27 มิ.ย. 2020 เวลา 07:00
หลุมดำแห่งหัวใจ
: The Theory of Everything
"The Theory of Everything" หรือ
"ทฤษฎีรักนิรันดร" หนังที่เข้าฉายในปี
ค.ศ.2014 ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิง
ออสการ์ถึง 5 สาขา และส่งให้
นักแสดงนำชาย Eddie Redmayne
ซึ่งแสดงเป็น "Stephen Hawking"
นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อดัง ได้รับรางวัล
ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง
หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นโดยดัดแปลงจาก
เรื่องจริง ในหนังสือ "Travelling to Infinity
: My Life with Stephen" ซึ่งเขียนโดย
Jane Hawking ภรรยาคนแรกของ Stephen
1
หากอยากดูหนังรักโรแมนติก หนังเรื่องนี้
ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะชีวิตรักของ
Stephen กับ Jane ทั้งในหนัง หนังสือ
และในชีวิตจริงไม่ได้ลงเอยด้วยการครองคู่
อย่างตลอดรอดฝั่ง ส่วนตัวผู้เขียนเมื่อดูจบ
มีความรู้สึกเศร้าค้างเจือในอารมณ์อยู่นาน
แต่หากต้องการกำลังใจดีๆในการมีชีวิต
นี่อาจเป็นหนังอีกเรื่องที่เมื่อดูจบ และได้
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขาแล้ว
เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสามารถสร้างกำลังใจดีๆ
นั้นให้แก่เราได้
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง
ความเป็นอัจฉริยะ และข้อจำกัดทาง
ร่างกายของเขาไม่ต่างจากในหนัง
Stephen Hawking คือนักฟิสิกส์ทฤษฎี
และนักจักรวาลวิทยาชื่อดังระดับโลก
ที่ค้นพบทฤษฎีของรังสีที่แผ่ออกมาจาก
หลุมดำ ซึ่งรังสีนี้ มีชื่อว่า รังสี Hawking
ตามชื่อสกุลของเขา ทั้งยังค้นพบว่า
มวลของหลุมดำน้อยลงได้และหายไป
ได้ในที่สุด
ทฤษฎีนี้ลบล้างความเชื่อเดิมๆที่ว่า
หลุมดำดูดกลืนทุกอย่าง ไม่มีอะไร
สามารถเล็ดลอดออกจากหลุมดำได้
รวมทั้งหลุมดำคงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ไปเสีย
และเขายังเป็นคนแรกที่สร้างทฤษฎี
จักรวาลวิทยาขึ้นมา โดยการรวม
"ทฤษฎีสัมพัทธภาพ" เข้ากับ"ทฤษฎี
กลศาสตร์ควอนตัม" และอาจนำมาซึ่ง
การอธิบายจุดเริ่มต้นของจักรวาลและ
ของทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ "ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง" (Theory of Everything) ได้ในที่สุด
ความอัจฉริยะของเขาเริ่มฉายแวว
ตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยการสอบชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัย Oxford และจบการศึกษา
ด้วยผลการเรียนปริญญาตรีเกียรตินิยม
อันดับหนึ่งด้านฟิสิกส์ จากนั้นเมื่ออายุ 20 ปี
เขาก็เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่
มหาวิทยาลัย Cambridge
แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ขณะอายุ 21 ปี
เขาต้องเผชิญกับอาการป่วยด้วยโรค
กล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์วินิจฉัยว่า
เขาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2 ปี หลังจากนั้น
ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยด้วยโรคนี้
เพราะการกลืนอาหารและการหายใจ
จะเป็นไปได้อย่างลำบากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ Stephen ถึงกับซึมเศร้าและรู้สึก
หมดอาลัยกับชีวิต แต่ไม่นานเขาก็ยอมรับ
กับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยตั้งใจใช้ศักยภาพ
ที่มีในเวลาที่เหลืออยู่เพื่อสร้างประโยชน์
ให้แก่โลกต่อไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Photo Cr. for Santi Visalli/Getty Images
ตลอดมาอาการป่วยของเขาไม่ดีขึ้นเลย
เขาเริ่มเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
และอาการหนักขึ้น จนครั้งหนึ่งแพทย์ต้อง
ผ่าตัดลำคอเพื่อช่วยให้เขายังมีชีวิตอยู่
ต่อไป ทำให้หลังจากนั้นเขาพูดไม่ได้อีก
แต่ข้อจำกัดทางร่างกายเหล่านั้น ไม่ได้
หยุดยั้งความอัจฉริยะ และกำลังใจ
ในการมีชีวิต รวมถึงการค้นคว้าหา
คำตอบของจักรวาลวิทยา เพื่อเผยแพร่
ความรู้อันยิ่งใหญ่นั้นให้แก่สาธารณชน
แม้เกือบตลอดเวลาที่ต้องนั่งบน
รถเข็นไฟฟ้า สุดท้ายขยับได้เพียง
นิ้วมือและ"กล้ามเนื้อแก้ม"บนหน้า
เพื่อพิมพ์แป้นผลิตเสียงสังเคราะห์
ส่งเสียงพูดผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
แต่เขาใช้ชีวิตข้ามขีดจำกัดของโรค
ที่สร้างความบกพร่องทางร่างกาย
และมีชีวิตอยู่ต่อมาเป็นระยะเวลากว่า 56 ปี
Photo Cr. for Frederick M. Brown/Getty Images
เขาตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์
มานับไม่ถ้วน พิมพ์หนังสือออกมา
หลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือขายดี
อย่าง "A Brief History of Time"
หรือ "ประวัติย่อของกาลเวลา"
(ค.ศ.1988) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีการ
ตีพิมพ์หลายล้านฉบับ และถูกแปล
ไปกว่า 40 ภาษาทั่วโลก รวมถึง
หนังสือ "The Universe in a Nutshell"
หรือ "จักรวาลในเปลือกนัท"(ค.ศ.2001)
ซึ่งเป็นหนังสือขายดีระดับโลกเช่นกัน
เขาเรียนจนจบปริญญาเอก และ
เป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้ให้แก่
นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย
ทั้งยังได้รับตำแหน่ง Lucasian Professor
of Mathematics จากมหาวิทยาลัย
Cambridge ซึ่งเป็นตำแหน่งอาจารย์
ที่มีชื่อเสียงที่สุดตำแหน่งหนึ่งในโลก
ที่"เซอร์ไอแซค นิวตัน" นักวิทยาศาสตร์
ผู้ค้นพบกฏแรงโน้มถ่วงเคยได้รับ
เขายังขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีอารมณ์ขัน และ
ถูกเชิญไปเป็นตัวการ์ตูนในหนังการ์ตูน
อย่าง The Simpsons หรือปรากฏตัว
ในฉากของซีรีย์ตลกอย่าง The Big Bang Theory หรือหนังอย่าง Star Trek:
The Next Generation มาแล้ว
Stephen ยังชื่นชอบในเรื่องของ
การท่องอวกาศ และเคยเข้าร่วมสัมผัส
สภาวะไร้น้ำหนักในเที่ยวบิน Zero-Gravity
บนโบอิ้ง 727 ของ Zero Gravity Corporation
ที่บินจาก Kennedy Space Center
รัฐ Florida สหรัฐอเมริกา ในวัย 65 ปี
ด้วยรอยยิ้มขณะทดลองพร้อมการกลับตัว
ถึง 2 รอบ อีกด้วย
ในวันนี้ Stephen เสียชีวิตไปแล้ว
โดยการจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่
14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาด้วย
วัย 76 ปี แต่สิ่งต่างๆที่เขาทิ้งเอาไว้
ให้แก่มวลมนุษยชาติ ทั้งข้อมูลทฤษฎี
แห่งจักรวาล ทั้งเรื่องราวการมีกำลังใจ
ในการมีชีวิตอยู่อย่างน่าทึ่งนี้ จะยังคง
อยู่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจ
ให้แก่ผู้คนมากมายอย่างไม่มีวันจบสิ้น
▪️เมื่อเราได้อ่านเรื่องราวของเขาคนนี้แล้ว
▪️วันนี้เรายังอาจล้มลุกคลุกคลาน
และทุกข์ในใจของเรา แม้มีเพียงใด
ใครคนอื่นอาจไม่เข้าใจว่าทำไม
เราต้องเป็นทุกข์ ทั้งที่คนอื่นอาจไม่เห็น
ว่าเป็นเรื่องที่น่าทุกข์
▪️ไม่เป็นไรหรอก เพราะไม่มีใคร
เข้าใจความทุกข์นั้นได้ดีไปกว่าตัวเรา
แต่ขอแค่เราอย่าทำทุกข์นั้นให้ขยายใหญ่
เกินกว่าตัวมันเองก็พอ
▪️ทุกข์มีอยู่ให้เรา "รู้" ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
แต่ทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้เราจมอยู่กับมันอย่าง
ไม่มีวันหาย
▪️เมื่อใดทุกข์คลายแล้ว ลองเปิดใจรับ
ความสุขแม้เพียงเล็กน้อยรอบตัวที่มีบ้าง
▪️เพราะในวันนี้เรายังมีเรี่ยวแรงมากพอ
ที่จะเดินได้ วิ่งได้ ทำทุกอย่างเองได้
ด้วยตัวเอง เรายังมีแขนขา มีอวัยวะที่
ใช้งานได้ครบบริบูรณ์ ยังมองเห็น
ยังพูดได้ หัวเราะได้ ร้องไห้เป็น
▪️และแม้เรามีใจที่กำลังท้อแท้ ราวกับสิ่งดีๆ
ต่างๆกำลังถูกดูดกลืนเข้าสู่"หลุมดำแห่งหัวใจ"
▪️แต่เชื่อเถอะว่า ใจดวงนี้ก็ยังสามารถกลับมา
แข็งแรงได้ ไม่ต่างจากรังสีแห่งความสุขเล็กๆ
ที่กำลังพยายามก่อตัว และขอแค่รอเวลาที่มัน
จะเล็ดลอดออกมาจากหลุมดำนั้น แล้วสร้าง
ความเข้มแข็งให้ใจเราอีกครั้งเท่านั้น
ขอให้เรื่องราวของ Stephen Hawking
ในบทความนี้ เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ
และกำลังใจให้แก่ผู้มีโอกาสได้อ่าน
และขออุทิศความดีงามทั้งหลายที่จะ
บังเกิดขึ้นได้จากการอ่านบทความนี้
ให้แก่การสร้างคุณประโยชน์และ
การจากไปของเขาคนนี้ด้วยนะคะ
~อยากให้เธอได้ยิน~
แหล่งภาพและข้อมูลอ้างอิง:
โฆษณา