29 มิ.ย. 2020 เวลา 08:02 • ปรัชญา
เรื่อง ศาลพระภูมิ ที่อยากเล่า
ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่ พิธีกรรมพื้นบ้านต่างๆ เป็นความเชื่อของบรรพบุรุษของคนไทยมาแต่ช้านาน ความเชื่อของศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ มีการพัฒนาพิธีอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาล (ศาลพระภูมิ,ศาลเจ้าที่) เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือน ผู้อยู่อาศัย เพื่อความเป็นสิริมงคล และเจริญรุ่งเรือง เรานิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ เมื่อมีการปลูกสร้างบ้านเรือนหรือ สำนักงานใหม่ ซึ่งผู้เขียนมีเรื่องเล่าเกิดขี้นเมื่อมีการตั้งศาลพระภูมิ ที่บ้านน้องสาวในหลายปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ต้องจดจำ และสัมผัสได้ด้วยตนเองที่อยากเล่าค่ะ อย่างไรก็ตามขอกล่าวถีงตำนานศาลพระภูมิก่อนนะคะ
Credit ภาพ: Pixels.com
ตำนานศาลพระภูมิ
บทความที่เขียนโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง ได้รายงานว่าประเพณีการตั้งศาลพระภูมิในประเทศไทยนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไร และรายงานทางวิชาการของ อาภาภิรัตน วัลลิโภดมเรื่อง “การนับถือเจ้า เทพ และพรหม ในระบบความเชื่อของชาวเมือง” ได้ศึกษาระบบความเชื่อเรื่องศาลพระภูมิ กล่าวว่า พระภูมิเป็นเทพที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับพุทธ เรื่องของพระภูมินั้นเป็นเรื่องของการยืมเทพจากสวรรค์มาช่วยคนบนพื้นโลก และเพื่อให้เกิดการเชื่อถือยอมรับได้ จำต้องอิงเรื่องราวเทพในฮินดูมาสนับสนุน ศาลพระภูมิเป็นความเชื่อประจำบ้านที่ไม่ใช่ผีธรรมดา แต่เป็นเทวดาระดับหนึ่ง ตำนานศาลพระภูมิเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งมีพระเจ้ากรุงพาลี มีนามว่า “พระภูมิ” ครองกรุงพาลีมาช้านาน จนมีพระโอรสถึง 9 องค์ ซึ่งแต่ละองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านต่าง ๆ พระภูมิจึงทรงตั้งพระโอรสไปเป็นพระยาปลัดรักษาสิ่งต่าง ๆ คือ พระชัยมงคล มีหน้าที่รักษาเคหะสถาน บ้านเรือน หอค้าต่าง ๆ พระนคร-ราช รักษาค่ายทวาร พระเทวเถร รักษาคอกสัตว์ พระชัยสพ รักษายุ้งข้าว พระคนธรรพ์ รักษาเรือนหอ พระวันรัต รักษาที่นาพระธรรมิกราช ดูแลรักษาอารามและอุทยานต่าง ๆ และพระทาษราชา ทำหน้าที่รักษาแม่น้ำเรียกว่าพระโอรสแต่ละองค์จะทำหน้าที่ปกป้องรักษาสถานที่ไปคนละอย่าง โดยมีพระภูมิเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานของพระโอรส
นอกจากนี้ พระเจ้ากรุงพาลียังมีบริวารคนสนิทอยู่อีก 3 คน คือ นายจันถี นายจันทิศ และจ่าสพพระเชิงเรือน ทำหน้าที่รับใช้อยู่ตีนโรงตีนศาลด้วย แต่ทำไมพระภูมิซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงพาลีต้องมาทำหน้าที่รักษาทรัพย์สินทั้งหลายในโลกมนุษย์ ซึ่งในตำนานพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเข้ายังเป็นเพียงพระโพธิสัตว์ กำลังบำเพ็ญญาณอยู่ใต้ต้นนิโครธา ตกกลางคืน ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พระภูมิ เจ้ากรุงพาลี ได้เสด็จมาไล่ที่ ขับไล่พระโพธิสัตว์ออกจากแผ่นดินกรุงพาลี พระโพธิสัตว์จึงทรงขอพื้นที่เพื่อใช้ในการบำเพ็ญญาณทางธรรมจากพระภูมิ เพียงแค่ 3 ก้าวเดิน พระภูมิทรงเห็นว่า เป็นที่ดินเพียงเล็กน้อยมาก จึงทรงอนุญาตให้ที่ดิน 3 ก้าวเดินตามที่พระโพธิสัตว์ขอ แล้วก็เกิดเหตุการณ์อภินิหารต่อหน้าพระเจ้ากรุงพาลี เมื่อพระโพธิสัตว์ย่างเท้าเพียง 2 ก้าวก็พ้นเขตแดนกรุงพาลีจนสุดขอบโลก พระภูมิจึงเดือดร้อน ต้องไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์
พระเจ้ากรุงพาลีจึงต้องให้คนสนิททั้งสาม มาทูลขอที่ดินคืนจากพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเมตตาคืนที่ดินทั้งหมดให้แก่พระเจ้ากรุงพาลี เพื่อให้พระภูมิใช้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญตนในสุจริตธรรม และเพื่อป้องกันมิให้พวกจัณฑาลหรือโจรไม่มีที่อยู่มาอาศัยอยู่ในที่ดินนั้น ทำให้โลกเกิดสันติสุข พระภูมิจึงได้กลายเป็นผู้ปกป้องรักษาทรัพย์สินต่าง ๆ ในโลกมนุษย์ตั้งแต่นั้นมา มนุษย์จึงต้องตั้งศาลให้พระภูมิมาสิงสถิต เพื่อช่วยปกปักรักษาบ้านเรือน และคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข
การตั้งศาลพระภูมิ นำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า พระอิศวร หรือพระศิวะ ทรงมีวิมาน ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ เปรียบประดุจมณฑลจักรวาล พระภูมิถือเป็นเทวดา ขั้นหนึ่งเหมือนกัน วิมานของศาลพระภูมิ จึงต้องมีเสาเดียว เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุมาศวิมานของ พระอิศวร ดังนั้น การตั้งศาลพระภูมิ จึงมีเสาเดียว ส่วนศาลเจ้าที่ นั้นเปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านจึงมี 4 เสา
การตั้งศาลพระภูมินั้น จะต้องมีการประกอบพิธีกรรม บวงสรวงสังเวย ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีมานาน เหมือนกับประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากการทำพิธีบวงสรวงแล้ว ยังต้องมีพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิที่ถูกต้องตามแบบประเพณีพราหมณ์โบราณ พิธีกรรมนี้จะต้องใช้ผู้ทรงคุณวุฒิหลายแขนง เช่น โหรจะเป็นผู้เลือกชัยภูมิที่ตั้งกำหนดทิศทาง รูปทรงของศาลพระภูมิ หาฤกษ์ยามยกศาล ซึ่งจะต้องใช้พราหมณ์เป็นผู้กระทำในพิธีทั้งหมด
สถานที่ที่ตั้งศาล มีหลักการพิจารณา ดังนี้
1. ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน
2. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
3. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ สิ่งปฏิกูล
4. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
5. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน
6. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
7. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย
อุปกรณ์ที่ใช้วางบนศาลพระภูมิชัยมงคล
1. เจว็ด
2. รูปปั้น ทาสี-ทาสา จำนวน 1 คู่
3. ช้าง-ม้า จำนวน 2 คู่
4. ตุ่มเงิน-ทอง จำนวน 1 คู่
5. ฉัตรเงิน – ทอง จำนวน 1 คู่
จะเห็นได้ว่า พิธีการตั้งศาลพระภูมิ เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการอัญเชิญเทวดามาสิงสถิตอยู่ที่ศาลพระภูมิ มีการสวดคาถา ตามพิธีพราหมณ์ เรื่องที่ผู้เขียนอยากเล่า คือ ขณะที่มีพิธีตั้งศาลพระภูมิ ที่บ้านของน้องสาวผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่าเป็นพิธีที่สวยงาม พราหมณ์ในชุดขาว กำลังสวด ทำพิธีบวงสรวง อัญเชิญเทวดา อยู่หน้าศาลพระภูมิ ผู้เขียนจึงอยากเก็บรูปไว้เป็นที่ระลึก จีงได้ถือกล้องขึ้นมา และกำลังจะกด shutter ทันใดนั้นเอง เหมือนมีมือมาตบที่กล้องอย่างแรง กล้องตกลงไป มุมกล้องปิ่นเล็กน้อย ผู้เขียนก็ยังไม่ได้คิดอะไร เก็บกล้องขี้นมาใหม่ คิดว่าเป็นอุบัติเหตุ (แต่ก็แปลกใจนิดๆว่าทำไมเหมือนมีแรงตบมาที่กล้อง) และก็กำลังจะกด shutter อีกครั้ง ก็มีเหมือนมีมือมาตบที่กล้องเช่นเดิมอีก กล้องหลุดจากมือลงพื้นอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม และตอนนี้คิดได้แล้วว่า เรายังไม่ได้ขออนุญาตท่านพระภูมิ เทวดา เจ้าที่ จึงรีบขออนุญาตท่านอย่างทันที คราวนี้สามารถถ่ายภาพได้อย่างราบรื่น สวยงาม จากบทเรียนนี้สอนอะไรผู้เขียนบ้าง สอนว่า 1. ก่อนทำอะไร ต้องขออนุญาต บอกกล่าว เจ้าที่ เจ้าทาง 2. สิ่งที่ไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี สำหรับเรื่องนี้ต้องขอบอกว่า ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ค่ะ และท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างคะ
โฆษณา