25 มิ.ย. 2020 เวลา 11:51
แช่เย็น หลังจบแมตช์
ความเชื่อหรือเคล็ดลับมืออาชีพ
ในช่วงที่มีแมตช์แข่งถี่ๆ อย่างนัดกลางสัปดาห์ การฟื้นตัวของนักฟุตบอลเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในสนามอย่างมาก
เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อย่างนึงที่ถูกพูดถึงกัน เมื่อต้องเร่งการฟื้นตัวของนักบอล คือ การใช้ความเย็น หรือ cold therapy
เราอาจเคยเห็นภาพนักฟุตบอลหรือนักกีฬาระดับอาชีพ นั่งแช่ตัวอยู่ในถังน้ำแข็งหรือถังความเย็นติดลบสุดขั้ว
มือสมัครเล่นอย่างพวกเราก็เลยมีการประยุกต์เอาถังมาใส่น้ำเเข็งหรือน้ำเย็นเพื่อแช่เท้ากันหลังออกกำลัง หรือเลือกอาบน้ำเย็นๆกัน หลังเตะบอล
ว่าแต่การใช้ความเย็นช่วยหลังเกม นี่มันเรื่องจริง หรือเพื่อการโฆษณา
หลักวิทยาศาสตร์ของการใช้ความเย็นกับร่างกายหลังการออกกำลัง มักใช้บ่อยๆเพื่อเป้าหมายลดอาการปวด
กลไกคือ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปตรงจุดที่สัมผัสความเย็นลดลง ลดการส่งสารต่างๆของร่างกายที่มีผลกระตุ้นการอักเสบไปที่ปลายทาง จึงลดอาการปวดบวมจากการอักเสบได้
ในงานวิจัยบางชิ้นยังพบว่า การใช้ความเย็นยังช่วยการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น และยังช่วยลดระดับปริมาณสารบ่งชี้ค่าความเสียหายของกล้ามเนื้อ ที่ชื่อ creatine kinase
จึงพอจะอนุมานได้ว่า การใช้ความเย็นหลังเกมช่วยให้ลดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้ ในเวลาที่ต้องการฟื้นตัวช่วงสั้นๆ
แต่! ในทางกลับกัน
กระบวนการอักเสบของกล้ามเนื้อ คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้ร่างกายปรับตัวเพิ่มความแข็งแกร่ง ของเซลล์กล้ามเนื้อ โดยจะไปกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อรองรับการใช้กำลังในระดับที่สูงขึ้น
ดังนั้นการใช้ความเย็นไปสกัดกลไกการอักเสบ จึงส่งผลกระทบต่อการปรับความเเข็งแรงของกล้ามเนื้อไปซะอีกด้วย
มีข้อมูลวิจัยเป็นเวลาราว 3 เดือน พบว่ากลุ่มนักกีฬาที่ใช้ความเย็น 10 องศาเป็นเวลา 10 นาที หลังเกมการแข่งขัน จะมีระดับมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ต่ำกว่า นักกีฬาที่ใช้วิธีปั่นเครื่องจักรยานเบาๆ ถึง 3 เท่า
และในกลุ่มหลังก็ยังมีกล้ามเนื้อแข็งแรงกว่า 2 เท่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกว่าความเย็นส่งผลยับยั้งกลไกการกระตุ้นเส้นใยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย
เป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ชื่นชอบเล่นฟุตบอลอยู่บ่อยๆ ว่า เตะเสร็จแล้ว อาบน้ำเย็นหรืออาบน้ำร้อน ดีกว่ากัน?
จากหลักการใช้ความเย็นหลังเกม จะเห็นได้ว่าข้อดีของมันถูกนำมาใช้เมื่อต้องการลดอาการปวดและเร่งการฟื้นตัวในระยะสั้น เช่นหลังการแข่งขัน 2 เกมในช่วงใกล้ๆกัน แต่เนื่องจากข้อเสียตรงจุดที่มีผลชะลอการพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การใช้ความเย็นจึงไม่เหมาะจะใช้บ่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพร่างกายในระยะยาว
ในทางกลับกัน มีการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้ความร้อนที่ 38 องศา หลังเกม ช่วยให้เกิดการฟื้นตัวได้ดีและยังกระตุ้นการสร้าง ไกลโคเจน ที่เป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้ออีกด้วย
ถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า เมื่อใดที่นักกีฬาต้องการลดการปวดและฟื้นตัวเร็วในระยะสั้นๆ การใช้ความเย็น หรือ Cold therapy จะมีบทบาทชัดเจน แต่จะไม่ดีกับการพัฒนาศักยภาพระยะยาว จึงไม่เหมาะจะใช้บ่อยๆ ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ความร้อนที่สามารถกระตุ้นการปรับตัวของกล้ามเนื้อและผ่อนคลายให้ฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตามข้อถกเถียงนี้ก็ยังต้องการการศึกษาวิจัยที่ละเอียดลึกๆต่อไป
Tech half-time
เพจ อัพเดทเทคโนโลยีที่เอามาใช้ในฟุตบอล
เนื้อหาสั้นๆ อ่านฆ่าเวลาตอนพักครึ่ง
ชอบโปรดแชร์เป็นกำลังใจนะครับ
อ้างอิงเนื้อหาจาก
โฆษณา