22 มิ.ย. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
รัฐมีมาตรการอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือ "ลูกจ้าง" ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19?
คำถามนี้คงคาใจลูกจ้างหลายคนที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อนายจ้างเลิกจ้างตนเอง หรือไม่ให้ตนเองทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากนายจ้างโดนวิกฤต COVID-19
วันนี้ THE LEGAL TOPICS จะมา “สรุป” มาตรการที่ออกโดยกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 กันครับ
1. มาตรการเยียวยาลูกจ้างกรณี “ว่างงาน”
กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง 2 ฉบับต่อไปนี้เพื่อรับมือวิกฤตการจ้างงานอันเกิดจากการระบาดของโรค COVID-19
(ก) กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 (ต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า “กฎกระทรวงฉบับ (ก)”) และ
(ข) กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 (ต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า “กฎกระทรวงฉบับ (ข)”)
กฎกระทรวงดังกล่าวออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยา “ลูกจ้าง” ที่ “ว่างงาน” เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก“สภาวะทางเศรษฐกิจ” (เช่น นายจ้าง "เลิกจ้าง" ลูกจ้างเพราะกิจการขาดทุนในช่วง COVID-19 หรือลูกจ้างลาออกเอง เป็นต้น) หรือว่างงาน "ชั่วคราว" (แต่ยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง) เพราะได้รับผลกระทบจาก “เหตุสุดวิสัย” อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (เช่น ถูกปิดสถานประกอบการเพราะการระบาดของโรค COVID-19 หรือถูกกักโรค 14 วันตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขทำให้มาทำงานไม่ได้ เป็นต้น)
การที่จะมีสิทธิได้รับ “ประโยชน์ทดแทน” ตามมาตรการดังกล่าว ต้องปรากฎว่าลูกจ้างมีคุณสมบัติและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ก. เป็นผู้ “ว่างงาน” ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น ว่างงานเพราะถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือเพราะตัวลูกจ้างลาออกเองตาม “กฎกระทรวงฉบับ (ก)” หรือว่างงานเพราะนายจ้างให้หยุดงานชั่วคราวเนื่องจากสถานประกอบการถูกราชการสั่งปิดเพราะโรค COVID-19 ตาม “กฎกระทรวงฉบับ (ข)” เป็นต้น
ข. เป็น “ผู้ประกันตน” ตาม “พระราชบัญญัติประกันสังคม” และไม่เข้าข้อยกเว้นที่ทำให้ตนเองไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว (โปรดดูมาตรา 78 และมาตรา 79/1 ใน link พรบ.ประกันสังคมประกอบ)
ค. กรณีว่างงานชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยตาม “กฎกระทรวงฉบับ (ข)” ลูกจ้างต้องให้นายจ้างกรอก “หนังสือรับรอง” การรับประโยชน์ทดแทนตามแบบฟอร์มแนบท้ายกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วนำไปยื่นพร้อมเอกสารอื่นที่สำนักงานประกันสังคมด้วย หากนายจ้างไม่กรอกหนังสือดังกล่าวให้ ประกันสังคมจะยังจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ลูกจ้างไม่ได้ และในกรณีนี้ หากลูกจ้าง "ลาออกเอง" หรือ "นายจ้างเลิกจ้าง" สำนักงานประกันสังคมจะ "งด" การจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ทันที
เมื่อเห็นว่าตนเอง “มีคุณสมบัติ” ดังกล่าวแล้ว ลูกจ้างก็ “มีสิทธิ” ขอรับ “ประโยชน์ทดแทน” ที่สำนักงานประกันสังคมตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
“หนึ่ง” กรณีว่างงานตาม “กฎกระทรวงฉบับ (ก)” ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานในอัตรา “ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง” จนกว่าจะได้งานใหม่ แต่มีสิทธิได้รับครั้งละไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ ต้องเป็นการว่างงานในระหว่าง “วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565” เท่านั้น
“สอง” กรณีว่างงานตาม “กฎกระทรวงฉบับ (ข)” ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานในอัตรา “ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง” ไปจนกว่าจะสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 90 วัน หรือถ้านายจ้างถูกราชการสั่งปิดกิจการ ลูกจ้างก็มีสิทธิรับเงินกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างไปจนกว่านายจ้างจะกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ต้องเป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นในระหว่าง “วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 31 สิงหาคม 2563” เท่านั้น
**รายละเอียดอื่น ๆ ในกฎกระทรวงจะไม่ขอนำมาอธิบายในที่นี้ แต่สามารถอ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ใน links ที่แปะไว้ท้ายบทความนี้ครับ
***มาตรการตามกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว "ไม่ตัดสิทธิ" ลูกจ้างที่จะได้รับ “ค่าชดเชย” กรณีนายจ้าง "เลิกจ้าง" ลูกจ้าง หากลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและประโยชน์ทดแทนตามมาตรการของรัฐบาลต่อไปครับ
2. มาตรการเยียวยาลูกจ้างในส่วน “เงินสมทบ” กองทุนประกันสังคม
“เงินสมทบกองทุนประกันสังคม” เป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง “หักจากเงินเดือนค่าจ้าง” ของลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน
ปกติแล้วลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม (กล่าวคือลูกจ้างที่ยังไม่ได้ออกจากงาน) จะถูกนายจ้างหักค่าจ้างเพื่อสมทบกองทุนประกันสังคมประจำทุกเดือนในอัตราร้อยละ 1.5 ของค่าจ้าง
แต่กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมากำหนดให้ “ลดหย่อน” อัตราเงินสมทบเหลือเพียง “ร้อยละ 1” ของค่าจ้างในงวด “เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563” นั่นหมายความว่า ลูกจ้างที่เคยถูกหักเงินร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจะได้รับการลดหย่อนให้ถูกหักสมทบเพียงร้อยละ 1 ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ออกจากงานประจำแล้วแต่ยังประสงค์จะจ่ายเงินเข้าประกันสังคมเพื่อรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายอยู่) ยังมีสิทธิได้รับลดหย่อนเงินสมทบตลอดงวด “เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563” จากที่เคยจ่าย 432 บาทต่อเดือน ก็เหลือเพียง 86 บาทต่อเดือน
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างที่ประสบภัย COVID-19 หลายมาตรการด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม “ในทางปฏิบัติ” กลับพบว่ามี “ปัญหาติดขัด” พอสมควรเรื่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ถึงมือลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างบางคนที่มีสิทธิได้รับยังไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิหรือได้รับล่าช้าเกินสมควร
แต่ไม่ว่าปัญหาจะเป็นอย่างไร ลูกจ้างก็ควรรู้สิทธิของตน และนายจ้างก็ควรมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อจะได้จัดการบริหารลูกจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ และขอเป็นกำลังใจให้นายจ้างและลูกจ้างทุกท่านที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 สามารถฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าวไปได้ครับ
พุทธพจน์ นนตรี
THE LEGAL TOPICS
ข้อมูลอ้างอิง:
1) กฎหมาย
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563
พระราชบัญญัติประกันสังคม
2) ภาพประกอบ
Business photo created by jcomp - www.freepik.com
โฆษณา