26 มิ.ย. 2020 เวลา 12:25 • ประวัติศาสตร์
“การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2” Ep.1 ปฏิบัติการของขบวนการ 3 สาย
“รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นพ้องกันว่า การสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก เป็นทางเดียวที่จะประสิทธิความไพบูลย์ในวงศ์เขตนี้ และเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นที่จะยังสันติภาพแห่งโลกให้คืนดีและมั่นคงแข็งแรง...”
เช้าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นได้ทำการบุกถล่มเพิร์ล ฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา
วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นได้ทำการยกพลขึ้นบกที่ไทย
วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1941 รัฐบาลไทยลงนามสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น
และวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1942 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร
เป็นอันเปิดฉากการสร้างวงศ์ไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาร่วมกับญี่ปุ่น
แต่ทว่า การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่หรือแค่ของรัฐบาลกันแน่?
ทุกท่านครับ ณ ที่นี้ ผมจะนำพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวการต่อต้านรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นของคนไทยกลุ่มหนึ่ง...
เรื่องราวของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น...
เรื่องราวปฏิบัติการภายใต้จมูกของกองทัพญี่ปุ่น...
เรื่องราวของขบวนการ 3 สาย ที่ได้ก่อกำเนิดขึ้นมา...
และเรื่องราวปฏิบัติการลับของขบวนการเหล่านั้น...
การแทรกซึม...
2
การหลบหนี...
การปลอมแปลง...
การจารกรรม...
และนี่ คือเรื่องราว “การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2” Ep.1 ปฏิบัติการของขบวนการ 3 สาย
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงเรื่องราวของญี่ปุ่นก่อนที่จะยกพลขึ้นบกที่ไทยก่อนนะครับ...
โดยก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งแปซิฟิกนั้น ญี่ปุ่นต้องการที่จะขยายจักรวรรดิของตัวเองในเอเชียครับ
1
ไม่ว่าจะเป็นการบุกยึดเกาหลีและเข้ายึดแมนจูเรียของจีน จากนั้นก็ตั้งแมนจูเรียเป็นประเทศที่ชื่อว่าแมนจูกัวเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นเอง
1
จนในที่สุดใน ค.ศ.1937 ญี่ปุ่นก็ตัดสินใจบุกจีนครับ เกิดเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ขึ้น
โดยญี่ปุ่นต้องการบุกยึดจีนทั้งประเทศให้เป็นอาณานิคมของตัวเอง (เป็นฝันที่ใหญ่มาก!) แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศและความกว้างใหญ่ไพศาลของจีน สงครามจึงยืดเยื้อสุดๆ ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถจบเกมกับจีนได้ซักที อีกทั้งทรัพยากรของตัวเองก็เริ่มที่จะหมดลง
1
ไม่เพียงเท่านั้นญี่ปุ่นยังโดนสหรัฐอเมริกาค่ำบาตรซ้ำไปอีกจากการรุกรานจีน ปัญหามันอยู่ที่น้ำมันกว่า 70% ของญี่ปุ่นเนี่ย ล้วนนำเข้าจากอเมริกาทั้งนั้นครับ...
ดังนั้น ญี่ปุ่นที่ไม่มีทางเลือกจึงตัดสินใจว่าต้องบุกยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเอาทรัพยากรจากแถบนั้นมาป้อนให้กับกองทัพที่อยู่จีน
แต่การที่จะทำแบบนั้นได้อย่างราบรื่น คือการต้องตัดกำลังของมหาอำนาจแปซิฟิกอย่างอเมริกาซะก่อน
แล้วในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นก็ส่งกองบินไปทิ้งระเบิดที่เพิร์ล ฮาเบอร์ของอเมริกาโดยไม่บอกไม่กล่าว เข้าทำลายกองเรือแปซิฟิกของอเมริกาให้สิ้นฤทธิ์ไปซักพัก เพื่อตัวของญี่ปุ่นจะได้มีเวลาบุกยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หมดก่อนที่อเมริกาจะฟื้นตัว
และเมื่อถล่มเพิร์ล ฮาเบอร์แล้ว วันต่อมาคือวันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นก็เปิดฉากยกพลขึ้นบกที่ไทยทันที และต้องการเปลี่ยนไทยเป็นศูนย์บัญชาการหลักของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยนั้นตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาคพอดิบพอดีนั่นเองครับ...
