26 มิ.ย. 2020 เวลา 10:17
เจอทางตัน'หยุด'หรือ'ไปต่อ' เดินทางไหนถึงจะถูกทาง?
หากพูดถึง “การแข่งขัน” จะเป็นด้านกีฬา การเรียน การทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าใครก็คาดหวัง อยากผ่านเข้ารอบ หรือได้รับ “ชัยชนะ” กันทั้งสิ้น เพราะแน่นอนทุกคนต้องการเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้างหรือสังคม คนเราจึงพยายามตั้งใจใช้ชีวิตให้ได้ตามที่ตนคาดหวัง แต่ในความเป็นจริงคุณคงรู้ว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปหรอก...
เมื่อเจอทางตันกับปัญหา ล้มลงหรือเคยทำผิดพลาด ถูกต่อว่า หรือถูกคนรอบข้างดูหมิ่น ในจิตใจคนเรามักมีเสียงโต้แย้งต่อสู้กันระหว่าง เสียงที่บอกเราว่า “พอเหอะ ไม่อยากทำแล้ว โดนด่า โดนตำหนิขนาดนี้จะทำไปทำไม?” กับอีกเสียงหนึ่งที่ดังขึ้นมาว่า “จริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะทำนะ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีทางเลือกแล้ว มันต้องไปต่อ ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง” ทีนี้เสียงไหนกัน? ที่เป็นเสียงของคนที่มีสติปัญญาหรือความคิด (Mindset) ที่มาถูกทาง
ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับคนเกาหลีใต้แล้วกันนะครับ อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่า ทุกๆ 4 ปีจะมีมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้น คือ “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” นั่นเอง นักกีฬาน้อยใหญ่จากทั่วโลกต่างเฝ้าฝันอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง อีกทั้งผู้คนมากมายก็ตั้งตารอคอยส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาชาติของตัวเองด้วย กีฬาที่ผมต้องการพูดถึงคือ “ว่ายน้ำ”
โดยปกติแล้วชาวอเมริกันจะเป็นเจ้าเหรียญทองมาตลอด หากเป็นระดับโอลิมปิก เกาหลีใต้ยังไม่เคยมีใครสามารถคว้าเหรียญทองได้มาก่อน แต่ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่โอลิมปิกจัดที่กรุงปักกิ่งของจีน นักกีฬา “พัค แท ฮวัน” (박태환) จากเกาหลีใต้สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันว่ายน้ำชายเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศได้สำเร็จ
ตอนนั้นถ้าเป็นคนเกาหลีใต้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “พัค แท ฮวัน” แน่นอน ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะได้ยินหรือเห็นชื่อเขาตลอดในสื่อต่างๆ ต่อมาในปี 2012 โอลิมปิกจัดที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ตอนนั้นคนเกาหลีใต้ต่างคาดหวังว่า “พัค แท ฮวัน” จะได้เหรียญทองอีกรอบ เพราะในตอนนั้นเขาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่มีสถิติดีที่สุดและว่ายเร็วที่สุด แต่ผลสุดท้ายเขาได้ “เหรียญเงิน” ความจริงก็ถือว่าเขาทำได้ดีแล้ว
ต่อมาเมื่อเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่เมืองอินชอน ในปี 2014 พัคก็คิดว่าเขาต้องได้เหรียญทองแน่ๆ แต่ก่อนลงแข่ง เขาเข้าตรวจร่างกายและเจ้าหน้าที่ตรวจพบ “สารสเตียรอยด์ อนาบอลิค” ซึ่งเป็นสารกระตุ้นต้องห้ามชนิดหนึ่งสำหรับนักกีฬา เขาจึงถูกลงโทษจากสหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ (FINA) สั่งห้ามลงแข่งทุกรายการ เป็นเวลา 18 เดือน อีกทั้งเงินรางวัลต่างๆ ที่ได้จากการแข่งขันก็ต้องส่งคืนให้แก่สหพันธ์ฯ ทั้งหมดด้วย
จากตอนแรกที่เขาเป็น นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก ประชาชนต่างมาต้อนรับอย่างฮีโร่ แต่พอเกิดปัญหาขึ้นในปี 2014 ผู้คนต่างพากันด่าทอ ทั้งในหนังสือพิมพ์และบนโลกอินเตอร์เน็ต นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น “พัค” เคยเปิดใจกับสื่อมวลชนว่า “สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ มนุษย์” เขาเก็บตัวไม่กล้าออกไปข้างนอกหรือเจอกับใครเป็นเวลา2 เดือน ทั้งๆ ที่นักว่ายน้ำต้องชอบน้ำที่สุด แต่เมื่อนึกถึงสิ่งที่สังคมพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์ “พัค” ก็มีความคิดมากมายต่อสู้กันในใจ ตอนนั้นเขาบอกว่า ตนรู้สึกลังเลว่าจะกลับมาว่ายน้ำอีกดีหรือไม่?
