26 มิ.ย. 2020 เวลา 17:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โรงไฟฟ้าระบบกับเก็บพลังงานด้วยอากาศเหลวเชิงพาณิชย์เริ่มก่อสร้างแล้ว 😉⚡🔋
1
และระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบนี้จะเริ่มเข้ามาแข่งขันกับโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
โรงไฟฟ้าระบบกับเก็บพลังงานด้วยอากาศเหลว
โรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ รูปแบบใหม่ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง แต่ทำหน้าที่ในการเก็บสำรองพลังงานเอาไว้ในช่วงที่ราคาค่าไฟในระบบถูก ก่อนจะนำมาขายเข้าระบบในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟในระบบสูงซึ่งจะทำให้ขายไฟได้ในราคาที่สูงกว่า
Tesla เองก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่กำลังเปิดตลาดโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ควบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงการทำโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่สร้างรายได้จากการกินส่วนต่างค่าไฟดังที่กล่าวมาข้างต้น
แต่มาวันนี้อีกหนึ่งรูปแบบของระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้อากาศเหลวเป็นสื่อในการเก็บสะสมพลังงาน (liquid-air energy storage) กำลังจะเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดพลังงานยุคใหม่นี้
หลักการทำงานของระบบ liquid-air energy storage
โดยหลักการนั้นเริ่มจากนำพลังงานไฟฟ้ามาทำการอัดอากาศให้มีแรงดันสูงขึ้นและทำความเย็นให้กับอากาศความดันสูงนี้ ซึ่งจะทำให้มันกลายเป็นของเหลวก่อนนำไปเก็บไว้ในถังเก็บอากาศเหลวเย็นจัด
เมื่อต้องการพลังงานไฟฟ้าก็จะนำอากาศเหลวเหล่านี้มาให้ความร้อนเพื่อให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนสถานะกลายเป็นก๊าซแรงดันสูงไปหมุนเทอร์ไบน์ ซึ่งต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อนถูกปล่อยทิ้งออกไป
และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของระบบ ความเย็นส่วนเกินที่เกิดในระหว่างกระบวนการขยายตัวจะถูกเก็บไว้ในถังเก็บความเย็นเพื่อใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นในระหว่างขั้นตอนทำอากาศเหลว
ส่วนความร้อนที่เกิดระหว่างกระบวนการอัดอากาศก็จะถูกเก็บไว้ในถังเก็บความร้อนเช่นเดียวกัน เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการให้ความร้อนกับอากาศเหลวในการขยายตัวเพื่อสร้างแรงดันก่อนส่งเข้าเทอร์ไบน์เพื่อผลิตไฟฟ้า
ถังสีฟ้าใช้เก็บความเย็น ถังสีน้ำตาลเก็บความร้อน ส่วนถังสีขาวใช้เก็บอากาศเหลว
ซึ่งการที่ใช้อากาศเหลวเป็นสื่อเก็บพลังงานนั้นทำให้ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดขยะอันตรายเหมือนแบตเตอรี่ อุปกรณ์ท่อ วาล์ว ถังอัดแรงดัน เครื่องอัดอากาศ ระบบทำความเย็น รวมถึงเทอร์ไบน์นั้นต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่มีใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน
ทำให้โรงไฟฟ้าแบบนี้มีอายุการใช้งานใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในปัจจุบัน (25 ปี) และด้วยการออกแบบที่เป็นแบบ Modular นั่นคือสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปเป็นชุด ๆ ได้
อยากได้ 2 เท่า 4 เท่าก็เอามาต่อกันได้เลย
และล่าสุด Highview Power บริษัทที่พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้านอากาศเหลวนี้ก็ได้รับเงินสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระบบกักเก็บพลังงานด้วยอากาศเหลวจำนวน 10 ล้านปอนด์จากรัฐบาลอังกฤษ
โดยก่อนหน้านี้ Highview Power ก็ได้รับเงินสนับสนุนโครงการจาก Sumitomo Heavy Industries เป็นจำนวน 35 ล้านปอนด์ในการดำเนินโปรเจค CRYOBattery™ ร่วมกับ Carlton Power ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศอังกฤษ
1
โดยโครงการนี้ตั้งเป้าในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 50 เมกกะวัตต์และสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 250,000 หน่วย ตั้งอยู่ในพื้นที่ Trafford Energy Park ใกล้กับเมือง Manchester
1
โครงการตั้งเป้าการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและดำเนินงานภายในปี 2022 ก่อนจะมีแผนขยายกำลังการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้ได้ถึง 2 ล้านหน่วยด้วยกำลังการผลิตขนาด 200 เมกกะวัตต์ (200 MW/2 GWh) ในภายหลัง
1
ซึ่งเพียงพอสำหรับพื้นที่ระแวกเมืองแมนเซสเตอร์ได้ใช้งานเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว
โดย Highview ประเมินว่าด้วยสเกลใหญ่ขนาดนี้จะทำให้ต้นทุนของระบบเหลือเพียง 4.4 บาทต่อหน่วย สำหรับระบบขนาด 200 MW/2 GWh ซึ่งสามารถแข่งขันกับระบบแบตเตอรี่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน
1
ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของระบบกักเก็บพลังงานที่น่าจะมาใช้งานร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนผ่านจากโลกยุคเก่าที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิสมาสูโลกอนาคตที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ได้ 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา