30 มิ.ย. 2020 เวลา 04:32 • ธุรกิจ
ประเทศไหนในโลก…มีหนี้เยอะที่สุด
วิกฤตแต่ละครั้งจะมาพร้อมหนี้ หรือการมีหนี้ที่มากเกินก็นำมาซึ่งวิกฤต วันนี้ผมเลยขอนำข้อมูลหนี้จากทุกประเทศทั่วโลกมาให้ทุกท่านดูกันว่าแต่ละประเทศเขามีหนี้กันมากหรือน้อยแค่ไหน ประเทศไหนหนี้เยอะที่สุด และประเทศไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
หนี้ทั่วโลก
ก่อนจะไปดูตาราง ผมขออธิบายตัวเลขแต่ละช่องก่อนนะครับ ว่ามันคืออะไรบ้าง
- National Debt = ยอดรวมหนี้ของประเทศนั้นๆ
- GDP+Gross Domestic Product = ยอดรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศนั้นๆ
- Public Debt to GDP = อัตราส่วนหนี้ที่เกิดจากการกู้ของรัฐบาล หรือที่เราคุ้นๆ กันว่า “หนี้สาธารณะ” ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
- External Debt to GDP = อัตราส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ตัวเลขหนี้ประเทศต่างๆ ณ วันที่ 29 มิ.ย. 63
จากตัวเลขในตาราง เราจะเห็นว่าหากนับจากตัวเลขยอดหนี้ ประเทศที่ได้แชมป์หนี้เยอะสุดไปครองคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา โดยมียอดหนี้ประมาณ 26 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 780 ล้านล้านบาท โดยมีรายได้ของประเทศประมาณ 20 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจะเห็นว่าสหรัฐมีรายได้น้อยกว่าหนี้อยู่พอสมควร
ลองนึกภาพตามเหมือนเราหาเงินได้วันละ 20 บ. แต่มีเจ้าหนี้มารอทวง 26 บ. อัตราหนี้มันเลยสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะเรียกได้ว่าสหรัฐเป็นประเทศที่เติบโตด้วยหนี้ก็ว่าได้ครับ
ทีนี้พอหนี้กับรายได้มันไม่สัมพันธ์กัน วิธีแก้ที่เราทราบกันอยู่ ก็คือ พยายามลดหนี้หรือไม่ก็เพิ่มรายได้ แต่การเพิ่มรายได้ของประเทศนั้นมันไม่ง่ายเหมือนเราทำงานพิเศษ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ไปดึงรายได้ของประเทศอื่น ซึ่งจะมาดึงจากประเทศเล็กๆ อย่างไทย ก็อาจไม่เห็นเม็ดเงิน ทางออกจึงไปลงที่ประเทศจีน เพราะมีตัวเลขรายได้ที่คุ้มค่าต่อการแอคชั่นหน่อย และกลุ่มยุโรปที่เป็นเป้าหมายรอง
เมื่อเราเข้าใจเรื่องนี้ เราก็จะเข้าใจในสิ่งที่เราเห็นสหรัฐพยายามทำอยู่ในขณะนี้ครับ เพราะมันเป็นเกมส์ อารมณ์ประมาณ…พี่ใหญ่บอกเฮ้ยไอ้น้อง น้องรายได้เยอะเหรอ แบ่งมาให้พี่หน่อยสิ พอดีช่วงนี้รายจ่ายพี่เยอะ ^^
แต่หากเราดูจากอัตราส่วนหนี้สาธารณะแล้วนั้น จะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ครองแชมป์ไป พูดง่ายๆ คือเป็นหนี้เกือบ 3 เท่าตัวของรายได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซามาอย่างยาวนาน เรียกว่าไม่ฟื้นแต่ไม่ทรุด ซึ่งผิดกับกรีซที่มีหนี้มากกว่า 2 เท่าตัวของรายได้ อันนี้เรียกว่าทรุดเลยทีเดียว สาเหตุที่แตกต่างจากญี่ปุ่นมาจากการบริหารประเทศเป็นหลักครับ ส่วนประเทศที่ต้องระวังๆ ต่อมาก็คือ อิตาลีกับโปรตุเกส ที่มีหนี้อยู่ประมาณ 1.5 เท่าของรายได้
ต่อมาเรามาดูอัตราส่วนตารางของทุกประเทศทั่วโลกและประเทศไทยกันดีกว่าครับ
อัตราส่วนของทุกประเทศทั่วโลก
อัตราส่วนของทุกประเทศทั่วโลก
อัตราส่วนของทุกประเทศทั่วโลก
ประเทศไทยมีหนี้คิดเป็นเปอร์เซนต์อยู่ที่ 41.80% ยังถือว่าอยู่ในอัตราส่วนที่ปกติครับ ซึ่งค่าที่ยอมรับได้ไม่ควรเกิน 60% นั่นแปลว่าเรายังสามารถมีเพดานให้เป็นหนี้เพิ่มได้อยู่ครับ
ที่ประเทศเราถือว่ามีหนี้ไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นั่นก็เป็นผลมาจากตอนวิกฤตต้มยำกุ้งที่เราได้บทเรียนมาแล้วนั่นเองครับ ทำให้นโยบายทางการเงินของประเทศเราหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ค่อนข้างที่จะรัดกุมและระมัดระวังการเป็นหนี้อยู่พอสมควร รวมไปถึงการควบคุมธนาคารในการสำรองเงินเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การนำเข้าและการส่งออก หากเราไม่เกิดวิกฤติแต่ประเทศอื่นๆ ดันเกิดวิกฤต เราก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบตามไม่มากก็น้อยเช่นกันครับ
เราได้แต่เรียนรู้เพื่อเข้าใจแล้วนำไปพัฒนา
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ท่านที่เข้ามาอ่านนะครับ
ขอบคุณครับ
ข้อมูลอ้างอิง :
โฆษณา