2
ภาพจาก Japan Info (เหตุการณ์เพิร์ล ฮาเบอร์)
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ไทยนั้น ญี่ปุ่นได้มีการแจ้งมาที่รัฐบาลไทยก่อน โดยบอกว่า “กองทัพญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ไทยในวันที่ 8 ธันวาคม เวลาตี 2 โดยขอไทยอย่าต่อต้านขัดขืน ญี่ปุ่นแค่ต้องการให้ไทยเป็นจุดพักและทางผ่านให้ญี่ปุ่นไปตีพม่าเท่านั้นเอง”
แต่เนื่องจากการตัดสินใจและการสื่อสารที่ล่าช้า ทำให้ยังไม่มีการตกลงอะไรที่ป็นชิ้นเป็นอัน แต่ญี่ปุ่นก็ไม่รอครับ เพราะรีบสุดๆ ทำการยกพลขึ้นบกที่ไทยในเวลาตี 2 ของวันที่ 8 ทันที
ผลคือ ก็มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยและญี่ปุ่นสิครับทีนี้! เลยทำให้มีคนไทยเสียชีวิต 78 คน!
ทางฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดยจอมพลป. พิบูลสงคราม ก็คอยดูท่าทีของอังกฤษครับว่า “จะเอายังไง”
เพราะก่อนหน้านี้มีข้อความจากวินสตัน เชอร์ชิล ที่ส่งให้ไทยมาว่า “ถ้าไทยถูกโจมตี ขอให้ป้องกันตนเอง การโจมตีไทยถือเป็นการโจมตีอังกฤษด้วย”
จอมพลป. จึงไขว้เขวครับว่า “ตกลงอังกฤษ เอ็งจะส่งกองทัพมาช่วยไทยหรือเปล่า?”
และเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก แล้วเกิดการปะทะกับทหารไทย ทางอังกฤษก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะสนใจซักเท่าไหร่ครับ ยังคงปล่อยให้ไทยเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นโดยลำพัง
จอมพลป. คิดไว้แล้วครับว่าหากจะบวกกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงที่กำลังพีคสุดๆ ไทยคงเละแน่นอน จึงตัดสินใจบอกให้ทหารไทยหยุดยิงแล้วปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปอย่างง่ายดาย...
1
และเวลาต่อมา จากการที่ญี่ปุ่นได้ยึดเอาทั้งอินโดจีน และอาณานิคมอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้รัฐบาลไทยเริ่มเอียงไปทางญี่ปุ่นมากขึ้น
ดังนั้น ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1941 จึงมีการทำสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนข้อตกลงจากแค่ให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศ เปลี่ยนมาเป็นให้ไทยร่วมรบด้วยกันกับญี่ปุ่น
โดยไทยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ญี่ปุ่นต้องให้ดินแดนที่ไทยเคยเสียให้ฝรั่งเศสทั้งหมด คืนให้กับไทย...
และเมื่อรัฐบาลของจอมพลป. เริ่มแน่ใจว่าญี่ปุ่นต้องชนะแน่นอน (เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นพีคสุดๆครับ รบที่ไหนก็ชนะ) รัฐบาลจอมพลป. จึงได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1942
เป็นอันว่าไทยได้ก้าวขาข้างนึงเข้าไปในเขตแดนของฝ่ายอักษะเรียบร้อยแล้ว
แต่ทว่า ยังคงมีขาอีกข้างที่ไม่ยอมก้าวตามเข้าไป...
ภาพจาก ww2incolor (ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ไทย)
ขาอีกข้างที่ว่า คือ เหล่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลแล้วทำการตั้งเป็นขบวนการขึ้นมานั่นเองครับ
ซึ่งมีทั้งหมด 3 ขบวนการ คือ ขบวนการที่อยู่ในไทย ขบวนการที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และขบวนการที่อยู่ในอังกฤษ (ทั้ง 3 ขบวนการมีการแยกปฏิบัติการกัน ซึ่งแต่ละขบวนการจะไม่รู้ข้อมูลที่อีกฝ่ายรู้ เพราะในตอนแรกยังไม่มีการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน)
1
โดยการปฏิบัติการของแต่ละขบวนการจะมีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน แต่ผมจะขอเล่าไปทีละขบวนการนะครับ โดยเริ่มที่ขบวนการที่อยู่ในสหรัฐอเมริกากันก่อน...
เมื่อรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลุ่มคนไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นทูต นักเรียนนักศึกษา ก็พากันลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน
1
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เป็นอัคราชทูตไทยประจำวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ได้มีการประกาศผ่านวิทยุกระจายเสียงครับว่า “สถานทูตไทยในอเมริกาไม่ได้รู้เรื่องหรือเห็นชอบด้วยที่รัฐบาลไทยไปเข้าร่วมกับญี่ปุ่น”
ว่าแล้วม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชก็ทำการรวบรวมกลุ่มคนไทยในอเมริกานั่นแหละครับ จัดตั้งกลุ่ม “ไทยอิสระ” ขึ้นมา พร้อมทั้งส่งมณี สานะเสน ไปอังกฤษ เพื่อรวบรวมกลุ่มคนไทยก่อตั้ง “ไทยอิระ” ในอังกฤษขึ้นมาด้วย
โดยฝ่ายอเมริกาก็หนุนไทยอิสระที่อยู่ในอเมริกาเต็มที่เลยล่ะครับ และเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่อเมริกาก็ยังไม่ได้ประกาศสงครามกับไทยอย่างเป็นทางการครับ เพราะไทยอิสระได้มีการเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายอเมริกา
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้มีการส่งกลุ่มนักเรียนของไทยอิสระซึ่งตั้งเป็นกองทหารไทยอิสระ ให้เข้าไปช่วยในหน่วย O.S.S. ของอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองที่ทำงานในเรื่องประเทศที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองโดยเฉพาะ
โดยอเมริกาได้ให้ นิคอล สมิท เป็นผู้ฝึกกองทหารไทยอิสระทั้งเรื่องแผนที่ การเดินเรือ การสื่อสาร การกระโดดร่ม จนจบหลักสูตรภายในเวลา 4 เดือน
แล้วหน่วย O.S.S. ก็ทำการส่งกองทหารไทยอิสระไปปฏิบัติงาน โดยแบ่งเป็น 2 สายคือ จุงกิง ประเทศจีน และบริเวณเขตแดนของพม่า
โดยหน่วย O.S.S นั้น มีเป้าหมายคือ การส่งกองทหารไทยอิสระแทรกซึมเข้าไปในไทย แล้วทำการจารกรรมข้อมูลของกองทัพญี่ปุ่น เรียกง่ายๆคือ เป็นสปายนั่นแหละครับ
ซึ่งงานนี้ถือว่าเสี่ยงตายมากๆสำหรับกองทหารไทยอิสระ แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงการแทรกซึมนี้ ผมขอไปเล่าถึงขบวนการสายที่ 2 ก่อน คือ ขบวนการที่อยู่ในอังกฤษ...
ภาพจาก The WW2 Podcast (หน่วย O.S.S. ของสหรัฐอเมริกา)
อย่างที่เล่าไปครับว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชได้ส่ง มณี สานะเสน มาอังกฤษเพื่อรวบรวมกลุ่มคนไทยแล้วจัดตั้งไทยอิสระสาขาอังกฤษขึ้นเพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศที่เป็นแกนนำสัมพันธมิตรเห็นว่า “จริงๆแล้วไทยไม่ได้อยากเข้าร่วมกับญี่ปุ่นนะ แต่จริงๆแล้วไทยต้องการเข้าร่วมกับสัมพันธมิตรต่างหาก”
1
และแล้วก็มีการตั้งกลุ่มไทยอิสระขึ้นในอังกฤษ แต่อังกฤษไม่เหมือนกับอเมริกาครับ อังกฤษไม่ได้ไว้ใจไทยเลยซักนิด!
กลุ่มไทยอิสระในอังกฤษ ก็มีการส่งสมาชิกเข้าไปเป็นอาสาสมัครในกองทัพอังกฤษเช่นกัน โดยส่งไป 50 คน แต่อังกฤษเลือก 37 คน
และอย่างที่พูดไปครับ อังกฤษไม่เหมือนอเมริกา อังกฤษได้ส่งทหารของไทยอิสระให้ไปอยู่หน่วยโยธา ซึ่งเป็นหน่วยที่ไม่ค่อยมีเกียรติสำหรับทหารซักเท่าไหร่ครับ เพราะต้องทำงานขุดมันฝรั่ง ล้างส้วม หรือเป็นยาม ซึ่งต่างกับไทยอิสระที่อยู่ในหน่วย O.S.S. ลิบลับเลยนะครับ...
