27 มิ.ย. 2020 เวลา 13:25 • การเมือง
รัสเซียแก้ไขรัฐธรรมนูญ (1)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
อาจารย์ที่ปรึกษาชาวรัสเซียคนแรกของผมคือ นักกฏหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง ศาสตราจารย์ กรีกอรี อีวาโนวิช ตุนกิน อิทธิพลแห่งแนวความคิดของท่านแผ่เข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐรัสเซียฉบับแรก คือฉบับพุทธศักราช 2536
รัสเซียใน พ.ศ.2536 เป็นประเทศเกิดใหม่จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียอยากได้การยอมรับจากนานาประเทศ จึงยอมให้กฏหมายระหว่างประเทศมีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2536
ปีที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหพันธรัฐรัสเซียประกาศใช้ ศาสตราจารย์ตุนกินก็เสียชีวิตด้วยวัย 87 ปี (เกิด พ.ศ.2449) ผมเองจึงพลอยลอยเท้งเต้งและต้องเปลี่ยนจากการเรียนกฏหมายระหว่างประเทศมาเรียนประวัติศาสตร์
รัฐธรรมนูณฉบับแรกถูกใช้มานาน 27 ปี (พ.ศ.2536-2563) หลังจากที่วลาดิมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี (2542-2563) รัสเซียก็มีสถานะมั่นคงขึ้น หลายมาตราในรัฐธรรมนูญจึงน่าจะต้องได้รับการแก้ไขให้ทันสมัย
การมีรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารเฉพาะสถานการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเท่านั้น ในสถานการณ์ปกติ คนรัสเซียจึงทำกันเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
https://timesfamous.com/worldnews/referendum-constitutionnel-en-russie-et-si-vladimir-poutine-restait-president-jusquen-2036/
ตั้งแต่ที่รัสเซียพ้นจากสภาวะวุ่นวายขายปลาช่อนเมื่อ พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ประชาชนพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันบ่อยขึ้น หลายคนบ่นว่า รัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ล้าสมัย บ้านเมืองเราเจริญและมั่นคงจนถึงขนาดนี้แล้ว เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันเสียที
ผมอ่านจากสื่อตะวันตก พวกนี้บอกว่า ปูตินสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะปูตินต้องการเป็นประธานาธิบดีอีก 2 วาระ (12 ปี) สำหรับผม ผมมองว่าจำเป็นในระดับหนึ่ง เพราะมองไปในแผ่นดินรัสเซีย ยังหาคนมาเป็นผู้นำแทนปูตินไม่ได้ ขืนให้ไอ้ปื๊ดเป็น รัสเซียแตกเละเทะตุ้มเปะและจะกลับไปสู่สภาวะวุ่นวายขายปลาช่อนเหมือนอดีต (พ.ศ.2535-2542)
เมื่อกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแรงขึ้น ปูตินก็โผล่หน้าแหลมทางโทรทัศน์บอกว่า อ้า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากทั้งรัฐบาลและประชาชน
https://www.insider.com/vote-to-extend-putins-rule-faces-little-protest-in-russia-2020-6
ข้าพเจ้าจึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายอาชีพ ขอให้มีทั้งนักประวัติศาสตร์ นักเขียน นักประพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ นักกฏหมาย นักรัฐศาสตร์ ฯลฯ
ปูตินขอให้ประชาชนคนทั้งประเทศส่ง ‘อะไรที่คุณอยากจะแก้ไข’ มาที่คณะกรรมาธิการคณะนี้ มีการเปิด hotline หลายหมายเลขให้คนโทรเข้ามา มีทั้งอินเตอร์เน็ต ไปรษณีย์ มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนคนทุกตรอกซอกมุมของประเทศ
ประชาชนส่งข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาหลายพันเรื่อง มีซ้ำๆ กันบานเบอะเยอะแยะ คณะกรรมาธิการก็คัดกรองจนเหลือ 700 ข้อเสนอ
จากนั้นก็ช่วยกันคัดจาก 700 ข้อเสนอให้เหลือเพียง 100 ข้อเสนอ และเอาทั้ง 100 ข้อเสนอนี้ไปให้นักกฏหมายกรองเพื่อดูความเหมาะสม จากนั้นก็ช่วยกันตัดออก (โดยอธิบายขยายความกับประชาชนว่าทำไมถึงตัด) จนเหลือเพียง 41 ข้อเสนอ
นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญรัสเซียจะมีการแก้ไขทั้งหมด 41 ข้อเสนอ จากนั้นก็ส่งให้สภาดูมา (สภาผู้แทนราษฎร) และสภาสูง (Federation Council) ลงมติ ปรากฏว่าสมาชิกออกเสียงสนับสนุน 382 คน งดออกเสียง 34 คน ไม่มีสมาชิกคนไหนค้าน
พ้นจากสภาแล้ว ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาพิมพ์เป็นเล่มเพื่อให้ประชาชนอ่านอย่างละเอียด อ่านแล้วก็กำหนดให้ประชาชนลงคะแนนกันในเดือนเมษายน 2563
แต่เมษายน 2563 เป็นเดือนที่รัสเซียมีวิกฤติโควิด-19 รุนแรง จึงเลื่อนมาลงในวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563
https://www.themoscowtimes.com/2020/06/25/explainer-what-are-russians-voting-for-in-putins-constitution-poll-a70692
สื่อตะวันตกรายงานเฉพาะมาตราที่กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครประธานาธิบดี ซึ่งมาตราที่แก้ไขยอมให้ประธานาธิบดีก่อนหน้าการแก้ไข มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่นับจำนวนครั้งที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต (หมายถึงปูติน)
คนที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมูญมาตรานี้คือบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลเพื่อนของประเทศไทย (Friend of Thailand) คนแรกที่มีชื่อว่า ส.ส.วาเลนตีนา วลาดีมีรอฟนา เตเรสโควา ซึ่งเธอเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกด้วย
อ้า พรุ่งนี้ ขอกลับมารับใช้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี่กันต่อครับ.
โฆษณา