23 ก.ค. 2020 เวลา 00:30
สองอาหลานผู้มีลายเซ็นบนธนบัตรไทย
ธนบัตรไทยนั้น จะมีลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยปรากฏอยู่คู่กัน แต่รู้หรือไม่ว่า
มีตระกูลหนึ่งที่คนในตระกูลถึงสองคนได้ลงลายมือชื่อในฐานะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไว้บนธนบัตรที่คนไทยใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย
โดยทั้งสองคนมีศักดิ์เป็น 'อา-หลาน' จากตระกูลคหบดีจีน
'ฮุนตระกูล'
คนแรกคือ ผู้เป็นอา พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)
คนต่อมาคือผู้เป็นหลาน นายสมหมาย ฮุนตระกูล
ทั้งสองนี้มาจากตระกูลพ่อค้าชาวจีนแซ่อวิ๋น (云) แซ่เก่าแก่ที่ย้อนไปได้ถึงสมัยหวงตี้ในยุคบุรพกาล ในสมัยราชวงศ์ชิง มีชาวมองโกลนำแซ่อวิ๋นไปใช้เป็นแซ่ คนจีนเชื้อสายมองโกลต่อมาจนทุกวันนี้จึงใช้แซ่อวิ๋นกันเป็นจำนวนมาก
มีเรื่องเล่ากันขำขันว่า คราวหนึ่งมีคนจีนไปที่สำนักงานของรัฐในมองโกเลีย
แล้วตะโกนเรียกหาเพื่อนว่า “เหล่าอวิ๋น” คนเกือบทั้งตึกต้องชะโงกหน้า หันมามอง
แซ่อวิ๋น หรือ ฮุ้น (สำเนียงแต้จิ๋ว) ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดเห็นจะเป็น ฮุ้นปวยเอี้ยงใน
ละครโทรทัศน์เรื่อง 'กระบี่ไร้เทียมทาน'
'ฮุ้น' แปลว่า เมฆ ดังนั้น คนจีนแซ่ฮุ้นในไทย เมื่อเปลี่ยนไปใช้นามสกุล มักจะมีคำว่า เมฆ เมฆา เมฆินทร์ ฟ้า ฯลฯ ประกอบอยู่ในนามสกุลด้วยเสมอ (เช่น เมฆกระจ่าง)
แต่สำหรับ 'ฮุนตระกูล' นั้น เป็นนามสกุลพระราชทานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
ต้นสกุลฮุนตระกูลคือ ฮุนอุ่นตุ้ย จีนไหหลำที่อพยพมาสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
นายอุ่นตุ้ยเข้ามาเมืองไทยประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าทำขนมปังขาย ต่อมาได้แต่งงานกับนางคำ ลูกสาวคนโตของเจ็กปิน จันตระกูล เจ้าของตลาดน้อย ชุมชนคนจีนเก่า
แก่ในเขตสัมพันธวงศ์
นายอุ่นตุ้ยเมื่อแต่งงานแล้ว ก็มีลูกชาย ลูกสาวรวมทั้งสิ้น 10 คน โดยมี
นายโกศล ฮุนตระกูล หรือ ฮุนกิมฮวด เป็นลูกชายคนโต และ ฮุนเทียนเลี้ยง
หรือต่อมาเป็นพระยาศรีวิสารวาจาเป็นลูกชายคนที่เจ็ด
นายโกศล ฮุนตระกูล (ฮุนกิมฮวด) ลูกชายคนโตของบ้านฮุนตระกูลถือเป็นอภิชาตบุตร เพราะสืบทอดและขยายกิจการของที่บ้าน จนมามีห้างขายยาฮุนซุยโหที่สี่
พระยา ขายหัวน้ำเชื้อน้ำหวาน น้ำมะเน็ด นอกจากห้างขายยา เขายังร่วมหุ้นกับกลุ่มพ่อค้าไหหลำทำธนาคารบางกอกซิตี้แบงก์ ซึ่งแม้ภายหลังธนาคารจะขาดทุนจนปิด
กิจการ แต่นายโกศลก็ยังมีหน้ามีตาได้รับการยกย่องในหมู่พ่อค้าชาวจีน พิสูจน์ได้
จากเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เมื่อ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเยือนสำเพ็ง
ก็มีนายโกศล ฮุนตระกูลนี่เอง เป็นตัวแทนพ่อค้าจีนผู้รับเสด็จฯ
นายโกศล ฮุนตระกูลท่านนี้เอง ที่เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของนายสมหมาย ฮุนตระกูล
และเป็นพี่ชายของ นายเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล หรือ พระยาศรีวิสารวาจา
นายเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูลนั้น ได้ไปศึกษาต่อจนจบจากอ๊อกซฟอร์ด
แล้วกลับมารับราชการ เริ่มจากเป็นปลัดทูลฉลอง จนได้เป็นพระยาศรีวิสารวาจา
ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาล
นายควง อภัยวงศ์ ทำให้พระยาศรีวิสาร เป็น 'ฮุนตระกูล' คนแรกที่มีลายเซ็นบน
ธนบัตร
ส่วนผู้เป็นหลาน คือ นายสมหมาย ฮุนตระกูล ลูกชายคนที่ 6 ของนายโกศลนั้น ก็ได้รับการส่งเสียให้ไปเรียนต่างประเทศ แต่ในขณะนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เขาจึงไม่ได้ไป
เรียนอังกฤษแบบพวกอาๆ แต่ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ญี่ปุ่นแทน และก็ได้เป็น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2523 - 2529
(รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์)
นายสมหมายจึงกลายเป็นคนที่สองของฮุนตระกูลที่มีลายเซ็นฝากไว้บนธนบัตรไทย
แต่จะว่าไปแล้ว ถ้านับภาพลายเส้น 'รัชกาลที่ 8 เสด็จฯ เยือนสำเพ็ง' ที่อยู่บนธนบัตรมูลค่า 20 บาท ซึ่งปรากฏภาพชายมุมขวาสุดที่รับเสด็จฯ นั่นคือ
นายโกศล ฮุนตระกูลนั่นเอง ดังนั้นจะนับว่ามี 'ฮุนตระกูล'
ปรากฏอยู่บนธนบัตรถึงสามคนก็ยังได้
ถือเป็นเรื่องน่าทึ่ง ที่ตระกูลพ่อค้าจีนเชื้อสายไหหลำตระกูลหนึ่งจะมีเกียรติยศใน
ประวัติศาสตร์ไทยได้ถึงเพียงนี้
โฆษณา