21 มิ.ย. 2020 เวลา 02:55 • ธุรกิจ
GoFundMe - ขอทุนได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
โลกใบนี้ยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากมาย และในหลายครั้งการช่วยเหลือสามารถทำได้โดยการอาศัยธารน้ำใจจากผู้คนจำนวนมาก แพลตฟอร์ม GoFundMe ได้ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2010
จุดประสงค์ของ GoFundMe คือการเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อทำประโยชน์ให้แก่บุคคลและชุมชน ที่ผ่านมา GoFundMe สามารถระดมทุนไปได้ถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการบริจาคเงินไปแล้วกว่า 120 ล้านครั้ง (Radu & McManus, 2018, p. 134; GoFundMe, n.d.[a])
GoFundMe มีการแบ่งรูปแบบการระดมทุนออกเป็นหลากหลายประเภท อาทิเช่น การระดมทุนด้านการแพทย์, การศึกษา, การระดมทุนในกรณีฉุกเฉิน, การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสัตว์, การระดมทุนเพื่อองค์กรไม่แสวงหากำไร, และการระดมทุนเพื่อความทรงจำ เช่น การระดมทุนเพื่องานศพ และ การระดมทุนเพื่อทวงคืนความยุติธรรมต่อผู้ที่จากไปแล้ว (GoFundMe, n.d.[b])
วิธีการขอระดมทุนสามารถทำได้โดยการโพสต์ข้อความอธิบายหลักการและเหตุผลในการขอระดมทุน ผู้โพสต์สามารถใส่รูปภาพหรือคลิปวิดีโอลงไปในแพลตฟอร์มได้ ผู้ขอระดมทุนจะต้องทำการกำหนดเพดานจำนวนเงินในการขอระดมทุน โดยแพลตฟอร์มจะมีการแสดงจำนวนผู้แชร์ ผู้กดติดตาม จำนวนผู้บริจาค รายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินบริจาคล่าสุดเรียงตามลำดับ และยอดรวมของเงินบริจาค ทั้งนี้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถเขียนข้อคิดเห็นที่มีต่อการขอรับบริจาคได้
3
แพลตฟอร์ม GoFundMe - Photo Credit: FastCompany
องค์กร GoFundMe สามารถอยู่ได้ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้บริจาค โดยค่าธรรมเนียมการบริจาคในแต่ละประเทศจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา สำหรับการบริจาค 1 ครั้งจะมีค่าธุรกรรมทางการเงินร้อยละ 2.9 และ GoFundMe จะเก็บเงินจากการบริจาคอยู่ที่ 0.3 เหรียญสหรัฐต่อครั้ง ในกรณีของโปรตุเกส จะมีค่าธรรมเนียมเฉพาะของ GoFundMe ร้อยละ 5 ค่าธุรกรรมทางการเงินร้อยละ 2.55 และเก็บเงินจากค่าบริจาคครั้งละ 2.5 ยูโร (GoFundMe, n.d.[c])
ที่ผ่านมา โครงการที่สามารถระดมทุนได้สูงสุดจากแพลตฟอร์ม GoFundMe คือโครงการ TIME’S UP Legal Defense Fund โดยสามารถระดมทุนไปได้ถึง 24.2 ล้านเหรียญสหรัฐ การระดมทุนนี้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน สาเหตุที่โครงการนี้ประสบความสำเร็จในด้านการระดมทุนเป็นอย่างมาก เพราะการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มีที่มาหลังจากการเปิดโปงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิง โดยผู้ล่วงละเมิดคือ Harvey Weinstein ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Miramax ที่ผลิตภาพยนตร์เรื่อง The King’s Speech, Pulp Fiction, Shakespeare in Loveฯลฯ (GoFundMe, n.d.[d]; Glusac, 2018; Farrow, 2017)
โครงการ TIME’S UP Legal Defense Fund บนแพลตฟอร์ม GoFundMe - Photo Credit: GoFundMe
ในกรณีของประเทศไทย มีแพลตฟอร์มการบริจาคเงินชื่อว่า “เทใจ” ผู้ต้องการบริจาคเงินหรือส่งโครงการเพื่อขอพิจารณาการรับบริจาคเงิน สามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ www.taejai.com โดยที่ผ่านมา เทใจระดมทุนเงินไปได้ถึง 142.8 ล้านบาท จากผู้บริจาคทั้งหมด 72,475ราย และมีโครงการที่ขอระดมทุนและสามารถได้รับเงินระดมทุนตามเป้าไปแล้วกว่า 355 โครงการ (เทใจ, ม.ป.ป.)
'เทใจ' แพลตฟอร์มบริจาคเงินออนไลน์ในประเทศไทย - Photo Credit: Opendream
อ้างอิง:
1. เทใจ. (ม.ป.ป.).สืบค้นเมื่อ12มิถุนายน พ.ศ. 2563,จากhttps://taejai.com/th/
2. Farrow, R. (2017). From Aggressive Overtures to Sexual Assault: Harvey Weinstein’s Accusers Tell Their Stories. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จาก https://www.newyorker.com/news/news-desk/from-aggressive-overtures-to-sexual-assault-harvey-weinsteins-accusers-tell-their-stories
3. Glusac, M. (2018). The most successful GoFundMe campaigns of all time. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จาก https://www.insider.com/best-gofundme-campaigns-2018-11
4. GoFundMe. (n.d. [a]). Success Stories. สืบค้นเมื่อ12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จากhttps://www.gofundme.com/c/success
5. GoFundMe. (n.d. [b]). Fundraising Categories.สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จาก https://www.gofundme.com/start
6. GoFundMe. (n.d. [c]). Pricing and Fees. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จาก https://www.gofundme.com/pricing
7. GoFundMe. (n.d. [d]). TIME'S UP Legal Defense Fund. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, จาก https://www.gofundme.com/f/timesup
8. Radu, M. B., & McManus, L. (2019). Bridging Social Capital through the Techno-subsystem: A Qualitative Analysis of GoFundMe Requests for Hurricane Relief. Journal of Family Strengths, 19(1), 9.
โฆษณา