Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE LEGAL TOPICS
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2020 เวลา 10:48 • ธุรกิจ
"ค่าชดเชยต้องจ่ายเท่าไหร่และจ่ายอย่างไร?
"หากจ่ายขาดหรือจ่ายไม่ครบ จะมีผลกระทบอย่างไรทางกฎหมาย?"
ในตอนที่แล้วเราได้อธิบายไปว่า "ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง"
คราวนี้ เรามาดูกันว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าไหร่และจะต้องจ่ายอย่างไร
กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและอัตราค่าชดเชยไว้ใน "พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118"
หลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถสรุปได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1) นำ "ค่าจ้าง" ของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมาเป็น "ฐาน" ในการคำนวณ โดยค่าจ้างนี้ต้องเป็นค่าจ้าง "อัตราสุดท้าย" ในขณะเลิกจ้างเท่านั้นครับ
จุดนี้มีข้อสังเกตว่า เงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นสวัสดิการไม่ถือเป็นค่าจ้างนะครับและไม่สามารถนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยได้
ขั้นที่ 2) นำค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ข้อ 1) มาคำนวณหาอัตราค่าจ้างรายวัน
ขั้นที่ 3) เมื่อหาอัตราค่าจ้างรายวันได้แล้ว ก็นำเงินค่าจ้างรายวันไป "คูณ" อัตราค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 ดังนี้ครับ
จำนวนวันที่ทำงาน อัตราค่าชดเชย
ตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1 ปี 30 วัน
ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี 90 วัน
ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 6 ปี 180 วัน
ตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี 240 วัน
ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 20 ปี 300 วัน
ตั้งแต่ 20 ปีขึ้น 400 วัน
4) หักภาษี ณ ที่จ่ายตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด (โดยหัก ณ ที่จ่ายตามสูตรการหักกรณีจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1))
**** ทั้งนี้ การหัก ณ ที่จ่ายนั้น ต้องหัก “เฉพาะ” ค่าชดเชยในส่วนที่ “เกิน 3 แสนบาทขึ้นไป” เท่านั้น หากลูกจ้างได้รับค่าชดเชยไม่ถึง 3 แสนบาท นายจ้างก็ “ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย” แต่อย่างใด เพราะกรณีนี้ได้รับการ “ยกเว้น” ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตาม “กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (51) ประกอบ ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17)” และเทียบ “คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2551" รายละเอียดมีแนบไว้ในลิ้งก์ท้ายบทความครับ
***** ค่าชดเชยที่ได้รับการยกเว้นในกรณีนี้ ไม่รวมค่าชดเชยที่จ่ายเนื่องจากการเลิกจ้างเพราะเหตุ “เกษียณอายุ” หรือเหตุที่ “สัญญาจ้างสิ้นสุดลง” (เช่น กำหนดการจ้างไว้ 2 ปีและเลิกจ้างตามกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ต่ออายุ เป็นต้น)
****** ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น ลูกจ้างสามารถ “ขอคืนได้” หากนายจ้าง “หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินจำนวนที่ต้องหัก” ปัจจุบัน สรรพากรมี “บริการคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์” แล้ว หากสนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในลิ้งก์ตามแนบได้ครับ
******* กรณีขอคืนภาษีกับสรรพากร อาจมีเจ้าหน้าที่บางท่านอ้างว่า “ไม่สามารถคืนภาษีให้ได้เพราะอายุงานของท่านไม่ถึง 5 ปีและไม่ใช่กรณีที่นายจ้างปิดกิจการหรือลดพนักงาน” แนะนำว่าควรให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้น “ชี้แจง” ว่าอ้างตามระเบียบข้อไหน และหากอ้างว่าตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้นระบุว่าอ้างตามข้อไหนในกฎกระทรวง และหากระบุว่าเป็นข้อ 2 (51) ก็ลองให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอ่านเนื้อความในกฎกระทรวงข้อดังกล่าว