Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE LEGAL TOPICS
•
ติดตาม
23 มิ.ย. 2020 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ค่าชดเชยคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?
ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทุกรอบ สิ่งที่มักเป็นผลตามมาบ่อย ๆ นั่นก็คือการเลิกจ้าง และเมื่อเลิกจ้าง กฎหมายก็กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าชดเชยจึงเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่นายจ้างต้องแบกรับแม้กิจการเพิ่งจะประสบภาวะทางเศรษฐกิจมาหมาด ๆ ก็ตาม ดังนั้น THE LEGAL TOPICS จึงอยากมาอธิบายให้ทราบในมุมของกฎหมายว่าค่าชดเชยคืออะไรและกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ
มาตรา 5 พรบ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดความหมายของคำว่าค่าชดเชยไว้ว่า หมายถึง “เงิน” ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
จากนิยามดังกล่าว ค่าชดเชยจึงประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ
1) ต้องเป็น “เงิน” เท่านั้น จะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงินไม่ได้ เช่น การมอบรถยนต์ให้แทนค่าชดเชย ดังนี้ก็ไม่ถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นต้น
2) ค่าชดเชยต้องเป็นเงินที่จ่ายโดยฝ่ายนายจ้างเพราะเหตุที่นายจ้าง "เลิกจ้าง" ลูกจ้างเท่านั้น หากจ่ายเพราะสาเหตุอื่น เช่น จ่ายเมื่อลูกจ้างลาออกจากงานไปเอง หรือทิ้งงานไป หรือเสียชีวิต เงินดังกล่าวก็ไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายเพราะไม่ได้จ่ายเนื่องจากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง
ถึงจุดนี้ มีข้อสังเกตว่า การเลิกจ้างนั้น กฎหมายกำหนดให้รวมถึงการเกษียณอายุด้วย ดังนั้น หากมีข้อตกลงให้ลูกจ้างเกษียณอายุได้ ก็ต้องถือว่าเป็นการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุด้วย
อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างไม่รวมถึงการที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง หากลูกจ้างลาออกเองไม่ว่าจะโดยการยื่นใบลาออกหรือเข้าโครงการลาออกภาคสมัครใจ ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายทันที
ในบางครั้ง นายจ้างอาจตกลงมอบประโยชน์อย่างอื่นตอบแทนหลังลูกจ้างออกจากงาน เช่น เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินรีไทร์เมนต์ หรือเงินรางวัลตอบแทนการทำงานมายาวนาน (long service award) เป็นต้น เงินเหล่านี้อาจถือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างได้กำหนดให้เงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายเพราะนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
เช่น บริษัท ก. จำกัด ตกลงให้เงินตอบแทนและเงินรีไทร์เมนต์แก่ลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุโดยเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตกลงจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง ไม่ได้ตกลงจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายเพราะไม่ได้เป็นการจ่ายโดยเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง แต่เป็นการจ่ายเพราะเหตุที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2276/2551)
แต่หากนายจ้างกำหนดให้เงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายเพราะนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เงินดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายทันที
เช่น นายจ้างตกลงจ่ายประโยชน์ตอบแทนตามโครงการเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปี (early retirement) ให้แก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวย่อมมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลักษณะการจ่ายที่ไม่ต่างจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 เพราะเป็นการจ่ายเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ (กฎหมายถือเป็นการเลิกจ้าง) จึงถือเป็นค่าชดเช
ยตามกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 6966-6971/2542)
เมื่อตีว่าเงินจำนวนใดเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว นายจ้างก็ต้องจ่ายให้ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการ และอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะหากฝ่าฝืนไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด นายจ้างก็อาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ ค่าชดเชยจึงถือเป็น “ต้นทุนค่าใช้จ่ายการผลิต” อย่างหนึ่งในทางบัญชีและกระทบโดยตรงต่อการวางแผนธุรกิจ โดยเฉพาะการวางแผนเรื่องกำลังคนและการเงินภายในองค์กร
ในส่วนของขั้นตอน วิธีการ และอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นอย่างไร เราขอยกยอดไปอธิบายในตอนหน้า เรื่อง ค่าชดเชยต้องจ่ายเท่าไหร่และจ่ายอย่างไร ติดตามอ่านกันได้นะคะ
ณัฐมา สิริธนวณิช
THE LEGAL TOPICS
ภาพประกอบ:
Photo by Matthew Henry from StockSnap
1 บันทึก
7
6
1
7
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย