29 มิ.ย. 2020 เวลา 11:15 • การเมือง
คุยกับปราชญ์การเมือง
ตอนที่ 9
ท่าน (ปราชญ์การเมือง)ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้แต่ต้องมีวิธี และวิธีนั้นย่อมประกอบด้วยมาตรการมากมาย มาตรการแรกคือ การยึดถือ "คำคมของอาจารย์ปรีดี" ซึ่งเปรียบเสมือน "กุญแจไขไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศ"
คำคมประโยคแรกของอาจารย์ปรีดี คือ
"เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์" หมายความว่า การแก้ปัญหาของประเทศนั้น "ต้องมีอำนาจและมีประสบการณ์" ถ้ามีอำนาจแต่ไม่มีประสบการณ์ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้ามีประสบการณ์ โดยไม่มีอำนาจ อย่างประโยคหลังที่ว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ" ก็แก้ปัญหาไม่ได้เหมือนกัน
อาจารย์ปรีดี พนมยงค์
การมีอำนาจ คือการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจารย์ปรีดี เป็นมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2489 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2489 อาจารย์ปรีดี มีอำนาจมาตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เสียอีก และมีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรีเสียด้วย กล่าวคือ เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น อาจารย์ปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ร่วมกับพลโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้นพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ลาออก เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 อาจารย์ปรีดี ก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และจอมพล ป. ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2487 แต่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และไปตั้งป้อมอยู่ที่ลพบุรี และกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ก็กำลังติดตามการเคลื่อนไหวของคนไทย นับเป็นสถานการณ์คับขันและล่อแหลมมาก อาจารย์ปรีดี จึงทาบทามคุณควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไป เพราะเห็นว่าเป็นคนเดียวที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ แล้วเชิญประธานสภาผู้แทนราษฎร คือพระยามานวราชเสวี ไปพบที่ทำเนียบท่าช้าง ปรารภให้ทราบถึงสถานการณ์ และเห็นควรตั้งให้ คุณควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วย จึงรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเห็นได้ว่าอาจารย์ปรีดีมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาเมื่อคุณทวี เป็นนายกรัฐมนตรี แทนคุณควง อภัยวงศ์และหม่อมเสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แทน คุณทวี อาจารย์ปรีดี ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ประกอบกับอิทธิพลและบารมีซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้นำทางทฤษฎีของคณะราษฎร ก็ยังมีอำนาจสูงสุดอยู่ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ได้ดำรงฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ตามประกาศพระบรมราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ในหลวง รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488 อำนาจดังกล่าวนี้ของอาจารย์ปรีดี คงต่อเนื่องต่อมา ทั้งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีและออกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว และหมดอำนาจโดยสิ้นเชิงเมื่อต้องรีบหนีลงเรือจ้างหลังทำเนียบท่าช้าง เมื่อคณะรัฐประหาร เอารถถังไปบุกทำเนียบ เมื่อคืนของ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
หลังจากนั้นอาจารย์ปรีดี จึงมีประสบการณ์
แต่ทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว เพราะไม่มีอำนาจ
ทำไมอาจารย์ปรีดี จึงกล่าวว่าท่านไม่มีประสบการณ์เมื่อมีอำนาจ บุคคลที่คลุกคลีอยู่กับวงการการเมืองถึงขนาดนั้น จะไม่มีประสบการณ์หรืออย่างไร อาจารย์ปรีดี ได้กล่าวในด้านทั่วไป ถ้ากล่าวในด้านรูปธรรม อาจารย์ปรีดี มีประสบการณ์มาก แต่เป็นประสบการณ์ ที่ใช้แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้
1
ขอทำความเข้าใจด้วยว่า ที่คำที่ได้อ้างอิงมานี้ต้องการจะกล่าวถึง อาจารย์ปรีดี มากหน่อย ก็เพราะอาจารย์ปรีดี เป็นผู้นำทางทฤษฎีของคณะราษฎร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคเปลี่ยนแปลง
การปกครอง มีประสบการณ์สำคัญ
อยู่ 4 ประการคือ
1. ประสบการณ์สร้างประชาธิปไตย
2. ประสบการณ์สร้างรัฐธรรมนูญ
3. ประสบการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์
4. ประสบการณ์ต่อสู้คอมมิวนิสต์
สร้างประชาธิปไตย เรียกให้เต็มว่า
สร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือ
แบบประชาธิปไตย ซึ่ง พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า
"สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
สร้างรัฐธรรมนูญ เรียกให้เต็มว่า
สร้างการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งบ้านเราเป็นการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภา และ
สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเรียกว่า การปกครองลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ
ต่อต้านคอมมิวนิสต์ คือ สู้คอมมิวนิสต์ให้แพ้คอมมิวนิสต์
ต่อสู้คอมมิวนิสต์ คือ สู้คอมมิวนิสต์ให้ชนะคอมมิวนิสต์
ประสบการณ์สร้างประชาธิปไตย คือ ประสบการณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสบการณ์สร้างรัฐธรรมนูญ คือ ประสบการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 สืบทอดโดยคณะราษฎรมาจนถึง พรรคการเมืองปกครอง ในปัจจุบัน
ประสบการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ คือ ประสบการณ์สู้คอมนิสที่รับมาจากพระเจ้าซาร์ เจียงไคเช็ค และอเมริกัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ประสบการณ์ต่อสู้คอมมิวนิสต์ คือ ประสบการณ์
สู้คอมมิวนิสต์ที่รับมาจากยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ รวมทั้งประสบการณ์ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเอง
รายละเอียดของประสบการณ์รูปธรรมเหล่านี้
จะได้นำมาให้อ่านในตอนต่อๆไป
ประสบการณ์หลักของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในปัจจุบัน ก็คือประสบการณ์สร้างรัฐธรรมนูญ และประสบการณ์สร้างประชาธิปไตย
การมีประสบการณ์นั้น ไม่ได้หมายความถึงการมีประสบการณ์ด้วยตนเองเท่านั้น แต่หมายถึงการรับประสบการณ์จากผู้อื่นด้วย อาจารย์ปรีดี มีประสบการณ์ของตนเองมาก เพราะดำเนินการสร้างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และย่อมรับประสบการณ์จากผู้อื่นด้วย จึงมีประสบการณ์ สร้างรัฐธรรมนูญอย่างอุดมสมบูรณ์
ตัวของท่านเอง (ปราชญ์การเมือง) มีประสบการณ์สร้างประชาธิปไตย แต่เป็นประสบการณ์ของตนเองน้อยที่สุด ส่วนมากที่สุดรับมาจากประสบการณ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะคือประสบการณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นเมื่อครูประจำชั้น
มัธยมปีที่ 4 ได้เอา พระบรมราชาธิบาย แก้ไข
การปกครองแผ่นดิน ของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาอ่านให้แต่งไทย
ปีนั้นเป็นปีที่ อาจารย์ปรีดี เปิดประชุมคณะราษฎร เป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
แนวโน้มที่จะเป็นจริง ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยเป็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่มติที่ประชุมของคณะราษฎรให้เปลี่ยนแปลง "การปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมาย เป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย" คือ "อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" ก็คือ การเปลี่ยนแปลงให้เป็นการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนั่นเอง "การเปลี่ยนแปลงจากการปกครองระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ให้เป็น "การปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภา" นั่นเอง ซึ่งสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่เข้าใจผิดว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา
ถ้าอาจารย์ปรีดีมีประสบการณ์สร้างประชาธิปไตยท่านก็จะไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ แต่จะเปลี่ยนการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ตามที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงคัดค้าน แนะนำและ
ตักเตือน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย แก้ปัญหาได้ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว
โฆษณา