26 มิ.ย. 2020 เวลา 03:45 • สุขภาพ
Chapter 7 : ทำไมส่วนประกอบอาหารบนบรรจุภัณฑ์มันไม่ครบ 100% (วะ?)
 
“แก ในฐานะที่จบฟู้ด ช่วยบอกหน่อยว่า ทำไมฉลากอาหารมันมาไม่ครบ 100% (วะ) ฉันบวกตรงไหนผิด เข้าใจไรผิดมะ วานบอก!” 555 นี่คือเพื่อนอิฉันค่ะ เมื่อได้ฟังคำถาม ก็มานั่งคิดว่า เออ คงมีคนสงสัยเยอะแฮะ เพราะตอนนี้ใครต่อใครก็รณรงค์ เชิญชวน แกมกดดัน ให้อ่านฉลากกันก่อนจะซื้อ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับกายหยาบของเรา
มา ๆ ๆ ป้าจะเล่าให้ฟัง...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...ผ่ามมมม...ไม่ใช่ดิสนีย์ นี่ป้าเองงงง....
ข้อกำหนดตามประกาศฯ ของ อย. น้านนนน กำหนดให้แสดงส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ในรูปแบบร้อยละ หรือ % ที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละ...ย้ำ ๆ ตรงคำว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญ” เลยนะ คำว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญ” ในความหมายของอย. นั้นก็คือ ส่วนประกอบที่ถ้าหากเราไม่ใส่ มันก็จะไม่เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างที่เราต้องการอ่ะ ยกตัวอย่างดีกว่า เช่น เงาะกระป๋องบรรจุในน้ำเชื่อม ส่วนประกอบที่สำคัญก็คือ เงาะ กับน้ำเชื่อม...ไม่มีเงาะ ไม่มีน้ำเชื่อม จะเป็นเงาะบรรจุกระป๋องในน้ำเชื่อมได้มั้ยล่ะ โถ่วววว 555
ต่อ ๆ ๆ ที่บอกว่าอย.บังคับให้แสดงส่วนประกอบที่สำคัญของอาหารเท่านั้น นั่นหมายความว่า ส่วนประกอบอื่น ๆ กระจุกกระจิก กระยิบกระย่อย ผู้ผลิตจะแสดงหรือไม่แสดงบนฉลากก็ได้นะ เราถึงได้เห็นว่ามันมีส่วนประกอบไม่ครบ 100% บนฉลากของสินค้าบางอย่างยังไงล่ะ ถ้าตัวอย่างเงาะกระป๋องในน้ำเชื่อมเมื่อตะกี้ ส่วนใหญ่ผู้ผลิต ก็จะไม่ระบุปริมาณของ “น้ำ” เข้าไปในฉลากหรอก เราก็เดา ๆ ได้ว่า ส่วนที่ขาดไปจาก 100% นั้น ก็คือส่วนของน้ำนั่นเองจ้ะ
แต่ยังไงก็ตาม ในการยื่นขออนุญาตผลิตอาหารนั้น ทางอย. บังคับให้ต้องแจ้งส่วนประกอบของอาหารให้ครบ 100% อยู่แล้วนะจ๊ะ ดังนั้น ก็ไม่ต้องกังวลไปว่า ผู้ผลิตจะลักลอบ กระมิดกระเมี้ยน แอบเติมอะไรที่ไม่ควรลงไปหรือเปล่า ทางอย. ค่อนข้างเข้มงวดกับการตรวจสอบมาก ๆ เลยทีเดียวนะฮะ
ยังไม่หมด! อย. ยังบังคับให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารด้วย ถึงแม้จะไม่ต้องแสดงปริมาณก็ตามเหอะ นอกจากนี้แล้วยังมีประกาศเฉพาะอาหารบางประเภทอีกด้วยนะ ว่าถึงแม้จะเป็นส่วนประกอบอันน้อยนิด แต่เธอจะต้องแสดงปริมาณของส่วนประกอบที่กำหนดไว้เฉพาะด้วย เช่น ลูกอมหรือหมากฝรั่ง อย. ก็ได้กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงปริมาณน้ำตาล หรือวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลลงบนฉลากด้วย อันนี้บังคับเลยยย
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะกังวลว่า เอ๊ะ แล้วถ้าฉันแพ้อะไรสักอย่าง ที่มันมีปริมาณน้อยนิดในนั้น ซึ่งไม่ถูกระบุให้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญล่ะ ฉันจะรู้ได้ไง ตรงนี้ อย. ก็มีอีกข้อบังคับเหมือนกันนะ ว่ากรณีที่ “มี” หรือ “อาจมี” สารก่อภูมิแพ้ใด ๆ ในกระบวนการผลิตทั้งหมด ผุ้ผลิตจะต้องระบุ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร” เอาไว้บนฉลากด้วยเช่นกันจ้ะ ลองสังเกตบนฉลากกันดูน๊าาา
....อย. ท่านเหมือนคุณครูฝ่ายปกครองอ่ะ เข้ม ๆ เขี้ยว ๆ ไม่ได้ปล่อยผ่านกันง่าย ๆ อ่ะ จริง ๆ!
อ่านฉลากไม่ยากหรอกนะ อ่านเถอะ มันดีจริงๆ!
โฆษณา