที่มีชื่อจริงของเขาว่า “เปาเจิ่ง” เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เรื่องราวของเขาโดดเด่นด้านคุณธรรมในรัชสมัยจักรพรรดิซ่งเหรินจง (จ้าวเจิน) ฮ่องเต้รัชกาลที่ 4 ของจักรวรรดิเป่ยซ่ง เพราะความเป็นคนที่ “ยอมหักไม่ยอมงอ” ของเขา จึงมีผู้คนที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ศิลป์มากมาย นำชื่อและกิตติศัพท์ของเขาไปประพันธ์เป็นบทละครงิ้ว ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยคดีที่สร้างชื่อให้กับใต้เท้าเปามากที่สุดเรื่องหนึ่ง เริ่มต้นขึ้นจากงิ้วในสมัยราชวงศ์ชิง และป๊อบปูล่าข้ามศตวรรษเรื่อยมาจนได้รับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ ละครซีรี่ส์มาแล้วหลายต่อหลายเวอร์ชั่น
คดีที่ว่านั้นก็คือ...ประหารราชบุตรเขย
เรื่องย่อดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
包青天 - เปาบุ้นจิ้น 1993 (2536) ตอน ราชบุตรเขยจอมโหด ถูกนำมาฉายในประเทศไทยโดยช่อง 3 3 ครั้งด้วยกันคือในปี 1995 (2538) 2006 (2549) และ 2015 (2558)
เฉินซื่อเหม่ย บัณฑิตตกยากที่เติบโตในชนบท ครอบครัวของเขาดำรงชีพด้วยการเป็นชาวนา ประกอบด้วยพ่อแม่ ลูกทั้ง 2 และภริยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขา “ฉินเซียงเหลียน” เฉินซื่อเหม่ยมีความทะเยอทะยาน แสวงหาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต จึงมาความมุมานะบากบั่นเรียนหนังสือท่องตำรา เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยการปรนนิบัติจากฉินเซียงเหลียน จากนั้นก็กราบลาบุพการีออกเดินทางไปสอบเคอจวี่ หรือที่เข้าใจกันว่า “สอบจอหงวน” ถ้าเป็นจีนแมนดารินก็คงเป็น ‘จ้วงหยวน’ เขาสอบผ่านที่นครหลวงและได้ดำรงตำแหน่ง “จอหงวน” สมปรารถนา
ตำแหน่ง “จอหงวน” เป็นชื่อเรียกบัณฑิตที่สอบผ่านรอบสุดท้ายที่จัดสอบในรั้วพระราชวังและมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถ้าเปรียบให้เข้าใจในบริบทคนไทยในปัจจุบัน ก็น่าจะเป็น.....’นักเรียน ม.ปลาย ที่สอบได้ที่ 1 ทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง)’
ด้วยความเป็นคนมีโหงวเฮ้งดีจึงเป็นที่พอพระทัยขององค์จักรพรรดิ ฮ่องเต้มีพระประสงค์ให้จอหงวนเข้าเฝ้าน้องสาวพระองค์ซึ่งก็คือองค์หญิง องค์หญิงชอบพอกับจอหงวนคนใหม่ตั้งแต่ที่ได้พบกันครั้งแรก เฉินซื่อเหม่ยจึงกลายเป็นขุนนางส้มหล่นที่พลิกชีวิตจากยาจกได้เลื่อนฐานันดรกลายเป็นพระราชวงศ์ทันที
คำว่า “ราชบุตรเขย” ในภาษาจีนเรียก ‘ฟู่หม่า’ 《驸马》ภาษาอังกฤษแปลเอาไว้ว่า ‘Emperor’s son in law’ ซึ่งใกล้เคียงกับคำราชาศัพท์ไทยเรานั่นคือ “พระเทวัน”
楊懷民...Yang Huai-min นักแสดงชาวไต้หวัน "หยาง ไหวยหมิน" ผู้รับบทเป็น "ราชบุตรเขย เฉินซื่อเหม่ย" ในเปาบุ้นจิ้น 1993 เวอร์ชั่นที่โด่งดังที่สุด
