25 มิ.ย. 2020 เวลา 03:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
@ ขยายความบทกลับแห่งคมคิด !!!
๑. โยนิโสมนสิการ เป็นการกำหนดรู้ธรรมจาก "สัจจะสภาวะ" ของธรรมนั้นเท่านั้น จึงเรียกว่า กำหนดรู้ธรรมโดยธรรม เช่น บทพยัญชนะของทุกขอริยสัจ มีนิยามว่า ชาติ คือการเกิดเป็นทุกข์ เราไม่ได้กำหนดจดจำบทพยัญชนะเพียงว่า การเกิดเป็นทุกข์เพียงเท่านั้น แต่เพ่งพินิจบทสภาวะคือสัจจะสภาวะของชาติด้วยว่า อะไรคือสัจจะสภาวะของชาติ ชาติมีนัยหมายถึงสิ่งใด เช่น มีนัยหมายถึง การเกิด การอุบัติ การหยั่งลงสู่อายตนะ การได้มาซึ่งอายตนะ ฯลฯ การพิจารณาเห็นสัจจะสภาวะแห่งชาติได้โดยประการนี้ เรียกว่า กำหนดรู้ธรรมโดยธรรม คือ กำหนดรู้ทุกข์ได้จากสัจจะสภาวะแห่งความเป็นทุกข์ ดังนี้เป็นต้น
๒. ในกรณีของโพธิปักขิยธรรม เราสามารถกำหนดรู้ธรรมได้โดยธรรม เช่นเดียวกันกับกรณีแรก คือ กำหนดรู้โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายได้จากบทพยัญชนะและบทสภาวะที่กำหนดได้จากธรรมนิยามนัันๆ เพ่งพิจารณาธรรมโดยความเป็นสภาวะ เข้าใจสัจจะสภาวะนั้นๆแล้ว จึงพิจารณาเห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างองค์ธรรมผ่านสัจจะสภาวะเหล่านััน สามารถวินิจฉัยได้ว่า องค์ธรรมใดเป็นหลัก องค์ธรรมใดเป็นเครื่องสนับสนุน ฯลฯ
เมื่อกำหนดรู้ธรรมผ่านสัจจะสภาวะได้ดังนี้แล้ว จึงรู้ชัดว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายล้วนตั้งอยู่บนอริยมรรค มีอริยมรรคเป็นฐาน คือ อริยมรรคต้องปรากฏขึ้นมาก่อน โดยอาศัยการมีจิตถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ มีดำริอันชอบด้วยสัมมาสังกัปปะ มีจิตน้อมไปในการออกจากกามด้วยเนกขัมมะแล้ว โพธิปักขิยธรรมอื่นๆ จึงจะสามารถประดิษฐานขึ้นมาได้
ด้วยเหตุผลนี้ จึงกล่าวได้ว่า การเจริญโพธิปักขิยธรรมอื่นๆ ก่อนมีการเจริญอริยมรรค ไม่อยู่ในฐานะที่จะเกิดมีขึ้นได้ การเจริญโพธิปักขิยธรรมอื่นๆโดยไม่ผ่านอริยมรรค เป็นการกระทำตามบทพยัญชนะเท่านั้น เป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะจิตยังไม่น้อมไป !!!
๓. บุคคลผู้พิจารณาธรรมในธรรมคืออริยสัจสี่ ผ่านสัจจะสภาวะแห่งธรรมนั้น โดยอาศัยธรรมนิยามเหล่านั้นเป็นสิ่งบ่งชี้ พิจารณาเห็นสภาพธรรมใดชื่อว่าเห็นธรรมนั้น
เมื่อพิจารณาเห็นสภาพธรรมแห่งทุกข์ แห่งทุกข์สมุทัย แห่งทุกขนิโรธ แห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้ครบถ้วนแล้ว พิจารณาเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรม ได้ตลอดสายสัมพันธ์ จึงมีจิตน้อมไปในธรรมนั้น
จิตที่น้อมในธรรมแห่งอริยสัจสี่ อันเป็นผลมาจากการเห็นธรรมนั้น เป็นจิตที่มีความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ
ในขณะจิตนี้ โลกทัศน์ ทัศนคติ และทัศนะวิสัยต่างๆ ของบุคคลผู้นั้น จะมีการปรับเปลี่ยนจากปุถุชนบุคคลผู้แสวงหากาม แสวงหาภพ ไปสู่การแสวงหาพรหมจรรย์ โดยมีจิตน้อมไปสู่อริยมรรคที่พิจารณาเห็นแล้ว ในลำดับนั้น
จิตที่น้อมไปสู่อริยมรรค เป็นจิตที่มากไปด้วยความรู้ในสภาวะแห่งอริยมรรค มีความรู้ความเห็นที่ถูกต้องในกลไกแห่งอริยมรรค ซึ่งมีสภาพเปรียบได้กับอริยยาน เป็นธรรมยานที่มีสัมมาทิฏฐิทำหน้าที่เป็นประธานให้บังเกิดมีขึ้นและเป็นไป ความรู้ในกลไกแห่งอริยมรรค ซึ่งเป็นอริยยาน ในวาระจิตแห่งความถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ มีสภาพเปรียบได้กับไต้ก๋งเรือ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้กลไกแห่งเรือและการบังคับบัญชาเรือให้แล่นไปสู่จุดหมาย
 
จึงกล่าวเชิงเปรียบเทียบไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ ถึงพร้อมเมื่อใด อริยมรรคแปดย่อมปรากฏขึ้น เมื่อนั้น ไต้ก๋งปรากฏขึ้น ธรรมยานปรากฏขึ้น โดยมีลูกเรือเพียง ๑ เดียวคือ ไต้ก๋ง ที่ปฏิบัติตนเพื่อความเป็นอย่างนั้น !!!
ศรัทธาในสัทธรรม
ธัชเสถียร
๒๐/๖/๖๓
โฆษณา