26 มิ.ย. 2020 เวลา 12:32 • การศึกษา
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กับขึ้นทะเบียนโนราต่อยูเนสโก ในประเภทรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage)
สัญลักษณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (อังกฤษ: intangible cultural heritage, ย่อ: ICH) ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโก โดยมุ่งเน้นไปยังวัฒนธรรมส่วนที่จับต้องไม่ได้เป็นหลัก
ใน พ.ศ. 2544 ยูเนสโกออกสำรวจเพื่อพยายามตกลงนิยาม และอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ร่างขึ้นใน พ.ศ. 2546 เพื่อการคุ้มครองและสนับสนุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 คำว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" นิยามดังนี้
“มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ จะมีการพิจารณาเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เท่าที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีอยู่ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเท่านั้น รวมทั้งข้อกำหนดให้มีการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนทั้งหลาย กลุ่มชน และปัจเจกบุคคล และต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ประวัติศาสตร์มุขปาฐะ
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แตกต่างจากประวัติศาสตร์มุขปาฐะเล็กน้อย (ประวัติศาสตร์มุขปาฐะเป็นการบันทึก สงวนไว้ และตีความซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยอยู่บนประสบการณ์ส่วนบุคคลและความคิดเห็นของผู้เล่า) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มุ่งไปที่การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรม 'ไว้กับ' ผู้คนหรือชุมชนโดยปกป้องกระบวนการที่ทำให้ประเพณีและความรู้ที่สืบทอดกันมาสามารถส่งทอดต่อไปได้ ในขณะที่ประวัติศาสตร์มุขปาฐะมุ่งไปที่การเก็บและรักษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคล
การสงวนรักษา
ก่อนที่จะมีอนุสัญญาของยูเนสโก ได้มีความพยายามของประเทศต่างๆ ในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายในการคุ้มครองสมบัติทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมทั้งประเภทที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ไทย ฝรั่งเศส โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ต่างก็มีโครงการคล้ายกันในเวลาต่อมา
อนุสัญญาที่ยูเนสโกประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2546 (มีผลเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549) กำหนดให้ประเทศภาคีจัดทำรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และดำเนินการเพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สามารถดำรงสืบทอดอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้ระดมเงินบริจาคระหว่างประเทศสมาชิกยูเนสโกมาใช้เพื่อการทำนุบำรุงมรดกที่ขึ้นทะเบียนแล้วอีกด้วย ยูเนสโกยังมีโครงการอื่นเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น โครงการขึ้นทะเบียน "Proclamation of Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity" ซึ่งเริ่มต้นด้วย 19 รายการเมื่อปี พ.ศ. 2544 เพิ่มเติมเป็น 28 รายการเมื่อปี พ.ศ. 2546 และเป็น 43 รายการในปี พ.ศ. 2548 เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขความไม่สมดุลในโครงการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) ที่ซีกโลกใต้เองมักจะเสียเปรียบเพราะมีอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างที่สำคัญจำนวนไม่มากเท่าซีกโลกเหนือ และท้ายที่สุดโครงการนี้ได้รับการทดแทนโดยการจัด "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" หรือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists) ในปี พ.ศ. 2551
ประเภทการสงวนรักษา
การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มี 3 รายการ ได้แก่
1. รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
2. รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding)
3. รายการที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา (Register of Good Safeguarding Practices)
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำหรับประเทศไทย
รายการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (Inscribed)
- โขน (ขึ้นบัญชี พ.ศ. 2561)
- นวดไทย (ขึ้นบัญชี พ.ศ. 2562)
รายการที่เสนอขึ้นทะเบียนแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก (On-going nominations)
- โนรา
- สงกรานต์ในประเทศไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เสนอขึ้นทะเบียน “โนรา (Nora)” ต่อต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage)
การแสดงโนราเพื่อความบันเทิง (ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
โดยในปี 2021 ลุ้น โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก
โนรา (Nora) มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกกำหนด โดยมีความสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม รวมทั้งเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าฝึกทักษะการแสดงได้ มีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญยิ่ง การขึ้นบัญชีโนรานี้จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง และทำให้เข้าใจถึงความคล้ายและความแตกต่างของมรดกภูมิปัญญาทั้งในและนอกภูมิภาค
ที่มา : สถาบันคึกฤทธิ์
ที่มา : สถาบันคึกฤทธิ์
ทั้งนี้ ศิลปินและชุมชนโนรา ร่วมกับ สวธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำมาตรการสงวนรักษาโนราให้คงอยู่และป้องกันมิให้นำไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย และได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง มนุษยชาติ จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสงวนรักษาศิลปะของโนราให้คงอยู่ โดยให้ความสำคัญกับทุกส่วนอย่างเท่าเทียมไม่ละทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ว่าจะเป็น การร่ายรำ ดนตรี บทร้อง เครื่องแต่งกาย ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยจะยอมรับและเคารพในการปฏิบัติและแสดงออกของแต่ละกลุ่มอย่างเสมอภาค และไม่กีดกัน ส่วนเยาวชนรุ่นใหม่ก็จะหันมาใส่ใจที่จะเรียนรู้และสืบทอดโนรา รับรู้และเข้าใจถึงระบบความเชื่อและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และ เข้ามาร่วมสืบทอดเพื่อเป็นศิลปินโนราที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น
ที่มา : สถาบันคึกฤทธิ์
เครดิตภาพ : ประชา โชคผ่อง
นอกจากนี้ การขึ้นบัญชีจะทำให้สมาชิกในชุมชนได้ตระหนักรู้ถึงความหมาย คุณค่า และความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และรับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และระหว่างชุมชนท้องถิ่นอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกภูมิภาคด้วย
โฆษณา