“ถ้าฉันว่ายน้ำ คนจะยังต้อนรับฉันอยู่ไหมนะ? ถ้ากลับไปว่ายน้ำแล้วโดนหนักกว่าเดิม อย่างนี้สู้เลิกไปเลยและใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าเหรอ?” สุดท้ายแม้จะเจอสารกระตุ้นในร่างกายเขาจริงๆ และโดนด่าเยอะมาก แต่หลังจากที่คิดมาดีแล้ว “พัคตัดสินใจกลับมาว่ายน้ำอีกครั้ง”
ผมคิดว่าก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจเช่นนี้ คงต้องลังเลมากแน่นอน เพราะถ้ากลับมาว่ายน้ำก็ต้องรับสภาพโดนสังคมตราหน้า ถ้าไปแข่งอีกแล้วไม่ได้แม้กระทั่งเหรียญทองแดงก็คงสิ้นหวังอีก หลังจากที่จมอยู่กับความคิดนี้มาเป็นเวลา6 เดือน วันหนึ่งเขาตัดสินใจเดินเข้าหาสื่อมวลชนและพูดต่อหน้าประชาชน ทั้งคุกเข่าและกราบเพื่อขอให้อภัยในเหตุการณ์ที่ผ่านมาและขอโอกาสให้เขาอีกครั้ง เพื่อให้ได้ไปแข่งว่ายน้ำในกีฬาโอลิมปิกที่บราซิล ในปี 2016
แม้คนมากมายจะต่อต้าน และสมาพันธ์กีฬาของเกาหลีใต้เองก็ปฏิเสธ แต่ “พัค แท ฮวัน” พูดว่า “ถ้าผมไม่ว่ายน้ำ จะให้ผมทำอะไร?ให้กลับไปเรียนผมก็เรียนไม่เก่ง มันยากกว่าว่ายน้ำเสียอีก ถ้าว่ายน้ำอาจจะมีคนมากมายด่า แต่สิ่งที่ผมต้องทำมันมีเพียงแค่นี้ ยังไงก็ต้องกลับไปว่ายน้ำครับ”
มาถึงตรงนี้ ผมไม่ได้อยากเน้นว่า คุณพัคเขาได้เหรียญอะไรนะครับ แต่คิดว่าเขาเป็นคนที่มีสติปัญญาจริงอยู่ที่ความสามารถในการว่ายน้ำก็เป็นส่วนที่สำคัญ แต่คนที่จะว่ายน้ำเก่งจริงๆ นั้นใจของเขาต้องสู้กับเสียงความคิดของตัวเองจนชนะเสียก่อน ถ้าหากว่าใจยอมแพ้ให้กับเสียงที่ต่อสู้อยู่ข้างใน แน่นอนว่า “พัค” จะถอนตัวและหายไป ไม่กลับมาว่ายน้ำอีก
เช่นกันแม้ว่าหลายครั้งชีวิตเราทุกคน เวลาทำอะไรพลาดแล้วล้มลง ถูกต่อว่า ตำหนิ หรือถูกคนรอบข้างดูถูก ในจิตใจมักมีเสียงโต้แย้งต่อสู้กันเสมอ “พอเหอะ ไม่อยากทำแล้ว โดนด่า โดนตำหนิขนาดนี้จะทำไปทำไม?” กับอีกเสียงหนึ่งที่ดังขึ้นมา “จริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะทำนะ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีทางเลือกแล้ว มันต้องไปต่อ ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง”
ผมคิดว่าคนประเภทที่ 2 เป็นคนที่มีสติปัญญา ยอมที่จะถูกดูหมิ่นแล้วไปต่อ สุดท้ายจะสามารถเอาชนะเสียงดูหมิ่นพวกนี้ได้ในที่สุด
แต่ขณะที่เสียงใจของเราต่อสู้กัน เราจะรู้สึกยากหรือลำบากใจเป็นเพราะว่าไม่ค่อยได้ต่อสู้อะไรในใจมากสักเท่าไรครับ ที่สำคัญคนส่วนมากมักแพ้ให้กับความคิดปลอมๆ ที่เข้ามาและถูกลากไปสู่ความสิ้นหวัง หลายคนพอผิดหวังก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายง่ายมาก
ผมอยากบอกว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่ปัญหาที่คุณเจอ แต่คือหลังจากที่เจอกับปัญหานั้นแล้วคุณตัดสินใจตามเสียงแบบไหนไป? เมื่อตอนที่ชีวิตล้มลง คนที่ยอมรับสภาพของตัวเองแล้วลุกขึ้นไปต่อ แม้ทางข้างหน้าอาจจะไม่ได้มีความสุขหรือเจอแต่เรื่องดีๆ อาจต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่อยากทำ ไม่อยากไป
แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ ผมคิดว่าต้องอดทนและเรียนรู้การหักห้ามใจ เพื่อเป็นโอกาสที่จะได้รับความเมตตา สติปัญญาและจิตใจใหม่ๆ ไม่ใช่เอาแต่ทำสิ่งใดเพราะความชอบหรือใช้ชีวิตตามใจตัวเอง ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ว่าเมื่อตอนที่เปลี่ยนจิตใจ และก้าวออกไปนั้น แม้ว่าระหว่างทางอาจจะยากลำบากเสียหน่อย หรือต้องเจอกับเสียงต่างๆ มากมาย
แต่ผลสุดท้ายมันเป็นโอกาสที่จะได้เกิดกำลังในการใช้ชีวิต และเห็นว่ามีหนทางใหม่เปิดรอรับอยู่เสมอ รวมทั้งสติปัญญาก็จะเกิดขึ้นด้วยครับ
โฆษณา