24 มิ.ย. 2020 เวลา 13:24 • ไลฟ์สไตล์
การที่ผมได้แบกกระเป๋ามาอินโดนีเซีย ตลอดเวลา 6 ปี ผมได้เห็นอะไรมากมาย วัฒนธรรมโบราณของอินโดนีเซียเป็นอีกอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ
เมื่อสองวันก่อนผมได้รับคำเสนอให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับงานแต่งงานของคนชวา (Jawa) คือ เจ้าบ่าวจะมีพวงมาลัยดอกมะลิคล้องไว้รอบคอลงมาถึงหน้าอก ส่วนเจ้าสาวจะมีพวงดอกมะลิยาวจากหัวจนถึงไหล่หรือยาวกว่านั้น
ในประเพณีแต่งงานของอินโดนีเซียโดยเฉพาะที่เกาะชวานั้น ดอกมะลิเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ขาดไม่ได้มาช้านาน
พวงมาลัยมะลิสำหรับเจ้าบ่าวนั้นจะมีชื่อว่า Roncean Usus-Usus คำว่า Usus ในภาษาไทยหมายความว่า ลำไส้ เหตุผลที่มีชื่อนี้เนื่องจากดอกมะลิที่ร้อยมีลักษณะคล้ายกับลำไส้และมักจะเกี่ยวข้องกับตำนานของ Haryo Penangsang ในช่วงอาณาจักรของศตวรรษที่ 17 คือตำนาน Haryo Penangsang ที่แพ้การต่อสู้กับ Sutawijaya จนลำไส้ของเขาหลุดออกจากท้อง
ในขณะเดียวกัน สำหรับเจ้าสาวแล้วพวงมาลัยมะลิมักใช้ในรูปแบบของ Roncean Tibo Dodo ประกอบด้วยพวงมะลิสามเส้น ประดับจากบนหัวยาวลงมาถึงหน้าอก และบ้างก็จะยาวลงมาถึงเอว ซึ่งสำหรับเจ้าสาวนั้นเป็นเหมือนเครื่องประดับบนศรีษะ
ดอกมะลิที่ไว้ประดับบนศรีษะของเจ้าสาวนั้นมีน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับสถานะของครอบครัวนั้นๆ
ทำไมต้องเป็นดอกมะลิ?
ดอกมะลิเป็นดอกไม้หลักในการทำพวงมาลัย ไม่ใช่แค่งานแต่งงานอย่างเดียว แต่ในการเฉลิมฉลองแบบดั้งเดิมของชวาต่างๆก็ใช้ดอกมะลิเช่นกัน
ดอกไม้ประจำชาติชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่มีกลิ่นหอมละมุนอ่อนๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความสุขในงานเฉลิมฉลองได้ดีด้วย และว่ากันว่าดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำพวงมาลัย ดอกมะลิที่ใช้คือ ดอกมะลิที่ยังไม่บาน ซึ่งตามหลักชวาแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของความงามที่อยู่ในความเรียบง่ายและความอ่อนน้อมถ่อมตนนั่นเองละครับ
.
อยู่นานๆเเล้วจะรู้สึกว่า #อ๋ออินโดนีเซีย เป็นอย่างนี้นี่เอง
.
.
หากถูกใจบทความนี้ ก็อย่าลืมกดไลค์ กดเเชร์ เเละกดติดตามเพจ "กระเป๋าเดินทาง" กันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ ที่ใส่กระเป๋ามาให้คุณทุกวัน
อยากให้เรานำเสนออะไรเกี่ยวกับอินโดนีเซีย กระซิบบอกในอินบอกซ์ได้นะครับ แอดมินจะสรรหามาให้อ่านเองครับ
@แอดลอนตอง (บทความ)
@เเอดชิมอล (เรียบเรียง)
@เเอดบะโซ (ภาพประกอบ)
ขอบคุณครับ
##กระเป๋าเดินทาง##
โฆษณา