29 มิ.ย. 2020 เวลา 06:52
"ฉันเก่ง" จนไม่ให้เกียรติคนอื่น
ต้องออกตัวก่อนว่า บทความนี้ไม่ขออ้างอิงจากทฤษฎีใด ๆ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบประสบเจอกับตัวเอง และจากการสังเกต และรับฟังการปรับทุกข์จากเพื่อน ๆ เท่านั้น
"การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน" ซึ่งเห็นความแตกต่างชัดเจนจากนิสัยการทำงานส่วนใหญ่ของคนไทย และ คนญี่ปุ่น
ผมสังเกตเห็นว่าพนักงานคนไทยส่วนใหญ่ แรกเข้าทำงานจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตัว น่ารักน่าเอ็นดู พร้อมเรียนรู้งานทุกอย่าง แต่พอผ่านระยะ 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้นแหละเริ่มจะ “ออกลาย” หรือเอานิสัยส่วนตัวอื่น ๆ เข้ามาในที่ทำงานมากขึ้น จนถึงขั้นปิดกั้นความคิดเห็นอื่น ๆ จากรอบข้างก็มี โดยใช้การเมืองในองค์กร
อาจเป็นเพราะเมื่อทำงานไปสักพัก สักระยะ แล้วเริ่มคะนองหรือคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญของบริษัท มีความสามารถที่บริษัทจะขาดไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย บริษัทที่มีระบบดีแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แม้ว่าพนักงานคนนั้นจากออกไป
ส่วนคนญี่ปุ่นที่ผมสังเกตตั้งแต่ทำงานด้วยกันมาเขาให้เกียรติพนักงานทุกระดับ ทุกคน และเป็นเช่นนี้สม่ำเสมอตั้งแต่วันแรก ด้วยเคารพในความเป็นมนุษย์ค่อนข้างสูง และการอ่อนน้อมถ่อมตน
ความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคมหรือหลักการเป็นบริษัทที่ดี หลายบริษัทยึดเป็นหลักในการบริหาร คือ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า สังคม และผู้ถือหุ้น
ในส่วนของพนักงาน วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มจากการให้เกียรติซึ่งกันและกันแล้ว การแสดงความคิดเห็นหรือการถกเถียงในเชิงสร้างสรรค์ก็จะมีมากขึ้น
อย่าคิดว่า "ฉันเก่ง" จนไม่ให้เกียรติคนอื่น
โฆษณา