27 มิ.ย. 2020 เวลา 04:02 • สุขภาพ
#โรคสูญเสียความสามารถในการมีความสุข
1
( เรื่องต่อไปนี้ มีเค้าโครงจากเรื่องจริง แต่ใช้นามสมมติและมีการดัดแปลงเนื้อหาเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยค่ะ )
วันนี้คุณว่านมาพบหมอตามนัด
ที่ต่างไปจากทุกครั้งคือ แทนที่จะใส่เสื้อเชิ้ตทำงานสีเรียบ วันนี้เขามาใส่เสื้อบอลสีแดงที่ปัก "L.F.C."
หมอไม่ใช่แฟนบอล แต่ได้ข่าวจากโพสต์ของเพื่อน ๆ ว่า Liverpool ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกปีนี้
พอเห็นจึงยิ้มทักคนไข้ว่า "ไม่ใส่วันนี้จะใส่วันไหนใช่ไหมคะ"
"ใช่หมอ มันต้องวันนี้แหละครับ !"
"ถ้าเกิดยังไม่ได้รักษาโรคซึมเศร้าจนหาย คิดว่าจะดีใจมั้ยคะที่ลิเวอร์พูลได้แชมป์?
"คงไม่อะครับ อาจจะดีใจนิดหน่อย แต่คงไม่รู้สึกอะไรมาก"
"ดีไม่ดีคุณอาจจะตกข่าวด้วยซ้ำ คุณว่านเคยบอกหมอว่า เลิกดูบอลไปตั้ง 4-5ปี ทั้งที่เคยชอบมาก ๆ"
"ใช่หมอ ตอนนั้น(ที่มีอาการแล้วแต่ยังไม่ได้รักษา)ไม่ดูเลย จำได้ว่าครั้งแรกที่มาหาหมอ
หมอถามว่ากลับบ้านแล้วทำอะไร? ผมตอบว่าก็นั่งเฉยๆ แล้วงานอดิเรกล่ะ ชอบทำอะไร? ผมตอบว่าไม่มี
ตอนนั้นพอกลับไปบ้าน ผมก็คิดนะ ว่าทำไมมันดูเป็นคำตอบโง่ ๆ ยังไงก็ไม่รู้ แต่ตอนนั้นผมก็นั่งเฉย ๆ อยู่อย่างงั้น ไม่ทำอะไรจริง ๆ"
. . . . . . . . . . .
คุณว่านมาพบหมอครั้งแรกด้วยอาการนอนหลับไม่สนิทค่ะ
แต่เมื่อถามประวัติเพิ่มเติม หมอก็พบว่า เขายังมีอาการด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเข้าได้กับ "โรคซึมเศร้า"
คุณว่านเองออกจะแปลกใจ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเอง "เศร้า" อย่างชื่อโรคที่พาให้หลายคนเข้าใจผิด
ว่าโรคนี้จะต้องทำให้เศร้า ทำให้ร้องไห้ง่าย "เสมอ"
ในความเป็นจริง อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ที่กำลังมีโรคซึมเศร้า เป็นได้หลายแบบ ได้แก่
🔵 หงุดหงิดง่าย ปรี๊ดแตกง่ายขึ้น (จุดเดือดต่ำ) ซึ่งพบได้บ่อย เพราะใจขุ่นมัว ไม่มีความสุข sensitive น้อยใจง่ายเหวี่ยงวีนเหมือนผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน (แต่เป็นแทบทุกวัน)
... ตรงนี้ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เพราะเกรงว่าตัวเองจะไปวีนใส่เพื่อนใส่ฝูง รู้ตัวว่าตัวเองอาจจะคุมอารมณ์ไม่ได้ และอาจทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
2
🔵 เบื่อหน่าย เบื่อไปหมดแทบทุกอย่าง
เบื่อจะพูด เบื่อจะออกจากบ้าน เบื่อจะทำงาน เบื่อจะกินอาหาร
เบื่อจนไม่คิดจะกระดิกตัวหาอะไรทำแก้เบื่อ
เบื่อแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองเคยโปรดปราน (ตรงนี้มีศัพท์เรียกว่า anhedonia)
หนักเข้าคือลืมไปว่าตัวเองเคยชอบทำอะไร
หากจะบอกว่า เบื่อโลก ก็คงไม่ผิด
🔵 ซึมกะทือ ซังกะตาย ไม่ยินดียินร้าย ไม่รู้สึกรู้สาอะไร
เรื่องน่าดีใจก็ไม่รู้สึกดีใจ (แต่ฝืนยิ้มไปเพราะรู้ว่าควรดีใจ) เรื่องเลวร้ายก็ไม่รู้สึกอะไรเหมือนกัน ทำอะไรก็สนุกไม่สุด
คือ เฉย ๆ ไปหมดทุกอย่าง ... คนไข้บางคนมาพบหมอเพราะคิดว่า คนปกติไม่น่าจะไม่รู้สึกอะไรเลยแบบนี้
🔵 รู้สึกว่างเปล่า ... ประโยคคลาสสิคคือ ทุกวันก็เหมือน ๆ กัน ตื่นมาก็ทำงาน ทำงานเสร็จก็กลับบ้านนอน เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ชีวิตต้องเป็นแบบนี้เหรอ
(ทั้ง ๆ ที่ชีวิตคนทั่วไปก็เป็นแบบนี้)
🔵 รู้สึกไม่มีความสุข แต่ก็บอกไม่ได้ว่าทุกข์เรื่องอะไร และสงสัยว่าทำไมคนอื่นเขามีความสุขจัง เขาทำยังไง
(ทั้งที่ความสุขเป็นเรื่องธรรมชาติ) พยายามทุกวิธี ไปทุกที่แล้ว แต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้นมาเท่าไหร่เลย
🔵 เหนื่อย เหนื่อยง่ายทั้งกายและใจ ลืมตาตื่นมายังไม่ทันทำอะไรก็เหนื่อยแล้ว
หรือ เหนื่อยกับการต้องแสร้งทำเป็นว่าสบายดีตลอดเวลาที่อยู่กับคนอื่น
🔵 อื่น ๆ ที่คุ้นหูกัน เช่น ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เศร้า จิตตกโดยไม่มีสาเหตุบ่อยๆ ร้องไห้ง่ายผิดปกติ
1
. . . . . . . . . . .
หากหมอมีอำนาจสามารถจะเปลี่ยนชื่อ โรคซึมเศร้า เป็นอย่างอื่นได้
หมออยากเรียกมันว่า #โรคสูญเสียความสามารถในการมีความสุข ค่ะ อาจจะยาวไปหน่อย แต่หมอคิดว่าตรงทีสุด
1
เพราะไม่ว่า คนไข้จะหงุดหงิด เบื่อ เศร้า ท้อ ห่อเหี่ยว หรือ ซังกะตาย
แต่สิ่งที่เหมือน ๆ กัน คือ การไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกเป็นสุขได้
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยค่ะ ที่เพื่อนของเรา หรือคนที่เรารู้จัก อาจจะไม่เคย 'ดูเศร้า'​ เลย
แม้ว่าเขาจะพบจิตแพทย์และทานยาเพื่อรักษา โรคซึมเศร้า อยู่
ว่าแต่คุณล่ะคะ ยังเพลิดเพลินกับสิ่งที่คุณ(เคย)โปรดปรานอยู่หรือเปล่า?
#หมอมีฟ้า
ที่มา:สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
โฆษณา