21 มิ.ย. 2020 เวลา 11:37 • ข่าว
ลงนาม “อู่ตะเภา” 2.9 แสนล้านบาท
โปรเจคใหญ่สุดของเอเชียแปซิฟิคในรอบปี
1
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาล จัดพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มูลค่าการร่วมลงทุน 2.9 แสนล้านบาท
แผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.2563)
สำหรับบริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกิจการร่วมค้าบีบีเอสที่ชนะประมูลโครงการนี้ มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 3 บริษัท คือ
1.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีบทบาทหลักเป็น Lead Firm ตามสัดส่วนการถือหุ้น 45%
2.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35%
3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20%
การลงนามครั้งนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานโครงการที่ 3 นับตั้งแต่การลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3
ภาพจำลองการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เมื่อครบ 4 เฟส จะรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน เท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ รัฐตลอดอายุสัญญา 50 ปี รวมว 1.32 ล้านล้านบาท คำนวนเป็นมูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท โดยได้สิทธิการพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการนี้ใหญ่ที่สุดที่ลงนามในเอเชียแปซิฟิกในปี 2563 จะยกระดับอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ 3 สนามบินรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี
ในขณะที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะ Lead Firm ของผู้พัฒนาโครงการนี้มั่นใจว่าจะการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มทุนภายใน 10 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบเครื่องบินจำลองจากนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ
บางกอกแอร์เวย์ส จะใช้สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการบินของบางกอกแอร์เวย์สแห่งที่ 2 หลังจากปัจจุบันมีฮับหลักอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 พัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ขนาด 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด ซึ่งจะเสร็จในปี 2567 รับผู้โดยสารสูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107,000 ตารางเมตร ติดตั้ง ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่ม หลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าเสร็จปี 2573 รองรับผู้โดยสาร ได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 ขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตาราง เมาตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด จะเสร็จปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 (ระยะสุดท้าย) มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 เพิ่ม 82,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยาน อีก 14 หลุมจอด คาดว่าจะเสร็จปี 2598 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี
โครงการนี้เป็นการให้สัมปทานกับผู้ชนะการประมูลเพื่อบริหารพื้นที่ 6,500 ไร่ จะลงทุนเอง หรือจะให้สิทธิเอกชนรายอื่นมาพัฒนาพื้นที่บางส่วนได้ และเมื่อครบสัญญา 50 ปี หากไม่มีการต่อสัญญาจะทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของ รัฐ
โฆษณา