24 มิ.ย. 2020 เวลา 11:44 • ประวัติศาสตร์
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๖๓ กำหนดให้สาขาการกำหนดอาหาร
เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ
1
อ้างอิง : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/046/T_0040.PDF
ข่าวดีที่ได้รับเมื่อเช้านี้ของวงการนักกำหนดอาหาร
ที่ผ่านมาประเทศไทย
ไม่เคยมีใบประกอบโรคศิลปะสาขานักกำหนดอาหาร
ไม่เคยมีตำแหน่งนักกำหนดอาหารอยู่ในระบบราชการ
คนส่วนใหญ่จึงคุ้นชินกับคำว่า “นักโภชนาการ” มากกว่า
ซึ่งในโรงพยาบาลต่างประเทศจะเรียก “นักกำหนดอาหาร (Registered Dietitian)” ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตคน วินิจฉัยปัญหาโภชนาการโดยประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย วิเคราะห์และวางแผนการให้โภชนบำบัด ให้คำปรึกษา ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริม ฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคตามแผนการรักษาของแพทย์
ปัจจุบันประเทศไทยยังมีความทับซ้อนกันอยู่
📍โรงพยาบาลรัฐ นักโภชนาการทำงานโภชนบริการ โภชนบำบัด งานพัสดุ และทำหน้าที่ของนักกำหนดอาหารดังที่กล่าวมาด้วย
📍โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่แยกตำแหน่งนักกำหนดอาหารกับนักโภชนาการอย่างชัดเจนแล้ว
ในอนาคต เราคงได้เห็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของสาขาการกำหนดอาหารที่เข้มข้นและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะมีบุคลากรสาขานี้มากขึ้น เพื่อช่วยกันพัฒนาวิชาชีพของเราให้ก้าวหน้า ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจากการรับประทาน ดูแลคนไข้ด้วยอาหารบำบัดโรค
เบื้องหลังความสำเร็จนี้
ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ผู้บุกเบิกให้มีสาขาการกำหนดอาหารในหลักสูตรของประเทศไทย
ขอบคุณสมาคมนักกำหนดอาหารฯ ที่จัดงานประชุมวิชาการทุกปี ทำให้เรามีใบรับรองนักกำหนดอาหารวิชาชีพ (Certified Dietitian of Thailand) ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนผลักดันให้มีใบประกอบโรคศิลปะในที่สุด
ขั้นตอนต่อจากนี้...
- จัดตั้งคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร
- ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร
- ผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารกำหนด
หากมีความคืบหน้า จะมาอัพเดทให้ทราบนะคะ
Dietitian’s Diary
โฆษณา