เฉินซื่อเหม่ยหลอกลวงเบื้องสูงและปกปิดเรื่องที่ตัวเองมีภรรยาที่รอเขาอยู่ ผ่านไปไม่นาน เกิดเหตุทุพภิกขภัยประกอบภัยแล้ง พ่อแม่ของเฉินซื่อเหม่ยอดอยากถึงแก่ความตาย ฉินเซียงเหลียน ลูกสะใภ้ ไม่ทราบข่าวคราวของสามีอีกเลยจึงดั้นด้นหอบลูกทั้ง 2 เดินทางนับพันลี้ออกจากบ้านนาห่างไกล เที่ยวออกตามหาเฉินซื่อเหม่ย เพื่อด้านหนึ่งให้ผู้เป็นบุตรได้แสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาด้วยการไว้ทุกข์เป็นครั้งสุดท้าย และอีกด้าน ทรัพย์สินเงินทองส่วนใหญ่ของบ้านตระกูลเฉินหมดไปกับการเตรียมตัวและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบที่เมืองหลวงของเขา ฉินเซียงเหลียนคิดไว้ สามีตนน่าจะส่งคนติดต่อกลับมาบ้าง ‘สอบได้ก็ควรมีข่าวดีกลับมา ถ้าสอบตกก็น่าจะกลับมาเริ่มต้นใหม่’ แต่นี่เงียบหายไปต้องมีอะไรน่าเป็นห่วงแน่
หารู้ไม่ว่า บัดนี้เฉินซื่อเหม่ยได้กลายเป็นพระเทวันเสียแล้ว ทอดทิ้งลูกเมีย ลืมบุญคุณพ่อแม่ ไม่คิดกลับบ้านอีกต่อไป
ฉินเซียงเหลียนพร้อมลูกเดินทางอย่างกระเบียดกระเสียรถึงราชธานี ทราบข่าวในเมืองว่าสามีตนเป็นถึงบัณฑิตอันดับ 1 ของแผ่นดิน นางดีใจมากแล้วก็ตามหาจนเจอถึงจวนที่พัก เฉินซื่อเหม่ยพบกับอดีตภรรยาอีกครั้งแต่แสร้งตีเนียนไม่รู้จัก แถมไล่ตะเพิดอย่างกับหมูกับหมาอีกด้วย
ฉินเซียงเหลียนมืดแปดด้าน ไม่รู้ต้องทำเช่นไรต่อ ส่วนด้านเฉินซื่อเหม่ยก็กลัวว่าอดีตของเขาจะแดงขึ้นมาแล้วทำให้หมดสิ้นทุกอย่าง เผลอๆ อาจรับอาญาถึงตายโทษฐานหลอกลวงฮ่องเต้ จึงได้มีคำสั่งให้ลูกน้องคนสนิท “หานฉี” ไปตามเก็บฉินเซียงเหลียนเสีย มือสังหารเมื่อได้รับหมายสั่งก็รีบไปจัดการทันที
เมื่อหานฉีพบกับฉินเซียงเหลียนกลางดึก นางร้องไห้คร่ำครวญขอให้ไว้ชีวิตลูกและเล่าความจริงให้หานฉีฟัง ตอนแรกหานฉีก็ไม่เชื่อคิดว่านางเป็นพวกยาจกต้มตุ๋นที่จะมารีดไถผู้สูงศักดิ์ แต่บังเอิญ ป้ายวิญญาณพ่อแม่สามีตกออกมาข้างลำตัวนาง หานฉีเห็นเข้าก็เริ่มเข้าใจความจริงทุกอย่าง หานฉี นับได้ว่าเป็นอีกคนที่มีคุณธรรม เขาไม่รู้ปฏิบัติอย่างไรต่อ เพราะใจหนึ่งก็มิอาจขัดคำสั่งนายได้ อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากผิดต่อมโนธรรมที่สังหารแม่ลูกตกยาก
ว่าแล้วหานฉีก็ชักดาบออกมากระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมกำชับฉินเซียงเหลียนว่า ให้นำดาบนี้เป็นหลักฐานแล้วบอกให้ไปฟ้องร้องใต้เท้า ‘เปาบุ้นจิ้น’ ที่ศาลไคฟง แต่แล้วทันใดนั้น มีเจ้าหน้าที่ทางการออกลาดตระเวนพบฉินเซียงเหลียนมือเปื้อนเลือดข้างศพหานฉี ก็ดำเนินการจับกุมตัวนางไปที่ว่าการอำเภอทันที นายอำเภอพอรู้เค้าความมาบ้างก็เดินทางมาพบราชบุตรเขย เล่าเรื่องให้เฉินฟู่หม่าฟัง
เฉินซื่อเหม่ยบอกรีบตัดสินลงโทษนางแล้วรีบจัดการตามสมควรเลย นายอำเภอเข้าใจความนัยจึงตัดสินเนรเทศนางไปยังถิ่นทุรกันดารและสั่งให้เจ้าหน้าที่คอยเก็บระหว่างทาง ขณะนั้นเอง องครักษ์วังหลวง ‘จั่นเจา’ เผอิญพบเข้าจึงช่วยเหลือฉินเซียงเหลียนได้ จั่นเจาทราบความจริงเรื่องราวของพระชามาดาคนใหม่ก็พานางกลับบ้านไปหาหลักฐานที่จะมัดตัวเฉินซื่อเหม่ยให้ดิ้นไม่หลุด และแล้วฉินเซียงเหลียนก็ร้องเรียนต่อท่านเปา เปาบุ้นจิ้นสืบสวนจนได้ความ เรียกตัวเฉินซื่อเหม่ยให้มารับผิด
แต่เขาถือดีว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นที่โปรดปรานทั้งไทเฮาและฮ่องเต้ ก็ข่มเปาบุ้นจิ้นว่าเขาจะทำอะไรตนเองได้ เปาบุ้นจิ้นไม่เกรงกลัวอิทธิพลสั่งลูกน้องปลดชุดประกอบฐานะราชบุตรเขยออกให้หมดแล้วตัดสินโทษประหารชีวิต แม้ว่าไทเฮาและองค์หญิงจะเสด็จมาถึงศาลเพื่อห้ามปรามไม่ให้เปาบุ้นจิ้นลงทัณฑ์ องค์หญิงข่มขู่และก่นด่าว่า “เปาหน้าดำ !”
อย่างไรก็ตาม เปาบุ้นจิ้นไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย เพื่อผดุงความยุติธรรม อภิบาลราษฎรผู้ตกทุกข์ได้ยากไม่ให้ถูกศักดินากลั่นแกล้ง เปาบุ้นจิ้นยินดีเอาตำแหน่งยศศักดิ์ของตัวเองเพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง ยืนยันสั่งลงโทษราชบุตรเขยเหมือนเดิม ในที่สุด เฉินซื่อเหม่ยก็ถูกประหารด้วยเครื่องประหารหัวมังกร
杨怀民 - หยางไหวยหมิน เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1953 (2496) ปัจจุบันในปี 2020 หยางมีอายุ 67 ปี
จบเรื่องราวในคดีเปาบุ้นจิ้นเพียงเท่านี้ ต่อมาลองวิพากษ์ประวัติศาสตร์จีนกันครับ
สมัยต้าซ่ง การลงโทษประหารชีวิตผู้คนจะกระทำด้วยการตัดคอด้วยดาบเพชฌฆาต ไม่มีเครื่องประหารทั้ง 3 หัวที่ประกอบด้วย หัวสุนัขสำหรับประหารไพร่ หัวเสือสำหรับประหารขุนนาง และหัวมังกรสำหรับประหารเชื้อพระวงศ์
และการประหารพระญาติพระวงศ์ไม่ปรากฏในพงศาวดารเปาบุ้นจิ้น ถ้าเป็นในประวัติศาสตร์จีนภาพรวม การประหารพระราชวงศ์จะกระทำก็ต่อเมื่อเป็นโทษทางการเมืองเท่านั้น เช่น ก่อกบฏ และต้องดำเนินการตามราชโองการของโอรสสวรรค์ ขุนนางแม้ได้รับอาญาสิทธิ์จากฮ่องเต้ก่อนหน้านี้ก็ไม่มิอาจจัดการเอาเองได้ อย่างมากก็แค่คัดค้านสุดตัว ไม่ถึงกับลงดาบเองแน่นอน
ดังที่ปรากฏในแบบแผนการปกครองตั้งแต่ครั้นราชวงศ์โจวว่า...”โทษทัณฑ์มิอาจเอื้อมผู้สูงศักดิ์ จรรยามารยาทลงไม่ถึงพวกชั้นล่าง”
ถอดความพอได้ความว่า การลงโทษด้วยหลักจารีตของเหตุและผลจะเลือกปฏิบัติกับผู้สูงส่งหรือชนชั้นปกครอง และกษัตริย์ (หวาง) จะเป็นผู้สั่งเองด้วยเท่านั้น ส่วนพวกชาวบ้านที่ไร้ยศศักดิ์ ให้ถือว่าพวกเขาไม่สมควรได้รับการปฏิบัติให้มีเกียรติเท่าไรนัก การลงทัณฑ์สามัญชนก็เน้นไปที่ความรุนแรงและใช้กำลัง
{秦香莲 - Qin Xianglian} ฉากประหารเฉินซื่อเหม่ยจากซีรี่ส์ เวอร์ชั่นปี 2011
เปาบุ้นจิ้น คดีประหาราชบุตรเขย ไม่ได้มาจากพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง แล้วมีต้นกำเนิดมาจากไหนกันละ เรื่องราวมีอยู่ว่า...
ยุคต้าชิง รัชสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อ หรือฮ่องเต้ชิงซื่อจู่ พระนามเดิม “อ้ายซิน-เจว๋หลัว ฝูหลิน” โอรสสวรรค์ชาวแมนจูพระองค์แรกที่ได้ปกครองจักรวรรดิจีนอย่างแท้จริง ยุคดังกล่าวห่างจากไทม์ไลน์เปาบุ้นจิ้นถึง 600 ปี
มีข้าราชสำนักท่านหนึ่งนามว่า “เฉินสูเหม่ย” ชื่อเดิม “เฉินเหนียนกู่” ชาวเมืองจวินโจว หรือเทศมณฑลตานเจียงโข่ว มณฑลหูเป่ย ในปัจจุบัน ประวัติของเขาคือ สอบได้เป็นบัณฑิตในปีซุ่นจื้อที่ 8 ค.ศ. 1651 ช่วงแรกของชีวิตราชการเป็นนายอำเภอแถบเหอเป่ย ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าประจำกุ้ยโจว ควบกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
เฉินสูเหม่ย มีภรรยาคนที่ 2 คือ “ฉินซินเหลียน” หลังภริยาคนแรกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เฉินสูเหม่ยรักใคร่กลมเกลียวกับภรรยามากจนแก่เฒ่า อ้างอิงจากจารึกที่เกี่ยวกับเฉินสูเหม่ยที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1992 ณ บ้านเกิดของเขาที่ตานเจียงโข่ว มีระบุไว้ชัดแจ้งว่า
“เฉินสูเหม่ยเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริตและเข้าใจทุกข์สุขของราษฎร”
เฉินสูเหม่ยเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ไว้หน้าใครจึงทำให้ผิดใจเพื่อนหลายครั้งรวมถึง โฉวเมิ่งหลินและหูเมิ่งเตี๋ย มีอยู่ครั้งหนึ่ง
หูเมิ่งเตี๋ย สหายตั้งแต่คราวเรียนหนังสือด้วยกัน ผู้ที่ทั้งเคยเข้าสอบที่กรุงปักกิ่งพร้อมกับสนับสนุนด้านเงินทองให้เฉินสูเหม่ย เขาพาเพื่อนอีกคน โฉวเมิ่งหลินไปที่บ้านเฉินสูเหม่ยเพื่อช่วยบรรจุตำแหน่งขุนนางให้เค้าทั้ง 2 คน ทั้งยังอ้างบุญคุณที่เคยช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายตอนเฉินสูเหม่ยตกยาก ปรากฏว่าเขาไม่เอาด้วย ซึ่งแนวคิดของเขาแลดูคล้ายกับเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า ‘อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตัว ด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ’ แต่สหายของเขาถือคติ ‘บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ’
袁姗姗 - Yuan Shanshan นักแสดงชาวจีน "หยวน ซานซาน" ผู้รับบทเป็น "ฉินเซียงเหลียน" ในซีรี่ส์ฉินเซียงเหลียน ปี 2011
พวกเขาพอมีฝีมือการประพันธ์บทงิ้วอยู่ ประกอบกับการที่เก็บความแค้นที่ไม่ได้รับการสนับสนุน จึงเริ่มนำบทงิ้วท้องถิ่นที่นิยมเรื่อง “บันทึกผีผา” มาปรับแต่งให้เผ็ดร้อนขึ้น แล้วจัดแจงใส่ชื่อตัวละคร ฉากอ้างอิงและ background ให้ละม้ายกับเรื่องของเฉินสูเหม่ยเป๊ะ ดังนี้
- เฉินสูเหม่ย ก็แผลงเป็น “เฉินซื่อเหม่ย”
- ฉินซินเหลียน ก็ดัดให้เพี้ยนเป็น “ฉินเซียงเหลียน”
- ผีผา คือ เครื่องดนตรีจีนโบราณประเภทเครื่องสาย
บทงิ้วเรื่องเฉินซื่อเหม่ยเป็นคนเลวทรามต่ำช้า ได้รับความนิยมไปทั่ว เช่น ส่านซี หูเป่ย เหอหนาน สาเหตุที่ร้อนแรงไปหลายพื้นที่นั้น ก็เพราะนี่เป็นการตอบโจทย์อารมณ์หมั่นไส้ชนชั้นสูงและขุนนาง ยิ่งผิดลูกผิดเมีย ทอดทิ้งพ่อแม่ อกตัญญู ทอดทิ้งแบบแผนประเพณี ยิ่งเข้าทางกลุ่มชาวบ้านไปใหญ่ ภายหลังทายาทเฉินสูเหม่ยรุ่นที่ 11 ได้ออกมาชี้แจงความจริงว่า บรรพบุรุษตนเป็นทั้งขุนนาง ทั้งสามีและพ่อที่ดี ตรงข้ามกับละครดราม่าทุกอย่าง แต่ถูกป้ายสีอย่างนี้ คนในพื้นที่และลูกหลานเขายอมรับไม่ได้
The New Case of Beheading Chen Shimei (2004)
แล้วเปาบุ้นจิ้นที่เป็นขุนนางสมัยต้าซ่ง เกี่ยวข้องอะไรกับงิ้ว “ฉินเซียงเหลียนบรรเลงผีผา”
ครั้งหนึ่งในสมัยต้าชิง ในวันไหว้เจ้า ระหว่างพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ราษฎรมารับชมงิ้วเฉินซื่อเหม่ยเป็นจำนวนมากแล้วเกิดอารมณ์อิน โกรธแค้นแล้วตะโกน “ฆ่าเฉินซื่อเหม่ยซะ !” ถึงขนาดหลังการแสดงจบก็ประท้วงต่อคณะงิ้ว มิฉะนั้นจะทุบโรงงิ้วนี้เสีย หัวหน้าคณะไม่รู้ต้องแก้ไขอย่างไร เผอิญเรื่องงิ้วก่อนหน้าเป็นเรื่องราวของเปาบุ้นจิ้น ก็ไปร้องขอให้นักแสดงงิ้วเปาบุ้นจิ้นมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์
ในที่สุด บทงิ้วก็ได้รับการดัดแปลงเพื่อให้ถูกใจท่านผู้ชม เฉินซื่อเหม่ยผู้วางอำนาจบาตรใหญ่ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ต้องให้ผู้ผดุงความยุติธรรมอย่างใต้เท้าเปาบุ้นจิ้นมาสะสางให้รู้แล้วรู้รอดไป สุดท้ายเฉินซื่อเหม่ยในละครงิ้วก็ถูกสำเร็จโทษ จบดราม่าเพียงเท่านี้
เฉินซื่อเหม่ย ถูกผู้คนเกลียดชังไปทั่วสังคมจีน บทประพันธ์ที่แม้จะผ่านมา 300 ปีแล้ว ชื่อของเขาก็ยังคงถูกประนามต่อไปละคร ถึงขนาดกลายเป็นคำแสลงเชิงลบที่สื่อถึง ‘ชายที่ทรยศลูกเมียของตนเอง’ แพร่หลายมาทุกสังคมทุกระดับจวบจนปัจจุบัน
และการเรียกร้องถึงใต้เท้าเปา เป็นการสะท้อนถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมของสามัญชนที่ถูกข่มเหงทุกยุคสมัย และต้องการให้มีใครสักคนที่ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ยึดถือ “ขจัดคนพาล อภิบาลคนดี” อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ชนชั้นไหนของสังคม
…..”ดราม่ายาว ชีวิตสั้น”…..
郝蕾 - Hao Lei นักแสดงสาวชาวจีน รับบทเป็น "ฉินเซียงเหลียน" ในซีรี่ส์เวอร์ชั่นปี 2004
อ้างอิง:
หนังสือมองตะเกียบเห็นป่าไผ่ เล่ม 2 โดยพี่อ๋อง นิธิพันธ์ วิประวิทย์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน 2013
.....”สามารถติดตามเพจบล็อกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งน่าสนใจโดยผม เจมส์เซิ่งจู่ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน ได้ง่ายๆ
เพียงแค่กดไลก์และฟอลโลว์เพจของผมกันนะครับ”.....
โฆษณา