Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE LEGAL TOPICS
•
ติดตาม
25 มิ.ย. 2020 เวลา 11:18 • ธุรกิจ
“นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้หรือไม่
และกรณีใดบ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง”
แน่นอนว่าเมื่อมี “หลัก” ก็ต้องมี “ข้อยกเว้น”
เมื่อหลักคือต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง แต่จะให้นายจ้างจ่ายทุกกรณีเลยมันก็กระไรอยู่ ดังนั้น กฎหมายจึงวาง “ข้อยกเว้น” ให้นายจ้างมีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายค่าเชยให้แก่ลูกจ้างได้ในบางกรณี
วันนี้ THE LEGAL TOPICS จะมาอธิบายให้ฟังว่ากรณีใดบ้างที่นายจ้างได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย
"ข้อยกเว้นแรก" ลูกจ้างลาออกเอง หรือทิ้งงานไป หรือเสียชีวิตในระหว่างการจ้าง
กรณีที่ลูกจ้างลาออกเอง หรือทิ้งงานไป หรือเสียชีวิตในระหว่างการจ้าง นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะค่าชดเชยจะจ่ายได้ต่อเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่ลูกจ้างลาออกเอง (เช่น ยื่นใบลาออก หรือเข้าโครงการลาออกภาคสมัครใจ) ทิ้งงาน หรือเสียชีวิตในระหว่างการจ้าง ไม่ถือเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในกรณีครับ
"ข้อยกเว้นที่สอง" ลูกจ้างทำงานไม่ถึง 120 วัน
กรณีลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างไม่ถึง 120 วันนับแต่วันที่ทำสัญญาจ้าง นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ด้วยเหตุนี้ ในสัญญาจ้างแรงงานจึงมักกำหนดให้มีระยะทดลองงานเพียง 119 วันหรือน้อยกว่านั้น เพื่อที่ว่านายจ้างจะได้ใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั่นเอง
ในทางกลับกัน หากลูกจ้างทำงานครบ 120 วันแล้ว นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในเวลาต่อมา
"ข้อยกเว้นที่สาม" งานที่มีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างแน่นอน
งานกรณีนี้หมายถึงงานตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาเริ่มต้นการจ้างงานและกำหนดสิ้นสุดการจ้างงานไว้แน่นอน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “fixed term contract” นั่นเอง
งานที่มีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างแน่นอนเป็นการสิ้นสุดการจ้างโดยผลของสัญญา กล่าวคือ พอครบอายุสัญญากันปุ๊บ ก็เลิกสัญญากันปั๊บทันที ไม่ได้เป็นการเลิกสัญญากันเพราะนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างลูกจ้างแต่อย่างใด นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีนี้
หากนายจ้าง “วางแผน” ที่จะจ้างลูกจ้างโดยไม่ประสงค์จะจ่ายค่าชดเชยเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างกันตามข้อยกเว้นที่สามนี้ นายจ้างต้องจัดทำสัญญาให้เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ
1) กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดงานไว้ไม่เกิน 2 ปี ตรงนี้ ต้องระบุให้ชัดเจนเลยว่าเริ่มต้นงานวันใด เดือนใด ปีใด และสัญญาจ้างสิ้นสุดวันใด เดือนใด ปีใด โดยกำหนดสิ้นสุดงานต้องไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันเริ่มงานครับ
2) ต้องไม่มีข้อตกลงให้ต่ออายุสัญญาออกไปได้และห้ามตกลงมอบสิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกสัญญาก่อนครบอายุสัญญา หากไปตกลงเช่นนั้น ก็จะไม่เข้าเงื่อนไขของข้อยกเว้นทันที ส่งผลให้นายจ้างต้องกลับไปมีหน้าที่ในการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างตามปกติครับ
3) ต้องกำหนดให้ลูกจ้างทำงาน “ประเภทใดประเภทหนึ่ง” ใน 3 ประเภทต่อไปนี้เท่านั้น คือ
ก) งานตามโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง เช่น นายจ้างทำธุรกิจหลักคือขายวัสดุก่อสร้าง แต่ประสบภาวะ COVID-19 จึงทำธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยวดิลิเวอรี่ออนไลน์ชั่วคราวเพื่อเสริมธุรกิจหลักคือธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างเป็นเวลา 4 เดือน หากนายจ้างจ้างลูกจ้างใหม่มาเป็นพนักงานลวกก๋วยเตี๋ยวและกำหนดเลิกจ้างลูกจ้างภายในเวลา 4 เดือนนับแต่เริ่มจ้าง นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงครับ
ข) งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หมายความว่า งานที่ไม่ใช่งานประจำและไม่ใช่งานในสายงานเดียวกับกิจการของนายจ้าง เช่น นายจ้างทำกิจการขายวัสดุก่อสร้าง ไม่ได้มีกิจการรับเหมาก่อสร้าง นายจ้างจ้างนาย ก. มาเป็นลูกจ้างทำงานรับเหมาก่อสร้างอาคารให้ผู้ว่าจ้างรายหนึ่ง กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน 240 วัน ดังนี้ เมื่องานรับเหมาก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ใช่งานประเภทเดียวกันกับงานขายวัสดุก่อสร้างของนายจ้าง และเป็นงานที่นายจ้างรับมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นาย ก. เมื่อเลิกจ้างหรือเมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เป็นต้น
ค) งานตามฤดูกาล หมายถึง งานที่มีให้ทำเป็นช่วง ๆ ตามฤดูของงาน เช่น งานที่นายจ้างจ้างลูกจ้างมาทำงานตามฤดูท่องเที่ยวและสิ้นสุดสัญญาจ้างเมื่อพ้นหน้าฤดูท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนี้ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
หากสัญญาจ้างครบเงื่อนไขที่กล่าวมา “ทั้งหมด” ตั้งแต่ข้อ 1) ถึง 3) แล้ว ก็เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวแม้เพียงข้อเดียว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายและต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีครับ
ในตอนหน้า เราจะมาอธิบาย "ข้อยกเว้นข้อสุดท้าย" ซึ่งอาจเป็นข้อยกเว้นที่ “สำคัญที่สุด” นั่นก็คือ “ข้อยกเว้นตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน” ในลักษณะของการอธิบายผสม Q&A สำหรับคำถามที่พบบ่อย ๆ ในทางปฏิบัติ อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ
พุทธพจน์ นนตรี
THE LEGAL TOPICS
กฎหมาย:
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ดูมาตรา 118 และ 119)
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A477/%A477-20-9999-update.pdf
ภาพประกอบ:
Tim Sullivan_StockSnap
Burst_StockSnap
4 บันทึก
6
4
4
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย