1 ก.ค. 2020 เวลา 02:21 • สุขภาพ
เสื้อแก้หลังค่อม ได้ผลจริงหรือไม่
ตัวอย่างเสื้อแก้หลังค่อม ที่มารูปภาพ https://cloudikart.com/products/back-spine-posture-corrector
การทำงานในปัจจุบันสำหรับใครหลายๆ คน อาจต้องใช้ระยะเวลาในการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือ tablet นานขึ้น
จากกิจกรรมดังกล่าวจึงสามารถส่งผลเสียต่อท่าทางของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ได้ค่อนข้างมาก
สาเหตุที่อธิบายถึงการเกิดภาวะดังกล่าวได้ง่ายๆ เลยก็คือ การทำงานไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อทางด้านหน้าและทางด้านหลังของร่างกาย ดังภาพนี้ครับ
เส้นตรงแนว A ลากผ่านกล้ามเนื้อที่มีการตึงตัวในขณะที่เส้นตรงแนว B ลากผ่านกล้ามเนื้อที่มีการอ่อนแรงที่มารูปภาพ https://www.pinterest.com.au/pin/518336238362182807/
การที่เราอยู่ในท่าทางที่ไม่ดีก็จะส่งผลต่ออาการปวดกล้ามเนื้อ รวมถึงความสามารถในการใช้งานกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องตามมาด้วย อาทิ กล้ามเนื้อบริเวณคอ กล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบน กล้ามเนื้อบริเวณไหล่และสะบัก เป็นต้น
ดังนั้นในปัจจุบัน หลายๆ คนอาจเคยได้ยิน พวกเสื้อแก้หลังค่อม เสื้อปรับท่าทาง เสื้อพยุงหลังตรง อุปกรณ์สวมใส่ช่วยให้หลังตรง หรืออื่นๆ ที่มีความหมายถึง การช่วยปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในแนวที่เหมาะสม
นั่นจึงเป็นที่มาว่า การใส่เสื้อแก้หลังค่อม ได้ผลจริงหรือไม่
ตัวอย่างเสื้อแก้หลังค่อม ที่มารูปภาพ http://www.patrickwilson.org/perks-of-using-posture-corrector/ และ https://www.hammacher.com/product/posture-correcting-neuroband-shirt-mens
จากการทบทวนวรรณกรรมจากหลายงานวิจัยในปัจจุบัน พบว่า การสวมใส่เสื้อแก้หลังค่อม ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ในการช่วยลดปัญหาอาการปวดที่เกิดขึ้นจากภาวะหลังค่อม
ส่วนเรื่องประสิทธิภาพการปรับท่าทาง มีบางงานวิจัยได้ทดลองศึกษาผลทันทีของกลุ่มที่ให้สวมใส่เสื้อแก้หลังค่อมกับกลุ่มที่ให้สวมใส่เสื้อแก้หลังค่อมแบบหลอก (เป็นเสื้อที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรับท่าทาง) ในกลุ่มนักศึกษา อายุ 18-25 ปี จำนวน 24 คน
ผลที่ได้พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในการวัดมุมองศาการยื่นของไหล่ลดลง (หมายถึง ให้ผลดีขึ้น) ทั้งสองกลุ่มทดลอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง 2 กลุ่ม
สรุปง่ายๆ จากงานวิจัยนี้ คือ การใส่เสื้อแก้หลังค่อมไม่ได้ให้ผลทันทีในการปรับท่าทางของร่างกายอย่างชัดเจน
จากตัวอย่างงานวิจัยเราจะเห็นว่า การให้ผลของการสวมใส่เสื้อหรืออุปกรณ์แก้หลังค่อม ยังให้ผลลัพธ์ไม่ค่อยชัดเจน แต่ถ้าจะถามในแง่การนำมาใช้งาน ถามว่าใช้ได้มั้ย
ควรฝึกการปรับท่าทางในการนั่งทำงานให้เหมาะสมร่วมด้วย เพื่อป้องกันหลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ที่มารูปภาพ https://bluearbor.com/ergonomic-workspace-makes-happier-healthier-workplace/ergonomic-worplace-sq/
คำแนะนำก็คือ ใช้ได้ครับ แต่ควรใช้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ถ้าใช้สำหรับเป็นอุปกรณ์เตือนในการปรับท่าทางระหว่างที่เราต้องนั่งทำงาน อันนี้สามารถใช้ได้ครับ แต่ไม่ควรสวมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ (ไม่ควรเกินประมาณ 1-2 ชั่วโมง) และควรจะปรับเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงต้องอย่าลืมยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายด้วยครับ
และเมื่อเราเริ่มสามารถปรับท่าทางของเราได้เอง รวมถึงยืดเหยียดและออกกำลังกายบ่อยๆ เสื้อหรืออุปกรณ์แก้หลังค่อมก็ควรจะค่อยๆ ลดบทบาทลงครับ
สำหรับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการยืดเหยียดและการออกกำลังกายเบื้องต้น สามารถศึกษาเพิ่มเติม ได้จากบทความที่ผมเคยเขียนไว้ตามลิ้งค์นี้ครับ
บทความนี้ต้องการให้ทุกๆ ท่านเห็นว่าการที่เราจะเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยในการปรับท่าทางไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรต้องมีการเสริมสร้างความแข็งแรง และการปรับท่าทางในการทำงานร่วมด้วย ไม่ควรหวังผลจากการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเป็นหลักเพียงอย่างเดียวครับ
ลิงค์เข้าถึง Reference งานวิจัย:
โฆษณา