และหากอ่านแล้ว “ไม่เจอเงื่อนไขตามที่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอ้างแต่แรก” ก็จบข่าวครับ ลูกจ้างก็เรียกให้เขาคืนภาษีให้ตามสิทธิเลยครับ
******** หากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างหลังออกจากงาน "ไม่เข้าลักษณะ" เป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย เงินดังกล่าวจะ "ไม่ได้รับการยกเว้น" ภาษีทันที และลูกจ้างต้องเอาเงินจำนวนนั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีต่อไปครับ ตรงนี้ แนะนำว่า ควรอ่านบทความเรื่อง "ค่าชดเชยคืออะไร" ในบล็อคของเราประกอบเพื่อจะได้ดูว่าเงินก้อนใดเป็นค่าชดเชยหรือไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมาย
คราวนี้ มาดู"โทษ" ของการที่นายจ้างฝ่าฝืน (จงใจหรือเจตนา) ไม่จ่ายค่าชดเชย หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง (จ่ายไม่ครบหรือจ่ายไม่ถูกต้อง) กันนะครับ
โทษกรณีนายจ้างฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายไม่ครบ คือ โทษ "จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุกระยะ 7 วันจนกว่าจะจ่ายครบหากจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยไม่มีเหตุอันสมควร" (พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 และมาตรา 144)
ในกรณีนี้ นายจ้าง "ไม่สามารถตกลงยกเว้น" ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหรือให้ลูกจ้างสละสิทธิไม่รับค่าชดเชยได้ เพราะหากนายจ้างไปตกลงเงื่อนไขดังกล่าวกับลูกจ้าง เงื่อนไขนั้นจะตกเป็น “โมฆะ” ทันทีตามกฎหมาย และถือเป็นการฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ส่งผลให้นายจ้างต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาตามจำนวนและระยะเวลาที่กล่าวมาข้างต้น
จะเห็นได้ว่าโทษของการไม่จ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องมีสูงมาก นายจ้างจึงควรมีที่ปรึกษาทางกฎหมายและการบัญชีคอยแนะนำทั้งในเรื่องข้อกฎหมายและผลกระทบทางบัญชีก่อนตัดสินใจเลิกจ้างลูกจ้าง โดยเฉพาะการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนหลายคนพร้อมกัน เพื่อที่ว่าจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีปัญหาในทางภาษีตามมาทีหลัง
อย่างไรก็ตาม นายจ้างอาจพิจารณาทำโครงการลาออกภาคสมัครใจพร้อมเสนอผลประโยชน์อย่างอื่นทดแทนแก่ลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างลาออกเอง หากลูกจ้างรับข้อเสนอดังกล่าว ข้อเสนอนั้นก็จะกลายเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันและทำให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายผลประโยชน์อื่นตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงแทนการจ่ายค่าชดเชยต่อไป
ดังนั้น แม้การจ่ายค่าชดเชยจะเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งตามกฎหมายและเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของกิจการ แต่ก็ใช่ว่านายจ้างจะไม่มีทางออกเสมอไป เพราะกฎหมายก็วาง “ข้อยกเว้น” ที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างอยู่หลายกรณีด้วยกัน ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่ากรณีใดบ้างที่นายจ้างได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
พุทธพจน์ นนตรี
THE LEGAL TOPICS
กฎหมาย:
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (51)
https://www.rd.go.th/publish/2502.0.html
ประมวลรัษฎากร (ไล่ดูมาตรา 42 (17) ประกอบ)
https://www.rd.go.th/publish/5937.0.html
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2551
https://deka.in.th/view-412633.html
บริการขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์
http://www.rd.go.th/publish/27657.0.html
บทความเรื่อง "ค่าชดเชยคืออะไร"
https://www.blockdit.com/articles/5ef20e24c2fa8e13c06556e6
ภาพประกอบ:
Photo by Matt from
https://stocksnap.io/
9 บันทึก
17
3
33
9
17
3
33
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย