22 มิ.ย. 2020 เวลา 17:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หาดทรายสีเขียว ความหวังใหม่ในการจัดการปัญหาโลกร้อน 😉👍
ด้วยความสามารถในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ นี่อาจเป็นความหวังใหม่ในการรับมือภาวะโลกร้อน
1
ทรายสีเขียวนี้อาจจะเป็นความหวังใหม่สู้ภัยโลกร้อน
Project Vesta คือโครงการทดสอบแนวคิดในการใช้แร่ภูเขาไฟธรรมชาติที่เรียกว่า Olivine ซึ่งเป็นสารประกอบของเหล็ก แมกนีเซียมและซิลิกา
โดยจะนำแร่ Olivine นี้มาโรยไว้ที่ริมชายหาดและปล่อยให้คลื่นน้ำ คลื่นลมทำหน้าที่ของมันในการทุบย่อยให้ก้อนแร่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนเท่าเม็ดทรายตามชายหาด
แร่ Olivine
ซึ่งในระหว่างขั้นตอนการย่อยสลายเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยก่อนจะเป็นเม็ดทรายนั้น เจ้าแร่ Olivine นี้ก็จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศด้วยการทำปฏิกิริยากลายเป็นสารประกอบไบคาร์บอเนตและแคลเซียมไอออน
ก่อนที่จะไหลลงไปในทะเลและกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับเหล่าหอยและปะการังในทะเลได้ใช้สร้างเปลือกและโครงสร้างร่างกายของพวกมัน
ภาพกระบวนการเกิด enhanced mineral weathering
และเมื่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเหล่านี้ตายลงพวกมันก็จะทับถมตกลงสู่พื้นมหาสมุทรอันเป็นการเก็บเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ทะเลอีกเป็นเวลาหลายล้านปี จนกว่าการระเบิดของภูเขาไฟจะปลดปล่อยมันกลับสู่บรรยากาศอีกครา
กระบวนการนี้เรียกว่า enhanced mineral weathering ซึ่งคาดว่าสามารถลดต้นทุนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้ถูกลงเหลือเพียง 300 บาทต่อตัน
สมการเคมีของการเกิดปฏิกิริยาเคมมีในกระบวนการ enhanced mineral weathering
และมีการประเมินว่าหากใช้พื้นที่ชายหาดประมาณ 2% ที่มีในโลกก็จะเพียงพอที่จะรองรับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละปีได้
ฟังดูดีใช่ไหมครับ แต่ก็ยังมีคำถามมากมากเช่น ต้นทุนการหาแร่มาบดและนำมาโรยริมชายหาด และการดำเนินการนี้ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอีกเท่าไหร่
รวมถึงผลกระทบข้างเคียงด้านสิ่งแวดล้อมเพราะกระบวนการนี้ยังไปกระตุ้นให้ปริมาณสาหร่ายเซลล์เดียวและแพลงตอนบางชนิดเพิ่มจำนวนมากจนระบบนิเวศน์ใกล้เคียงชายหาดเสียสมดุลย์หรือไม่?
บริเวณพื้นที่ทดสอบของ Project Vesta
โครงการนี้ตั้งเป้าในการสาธิตการกักเก็บ CO2 ในปริมาณ 3,333.3 ตันที่ต้นทุน 2,200 บาทต่อตัน โดยใช้พื้นที่สำหรับทำการทดสอบและเก็บข้อมูลในบริเวณทะเลคาริบเบียน
กับการเฝ้าติดตามระยะเวลาการย่อยก้อนสินแร่ให้กลายเป็นเม็ดทราย รวมถึงเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลผลกระทบข้างเคียงต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่
ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะเริ่มได้ข้อมูลที่จะตอบคำถามได้ว่าแนวทางนี้จะสามารถนำมาดำเนินการได้จริงในการเป็นระบบดักจับก๊าซเรือนกระจกแบบต้นทุนต่ำได้หรือไม่?
ตัวอย่างของโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ซึ่งระบบดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซดที่กำลังวิจัยและค้นคว้ากันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีต้นทุนต่อตันที่ดักจับมาได้นั้นสูงมาก บางระบบมีต้นทุนสูงถึง 20,000 บาทต่อตันเลยทีเดียว
เรียกได้ว่าอยากรักษ์โลกแต่ใครจะจ่าย??
ก็ถือว่าเป็นอีกความหวังในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน หวังว่าผลทดสอบออกมาดีและการตอบรับจากชุมชนดีซึ่งจะได้นำมาใช้งานกันมากขึ้น 😃
เพจ Antfield ได้เพิ่มช่องทางให้ติดตามกันในเพจ FB แล้วนะครับ
โดยใน BD จะเน้นบทความ ส่วน FB จะเน้นเป็น Update ข่าวสารในแวดวงวิทยาศาสตร์สั้น ๆ และ Pic of the day 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา