Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ReReef
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2020 เวลา 05:19 • ความคิดเห็น
ผู้สนับสนุนหลักในการสร้างขยะทะเล
เดินชายหาดเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่หาดทราย สายลม สองเราเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่เรายังได้พบกับขยะสารพัดแบบที่ถูกพัดขึ้นมาเกยตื้น ขยะจำนวนมากแสดงตัวตนอย่างชัดเจน เมื่อวานได้ไปสำรวจชายหาดบ้านบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบทั้งขยะอันตรายอย่างยาฉีดกำจัดแมลงสาบไบกอน ขวดชาเขียวโออิชิ ขวดยาคูลท์ กาแฟเนสเล่กระป๋อง เบียร์ลีโอ ขนมก็อบแก๊บสารพัดยี่ห้อ กล่องนมแลคตาซอย ไวตามิลค์ ขวดน้ำส้มแฟนต้า และอีกหลายๆยี่ห้อ
ในระดับโลก บริษัทโคลาโคลา หรือผู้ผลิตน้ำอัดลมโค้ก ครองตำแหน่งแชมป์โลก จากการเก็บขยะชายหาดใน 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนประเทศไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ครองแชมป์จากการสำรวจของกรีนพีซ
แน่นอนว่าไม่มีบริษัทไหนอยากได้ชื่อว่าเป็นตัวการสร้างขยะออกสู่สิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งหลายคนโทษว่าก็เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค และระบบจัดการขยะของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพเอง จะโทษบริษัทได้อย่างไร
แต่ความจริงก็คือ บริษัทต่างๆคือต้นทางหลักในการนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ บริษัทยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งใช้มาก จึงไม่แปลกที่บริษัทขนาดใหญ่ย่อมมีโอกาสตกเป็นจำเลยได้ไม่ยาก
ความรับผิดชอบของบริษัทจึงจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นสอดคล้องตามขนาดของบริษัท เหมือนที่ SpiderMan ว่าไว้ 😄😄
“With great power comes great responsibility"
"พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง"
หลักฐานขยะจำนวนมากตามชายหาดน่าจะช่วยให้บริษัทต่างๆ พยายามปรับปรุงตัวเอง ตามหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility -EPR) แทนที่จะโยนภาระมาให้อยู่ที่จิตสำนึกในกลุ่มผู้บริโภคอย่างเดียว
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิตเลิกแจกพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งฟรีๆ ไม่ว่าจะถุงพลาสติก หลอด ช้อนส้อม ซองเครื่องปรุง โฟม แล้วหันไปใช้วัสดุทางเลือก หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคหันมาพกพาอุปกรณ์ส่วนตัว จะช่วยลดขยะที่ไม่จำเป็นไปได้มากขนาดไหน
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิตมีการคิดค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเราต้องจ่ายค่ามัดจำขวดแก้ว ทำให้เราต้องนำขวดไปคืนที่ร้านทุกครั้งเพื่อจะได้ค่ามัดจำคืน พลาสติกจำนวนมากจะถูกนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลแทนที่จะกลายเป็นขยะที่บ่อฝังกลบหรือหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง ออกสู่ทะเลและมหาสมุทร
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิต เลือกปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (reuse) และส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าแบบเติม (refill) เลือกวัสดุที่สามารถนำกลับมาแปรรูป (recycle) ได้ 100% จะช่วยลดการสร้างขยะได้ขนาดไหน
ถึงเวลาแล้วที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหามลภาวะและพลาสติกทั้งมวล ต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับพลาสติกเช่นกัน เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ชั่วคราว #ใช้แล้วทิ้ง มาเป็นความสัมพันธ์จริงจัง #ใช้อย่างรู้คุณค่า เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลของโลกที่วิกฤติมากขึ้นทุกวันๆ
บันทึก
18
2
2
18
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย