25 มิ.ย. 2020 เวลา 23:30 • ธุรกิจ
ข้อยกเว้นข้อสุดท้ายที่นายจ้างยกขึ้นอ้างปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างได้
สวัสดีครับ คราวที่แล้วเราได้อธิบาย “ข้อยกเว้น” 3 ข้อ ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไปแล้ว วันนี้เราจะมาเล่าข้อยกเว้นข้อสุดท้ายให้ทราบกันครับ
ข้อยกเว้นสุดท้ายนี้เป็นข้อยกเว้นตาม "พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119"
ต่อไปนี้จะขอเรียกข้อยกเว้นนี้สั้น ๆ ว่า “ม.119” แทนนะครับจะได้ไม่เยิ่นเย้อและฟังติดหู
ข้อยกเว้นตาม ม.119 นี้มี 6 ข้อด้วยกัน คือ
1) “ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือลูกจ้างทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง”
เช่น ลูกจ้างคดโกง ไม่ซื่อตรง ตอกบัตรเข้างานแทนลูกจ้างอื่น หรือลูกจ้างยักยอกเงินค่าสินค้าของนายจ้าง หรือลักทรัพย์นายจ้าง เป็นต้น ถ้าเข้าเหตุดังกล่าวแล้ว นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
2) “ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย”
เช่น ลูกจ้างจงใจเขียนโพสต์ประจานนายจ้างทำให้คนภายนอกเข้าใจผิด หรือเปิดเผยความลับทางการค้าของนายจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นต้น
3) “ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง”
เช่น ลูกจ้างเมาและขับรถบรรทุกเร็วผิดระเบียบ ทำให้รถคว่ำ ส่งผลให้สินค้าสำคัญของนายจ้างเสียหายหลายล้าน นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
ตรงนี้ถ้าแค่เสียหายธรรมดา ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ กฎหมายไม่เอาโทษครับเพราะเป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์อยู่แล้วที่อาจพลาดพลั้งไปบ้าง กฎหมายเอาโทษเฉพาะกรณีไปก่อความเสียหาย “อย่างร้ายแรง” เท่านั้นครับ ส่วนว่าจะเสียหายร้ายแรงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องพิสูจน์เอาเองครับ
4) “ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน”
กรณีนี้ “เกิดขึ้นบ่อย” กฎหมายแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีฝ่าฝืนระเบียบในข้อร้ายแรง กับกรณีฝ่าฝืนระเบียบในข้อทั่วไปที่ไม่ร้ายแรง
"กรณีร้ายแรง" นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเตือนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
"กรณีไม่ร้ายแรง" นายจ้างยังเลิกจ้างทันทีไม่ได้ นายจ้างต้อง "เตือน" ลูกจ้าง "เป็นหนังสือ" ให้รู้ตัวก่อน และหากลูกจ้างกระทำผิดซ้ำในข้อที่นายจ้างมีหนังสือตักเตือนแล้วภายใน 1 ปีนับแต่ฝ่าฝืน นายจ้างจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีครับ
5) "ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร"
หากลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ครบ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
การจงใจละทิ้งหน้าที่ไป 3 วันทำการติดต่อกันนี้ ไม่นับวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดราชการรวมเข้าด้วย
นอกจากนี้ การละทิ้งหน้าที่ต้องทำไปโดยไม่มีเหตุสมควร หากมีเหตุอันสมควร เช่น เพราะถูกกักกันโรคในช่วง COVID-19 เป็นต้น ดังนี้ ไม่ถือว่าเขาจงใจละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่มีเหตุสมควรนะครับ ยังไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย
6) "ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด"
หมายความว่า "ในระหว่างการจ้างงาน" หากลูกจ้างกระทำผิดอาญาและศาลพิพากษา "ถึงที่สุด" ให้รับโทษจำคุก นายจ้างก็เลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ
คำว่า "ถึงที่สุด" หมายถึง ต้องไม่มีการสู้คดีโดยการอุทธรณ์หรือฎีกากันต่อไปอีกในชั้นศาล หากยังมีการอุทธรณ์ฎีกากันอยู่ ก็ยังไม่ถือว่าคำพิพากษานั้นถึงที่สุด นายจ้างไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยทันทีครับ
ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า การเลิกจ้างลูกจ้าง “เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ” ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่นายจ้างจะยกเป็นเหตุอ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนะครับ หากมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจจนต้องปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่ แต่นายจ้างอาจพิจารณาทำแผนโครงการลาออกภาคสมัครใจเสนอแก่ลูกจ้างแทนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยได้ครับ
จะเห็นได้ว่า แม้การจ่ายค่าชดเชยจะเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่อย่างเด็ดขาดเพราะกฎหมายวางข้อยกเว้นไว้หลายกรณีให้นายจ้างสามารถปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างได้ ดังนั้น การมีความรู้ล่วงหน้าและการมองหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการวางแผนเลิกจ้างลูกจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สวัสดีครับ
พุทธพจน์ นนตรี
THE LEGAL TOPICS
โฆษณา