1
แต่กลุ่มไทยอิสระในอังกฤษก็ไม่ได้โต้ตอบหรือโต้เถียงอะไร เพียงแค่ก้มหน้าก้มตาตั้งใจทำงานของตัวเองต่อไป
และอย่างที่เขาว่าครับ “น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน” ในที่สุดอังกฤษก็เริ่มใจอ่อน เพราะเห็นแก่ความตั้งใจจริงของไทยอิสระ จึงรับรองกลุ่มไทยอิสระในอังกฤษอย่างเป็นทางการ แล้วส่งสมาชิกของไทยอิสระไปอินเดียเพื่อฝึกกับหน่วย Force 136 ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองลับของอังกฤษในเอเชียตะวันออก
หน่วย Force 136 ได้มีการฝึกไทยอิสระในเรื่องแผนที่ การสืบหาข่าวกรอง การกระโดดร่ม และการรบแบบกองโจร
ระหว่างนั้นเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อหน่วยข่าวกรองของอังกฤษได้รับข้อมูลจากชายคนหนึ่งที่ถูกจีนกักตัวไว้ โดยชายคนนั้นชื่อว่า จำกัด พลางกูร ซึ่งจำกัดได้บอกว่า ตัวของเขาเป็นผู้แทนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทยที่ถูกส่งมาเพื่อเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร!
คราวนี้แหละครับ อังกฤษจึงรู้ว่ามีขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่นในไทยเหมือนกัน จึงได้ตัดสินใจส่งไทยอิสระเข้าไปแทรกซึมในไทยเพื่อติดต่อกับขบวนการที่ว่านั้น...
กลุ่มไทยอิสระในอังกฤษ
คราวนี้ผมจะมาเล่าถึงขบวนการสายที่ 3 ครับ คือ ขบวนการที่อยู่ในไทย...
1
โดยหัวหอกหลักในตอนเริ่มแรก คือ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยปรีดีมีการกระทบกระทั่งกันกับฝ่ายจอมพลป. มาตั้งแต่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ปรีดีบอกว่า “การที่ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นไม่ใช่การแก้ปัญหา ไทยควรที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่แรก!”
และเมื่อรัฐบาลจอมพลป. ได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายของปรีดีจึงคิดที่จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดยหนีไปทางพม่าแล้วเข้าสู่อินเดีย แต่แผนนี้ต้องล้มเลิกไปครับเพราะญี่ปุ่นเริ่มบุกพม่าซะก่อน...
ปรีดีนั้นได้ยินวิทยุกระจายเสียงที่มาจากม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แล้วจึงรู้เลยว่ามีกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันกับเขาอยู่ต่างประเทศ ปรีดีจึงพยายามหาทางติดต่อกับกลุ่มคนเหล่านั้น...
ทั้งมีการพยายามติดต่อกับรัฐบาลเจียง ไคเช็กของจีน หรือไม่ก็ทางฝ่ายสัมพันธมิตร แต่สุดท้ายก็เหลวทุกที ไม่สามารถส่งข้อมูลไปยังกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในต่างประเทศได้ซักครั้งเพราะญี่ปุ่นจับตามองรัดกุมมาก! อีกทั้งกลุ่มของปรีดียังอ่อนแอเกินไป...
แต่แล้วกลุ่มของปรีดีก็ได้พบกับขบวนการกู้ชาติที่อยู่ทางภาคอีสานที่นำโดยชายชื่อ จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นขบวนการที่ต่อต้านญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ขบวนการกู้ชาติจึงทำการเข้าร่วมกลุ่มกับปรีดี ทำให้เกิดเป็นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบที่นำโดยปรีดี ขึ้นในที่สุดครับ
นอกจากจะมีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นของพลเรือนแล้ว ก็ยังมีขบวนการที่เป็นของตำรวจด้วยเช่นกัน
โดย พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่ไปเข้าข้างญี่ปุ่น จึงได้ก่อตั้ง “สันติบาลใต้ดิน” ขึ้นมา โดยสันติบาลใต้ดินตอนแรกยังไม่ได้มีการติดต่อกับขบวนการของปรีดี เพราะกลัวว่าเรื่องจะรั่วไหล แต่สันติบาลใต้ดินนี่แหละครับที่จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มไทยอิสระและขบวนการของปรีดีเข้าด้วยกัน...
1
กลับมาที่ขบวนการของปรีดีครับ เมื่อมีการรวมกลุ่มกับขบวนการกู้ชาติแล้ว ปรีดีก็ได้มีการส่งผู้แทนหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อไปติดต่อกับจีนและฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อเจรจาว่า
“การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาลจอมพลป.นั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากปรีดีที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ได้ลงนามเห็นชอบด้วย”
1
“ขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษและอเมริกายังคงเป็นเหมือนเดิม และขอให้ทั้งสองประเทศรับรองรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น”
ว่าแล้วปรีดีก็ส่งคณะผู้แทนนำโดยจำกัด พลางกูร ทำการหลบหนีออกนอกประเทศ แล้วไปที่จุงกิง ประเทศจีน
ซึ่งการหลบหนีครั้งนี้สามารถเล็ดลอดสายตาทหารญี่ปุ่นไปได้ แล้วจำกัด พลางกูรก็เดินทางถึงจีนวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1943 แต่โดนจีนกักตัวไว้เพราะกลัวว่าจะเป็นสปายของญี่ปุ่น
และแล้วอังกฤษก็รู้ข่าวการกักตัวจำกัด พลางกูร พร้อมได้รับข้อมูลเป้าหมายการมาที่จีนของจำกัด ว่าตัวของเขาเป็นคนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทยที่ส่งมาเพื่อเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรพร้อมส่งข่าวให้กลุ่มไทยอิสระที่อยู่ในต่างประเทศให้รับรู้
แต่กว่าที่จะเข้าใจกันได้ จำกัดก็ป่วยและเสียชีวิตลงก่อน ทำให้การเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรล้มเหลว
แต่จำกัด ก็ได้ทำให้กลุ่มไทยอิสระสายอังกฤษได้รู้ว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย...
ภาพจาก Sarakadee (จำกัด พลางกูร)
เมื่ออังกฤษรู้ว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย จึงตัดสินใจส่งกลุ่มไทยอิสระแทรกซึมเข้าไปในไทยครับ โดยจะส่งผ่านเรือดำน้ำแล้วขึ้นบกที่พังงา แต่ทว่าข้อความที่อังกฤษส่งผ่านจีนเพื่อเอาไปให้ปรีดีนั้นล่าช้า จึงทำให้ไม่มีคนมารับขึ้นบก
อังกฤษจึงเปลี่ยนแผนครับ โดยการให้กลุ่มไทยอิสระ ทำการโดดร่มซะเลย! โดยการโดดร่มนี้เป็นการโดดร่มแบบสุ่มครับทุกท่าน! โดยพื้นที่กระโดดจะอยู่บริเวณสุโขทัย
ผลจากการกระโดดร่ม คือ จุดตกของกลุ่มไทยอิสระที่แทรกซึมนั้นอยู่ที่ตำบลวังน้ำข้าว และพอเข้ามาในไทยได้แล้ว กลุ่มไทยอิสระสายอังกฤษที่กระโดดร่มนี้ ก็ต้องตามหาและพยายามติดต่อกับขบวนการของปรีดีให้ได้! กลางดงของทหารญี่ปุ่นนี่แหละครับ...
และแล้วผ่านไป 3 วัน กลุ่มไทยอิสระก็ถูกตำรวจจับกุมได้ครับ! โดยถูกจับไปไว้ที่สระปทุม กลุ่มไทยอิสระก็ต่างพยายามบอกและโน้มน้าวตำรวจครับว่า “พวกเราก็คนไทยด้วยกันนะพี่นะ อย่าส่งพวกเราให้รัฐบาลเลย พวกเราแค่ต้องการตามหาปรีดีเท่านั้น!”
และเป็นความบังเอิญหรือโชคดีก็ไม่รู้นะครับ ตำรวจที่ควบคุมตัวกลุ่มไทยอิสระอยู่นั้นต่างก็หูผึ่งเมื่อได้ยินชื่อ “ปรีดี” เพราะที่แท้แล้วตำรวจเหล่านี้เป็นสมาชิของสันติบาลใต้ดินนั่นเอง! สันติบาลใต้ดินที่เป็นกลุ่มตำรวจต่อต้านญี่ปุ่นนั่นแหละครับ
กลุ่มสันติบาลก็ได้ติดต่อกับขบวนการของปรีดี...
และแล้วกลุ่มไทยอิสระสายอังกฤษก็ได้พบกับปรีดี พนมยงค์ในที่สุดครับ
เป็นอันว่าการแทรกซึมและติดต่อกับขบวนการใต้ดินในไทยของกลุ่มไทยอิสระสายอังกฤษ ถือว่า Mission Complete ครับ!
1
ภาพจาก Line today (ปรีดี พนมยงค์)
เรากลับมาที่เรื่องราวของกลุ่มไทยอิสระสายอเมริกากันครับทีนี้...
1
โดยกลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาที่อยู่หน่วย O.S.S. จะแตกต่างจากกลุ่มไทยอิสระสายอังกฤษ คือ ไม่รู้ว่ามีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย
ดังนั้นเป้าหมายของ O.S.S. ในการส่งกลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาเข้าไปในไทยก็เพื่อต้องการให้เป็นสปาย และทำการจารกรรมข้อมูลของญี่ปุ่นเอามาให้อเมริกา ไม่ได้เพื่อตามหาหรือติดต่อกับขบวนการของปรีดีเหมือนกับสายอังกฤษ
แล้ว O.S.S. ก็ส่งทหารไทยอิสระชุดแรก 5 คนพร้อมผู้นำทางคนจีน 1 คน แทรกซึมเข้าไปในไทยเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1944 โดยเลาะผ่านทางจีนเข้าไปในหลวงพระบาง แล้วไม่นาน O.S.S. ก็ส่งชุดที่สองตามเข้าไป
แล้วชุดแรกก็ได้มีการแยกกลุ่มกันเป็นกลุ่มละ 3 คน เพื่อแทรกซึม...
แต่ทว่ามีกลุ่มหนึ่งที่โดนตำรวจเข้าจับกุม กลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาทั้ง 3 คนนี้ ไม่ได้โชคดีเหมือนสายอังกฤษครับ เพราะกลุ่มนี้ถูกตำรวจยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยม
แต่การตายของกลุ่มไทยอิสระทั้ง 3 คน ก็ไม่เสียเปล่าครับ เมื่อของที่ติดตัวของทั้ง 3 คน ถูกส่งกลับไปที่กรมตำรวจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิทยุและเอกสารต่างๆ ซึ่งเผอิญว่าของทั้งหมดนี้ดันไปถึงมือของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส คนที่เป็นผู้นำสันติบาลใต้ดินนั่นเองครับ!
พล.ต.อ.อดุล จึงสั่งให้สมาชิกสันติบาลตามหากลุ่มไทยอิสระทั้งหมดที่แทรกซึมเข้ามา ซึ่งก็ตามหาได้จนครบครับ ทั้งชุดแรกที่เหลือ 3 คน และชุดที่สองซึ่งเข้ามาใหม่...
กลุ่มสันติบาลใต้ดิน ก็ได้เป็นตัวกลางให้กลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาได้พบกับปรีดี พนมยงค์เช่นกันครับ ทำให้กลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาและหน่วย O.S.S. รู้ว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย ซึ่งสายอเมริกานี้ได้พบกับปรีดีช้ากว่าสายอังกฤษ 3 เดือนครับ...
เป็นอันว่าการแทรกซึมของกลุ่มไทยอิสระสายอเมริกาถือว่า Mission Complete เช่นกัน!
และเมื่อขบวนการทั้ง 3 ต่างได้มาพบกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
ขบวนการทั้ง 3 ก็ต่างรับรู้การมีอยู่ของกันและกัน
อีกทั้งขบวนการทั้ง 3 ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน
การล้มรัฐบาลจอมพลป.
การปฏิบัติการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น...
การโน้มน้าวอังกฤษและอเมริกาว่าไทยไม่ได้อยากเข้าร่วมกับญี่ปุ่น...
ขบวนการทั้ง 3 ต่างต้องการทำภารกิจเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง...
ดังนั้น พวกเขาจึงทำการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ “ขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement)” ในที่สุดครับ...
ภาพจาก Pacific Atrocities Movement (ขบวนการเสรีไทย)
ใน Ep.ต่อไป ทุกท่านจะได้พบกับเรื่องราวการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทย...
เรื่องราวการจารกรรมข้อมูลจากกองทัพญี่ปุ่น...
เรื่องราวการล้มรัฐบาลจอมพล ป.
การตั้งเมืองหลวงใหม่ของไทย...
แผนการวัน D-day ทางฝั่งแปซิฟิก...
การดิ้นรนของกองทัพญี่ปุ่น...
การพยายามแบ่งประเทศไทยของมหาอำนาจ...
และการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการทูตของไทยในการหลุดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม...
ใน Ep.2 ขบวนการใต้ดินและไทยผู้(ไม่)แพ้สงคราม
อ้างอิง
แสงประทีป. ขบวนการเสรีไทย. กรุงเทพฯ : บันดาสาร์น, 2516.
สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงานของปรีดี พนมยงค์. พระนคร : ประจักษ์การพิมพ์, 2514.
อัญชลี สุขดี. ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525.
F.C Jones. Japan’s New Order in East Asia. London : Oxford University Press, 1945.
Willson A., David. The United States and the Future of Thailand. Pareger Published, New York, 1970.
โฆษณา